วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“จิตสำนึกใหม่ ในงานคุณภาพ”


“จิตสำนึกใหม่ ในงานคุณภาพ”

การสร้างจิตสำนึกใหม่ ในงานพัฒนาคุณภาพ นำเสนอแนวคิดวิธีการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในระดับรากฐานของวิธีคิดและจิตสำนึก เข้าใจความจริงของการพัฒนาคุณภาพอย่างลุ่มลึก ใคร่ครวญตรึกตรองอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต จนเกิดการประจักษ์แจ้งในใจตนเองถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตทั้งตัวบุคลากรและผู้มารับบริการ เกิดการพัฒนาคุณภาพตามบริบท นำครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ความเชื่อความศรัทธาต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมประกอบกับเสริมพลังอำนาจผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชนสามารถดูแลตนเองและชุมชนได้ จนเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้

นพ.มงคล ณ สงขลา (กรรมการบริหารสถาบันฯ)
ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา (กรรมการกำกับทิศในโครงการ SHA)
อ.ดวงสมร บุญผดุง *(รองผอ.สรพ.และผู้จัดการโครงการ SHA


วันที่ 15 ธันวาคม. 2553 เวลา 0930-1030

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สธ.เตรียมพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลยุคใหม่ทั่วประเทศ



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลยุคใหม่ทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการได้ มิ.ย.นี้ พร้อมมอบรางวัลโรงพยาบาลที่ผ่านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังมอบรางวัลผลงานการพัฒนาคุณภาพ ตามมาตรฐานบริการสาธารณสุขประจำปี 2553 โดยเป็นโรงพยาบาลที่ผ่านการคัดเลือกของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เป็นการเน้นย้ำให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปรับตัวและพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลยุคใหม่ มีความทันสมัย และบริการประทับใจเทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน

โดยเป็นการเน้นการทำงานแบบ 3 เอส คือ การพัฒนาโครงสร้างของโรงพยาบาล ปรับปรุงด้านกายภาพ ความรื่นรมย์ภูมิทัศน์ของโรงพยาบาล ให้สะอาด โดยจะเริ่มในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ เดือนมิถุนายน 2553 นี้

การพัฒนาระบบบริการมุ่งเน้นความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการ ซึ่งทุกโรงพยาบาลจะต้องมีพนักงานต้อนรับ โดยอาจมาจากบุคลากรในโรงพยาบาลหรือชมรมผู้สูงอายุในท้องถิ่น มีชุดแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เหมาะกับสภาพอากาศของไทย และเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบ และการพัฒนาระบบ เน้นการบริการจัดการแบบธรรมาภิบาล มีคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาล ประเมินผลคุณภาพของโรงพยาบาลทั้งภายในและภายนอก

ทั้งนี้ ต้องมีเกณฑ์ชี้วัดเรื่องคุณภาพที่สอดคล้องเหมาะสมสำหรับโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงานประกาศผลงานQuality Prize of The Year 2010 ได้แก่ ผลงานอุปกรณ์ยึดจับฟิล์มฟันอะคริลิค ของ รพ.ปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โรงพยาบาล คือ บ้าน อันอบอุ่น



โรงพยาบาล คือ บ้าน อันอบอุ่น Healing Environment มีโอกาสได้เรียนรู้ เรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่สรพ. ส่งเสริมให้รพ.ได้มีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เยียวยาผู้คนที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาล ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ปรับปรุงนั้น มาจากแนวคิดที่จะรับรู้ความรู้สึก ความทุกข์ ของคนไข้ การสัมผัสแสง เสียง กลิ่น รสชาติ นำมาปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เกิดความอบอุ่น ซึ่งแต่ละรพ.ได้มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย บางรพ. ส่งผลงานการจัดสวนสวยมาเลยค่ะ ปรับปรุงโครงสร้างสวยงาม แต่ดูแล้วยังไม่ตรง concept ของการเยียวยา ขอนำทฤษฎีมาฝากและมีตัวอย่างจากโรงพยาบาลมาฝากด้วยค่ะ

สรพ.ได้มีการส่งเสริมให้รพ.พัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน เช่นเรื่องของการกำจัดขยะ น้ำเสีย ระบบสำรองฉุกเฉินต่างๆ จนถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จนถึงการต่อยอดด้วย สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา

Healing Environment หมายถึงการจัดสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาลที่ทำให้ผู้ใช้สอยรู้สึกดี สบาย ผ่อนคลาย ซึ่งความรู้สึก สัมผัส ถึงความต้องการ ความทุกข์ของผู้ป่วย เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การบำบัดและเยียวยาที่ได้ผล
จากผลการศึกษา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า องค์ประกอบต่างๆ ในสภาพแวดล้อม เช่น แสง สี เสียง กลิ่น ทัศนียภาพ งานศิลปะ เสียง วัสดุและพื้นผิวต่างๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการบำบัดเยียวยาผู้ป่วย



สภาพแวดล้อมที่ดี มีผลต่อผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาและเร่งการฟื้นตัวของผู้ป่วย รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้วย ดังนั้น การจัดสภาพแวดล้อมด้วยการเลือกใช้ สี แสง พื้นผิววัสดุ และเสียง เพื่อสร้างบรรยากาศของสภาพแวดล้อมเพื่อการเยียวยานี้จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง



การจัดสภาพแวดล้อมที่เยียวยานี้ เราใช้ประสาทสัมผัส (ผัสสะ) ทั้ง 5 ของเราในการตีความ ซึ่งได้แก่ การมองเห็น-รูป Sight, การรู้รส Taste, การได้กลิ่น Smell, การได้ยิน-เสียง Hearing และการสัมผัส Touch ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเงื่อนไขทางกายภาพของผู้ใช้สอยพื้นที่ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจในเรื่องของผัสสะทั้งหลายนี้ จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่ได้ผล ซึ่งจะแยกอธิบายได้ดังนี้
การมองเห็น Sight องค์ประกอบที่ให้เรามองเห็นนั้น ได้แก่
· แสง Light แสงที่พอเหมาะ แสงธรรมชาติ แสงประดิษฐ์ หรือแสงแดด
· สี Colour สีสรรที่ใช้ประกอบอาคาร
· รูปทรง Form ลักษณะรูปทรงของวัตถุที่มองเห็น
· ทัศนียภาพ Views ภาพที่ปรากฏต่อสายตา
· งานศิลปะ The arts ซึ่งแบ่งออกเป็น
ทัศนศิลป์ Visual arts ภาพวาด จิตรกรรม ปฏิมากรรม
ศิลปการแสดง Performing arts ละคร การเล่นดนตรี
การรู้รส Taste
รสชาติของอาหารในสถานพยาบาล
การได้กลิ่น Smell
กลิ่นที่เกิดขึ้น เช่นกลิ่นยา กลิ่นน้ำยาเคมี หรือ กลิ่นดอกไม้ ฯลฯ
การได้ยิน-เสียง Hearing
เสียงจากแหล่งต่างๆมากมายในสถานพยาบาล ทั้งที่เกิดจากมนุษย์ เครื่องมือ เครื่องจักร เสียงที่เกิดจากธรรมชาติ และเสียงเพลง
การสัมผัส Touch
พื้นผิว/ความหยาบ ละเอียด ลื่น ความสะอาด
นอกจากองค์ประกอบในเรื่องของการจัดการผัสสะทั้ง 5 แล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของใจ Mind การบริหารอารมณ์ในการรับมือกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่ การรับรู้ทางใจระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแสดงออกทางอารมณ์ด้วยการกระทำ คำพูด ที่เป็นผลความรู้สึกนึกคิดของทุกๆฝ่าย ก็ดูเหมือนจะมีความสำคัญต่อการเยียวยาไม่น้อยไปกว่าผัสสะทั้ง 5 เลย



รพ.ชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ค่ะ

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น สรพ.จึงรณรงค์ให้รพ. ส่งผลงานที่เยียวยาผู้คน ในรพ.เพื่อเข้ารับรางวัลในการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ที่อิมแพค เมืองทองธานี จึงเห็นความตั้งใจของรพ.ที่จะพัฒนาเรื่องนี้ คณะกรรมการฯของสรพ.ได้คัดเลือกผลงานที่สามารถเป็นตัวอย่างได้ จำนวน 5 รพ. เพื่อเรียนรู้ ซึ่งมีทั้งรพ.เอกชนและรพ.ชุมชน คณะกรรมการของเรามีแนวทางการพิจารณา คัดเลือกและดูแนวคิดของรพ.ที่พัฒนาเรื่องนั้น วันนี้ขอนำเสนอแนวคิดของรพ.แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นรพ.เอกชน ในกทม. ที่ผ่านรอบแรกของการคัดเลือกมา แลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับรพ.ที่สนใจที่จะพัฒนาเรื่องนี้ เพราะหากพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาอย่างเข้าใจแล้ว ทำให้เรื่องกระบวนการดูแลรักษา การเข้าใจ เข้าถึงความรู้สึก ความทุกข์ ของผู้ป่วยได้รับการพัฒนามากขึ้นไปด้วยค่ะ

มีตัวอย่างจากรพ.แห่งหนึ่งค่ะ รพ.นี้ ท่านผอ.รพ.มีแนวคิดที่จะทำให้รพ.เป็นเหมือนบ้านที่อบอุ่น สมาชิกทุกคนในรพ. มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ โครงสร้างร่วมกับสถาปนิก ที่มีความคุ้นชินกับองค์กรนั้นๆ เก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จนเกิดเป็นรพ. ที่อบอุ่น เหมือนบ้าน จนทำให้ความรู้สึกรักในบ้านของตนเอง แผ่ขยายไปยังผู้รับบริการไปด้วย

คณะผู้บริหาร และบุคลากรทุกคนของโรงพยาบาล ร่วมกันสร้างบ้านหลังใหญ่หลังนี้ ให้เสร็จสมบูรณ์ขึ้น ด้วยความรัก และความเอาใจใส่ เราตั้งใจ และมุ่งมั่นที่จะให้ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการที่บ้านของเรา ได้รับการต้อนรับ และการบริการอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในโรงพยาบาล คุณจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่อบอุ่น การต้อนรับที่น่าประทับใจ ซึ่งทุกคนตระหนักถึงหลักการบริการของโรงพยาบาล ที่ว่า เราจะดูแลทุกคนที่เข้ามาหาเรา ประดุจว่า เสมือนดั่งเป็นครอบครัวของเราเอง เรามั่นใจว่า ทุกท่านจะได้รับการบริการที่ดี ตรงกับความต้องการ อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และยังได้รับความรัก ความประทับใจ เอาใจใส่จากพวกเรา กลับไปอีกด้วย



บริเวณที่ก่อสร้างรพ.แห่งนี้ เป็นบ้านของคุณพ่อท่านเจ้าของรพ. มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น มากมาย แม้จะอยู่ในเมืองหลวง ต้นไม้ใหญ่ถูกอนุรักษ์ไว้ไม่ให้ตัด แม้จำเป็นต้องสร้างตึก หรือสระน้ำ เพิ่มเติมก็ตาม ทำให้บรรยากาศของที่นี่ ร่มรื่น สดชื่น เป็นอย่างยิ่ง



วินาทีแรกที่เดินเข้าไปที่รพ.แห่งนี้ บริเวณตึกผู้ป่วยนอก ออกแบบด้วย concept ของ cowboy เสาอาคารออกแบบเหมือนถังนมวัว เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งอย่างมีสไตล์ (อันนี้ สไตล์พอลล่านะคะ) เรามีสถาปนิกไปเยี่ยมด้วยค่ะ ท่านก็คิดเหมือนกัน เราเข้าชมห้องตรวจสูตินรีเวช ที่ออกแบบให้มีต้องตรวจภายในอยู่ภายในห้องนั้น ทำให้ผุ้รับบริการไม่รู้สุกเขินอาย เมื่อต้องตรวจภายใน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องน้ำเฉพาะไม่ต้องเดินออกมาภายนอกห้อง บริเวณที่ซักประวัติมีความเป็นส่วนตัวพอสมควร แสดงถึงการเข้าใจความรู้สึกขอผู้รับบริการ แล้วนำมาร่วมกันออกแบบโครงสร้าง นอกจากนี้ ห้องตรวจเด็ก ห้องพักผู้ป่วย บริเวณทางเชื่อมล้วนแต่ออกแบบมาอย่างประณีต ใส่ใจรายละเอียด ห้องพักผู้ป่วยมีระเบียง มีสวนหย่อมให้สามารถออกมาเดินเล่นได้ด้วย

นอกจากนี้บริเวณ รพ.ยังมีสระว่ายน้ำ ห้องเรียน ดนตรี ศิลปะ ไว้บริการคนภายนอกและเจ้าหน้าที่อย่างครบวงจร เป็นการทำงานการออกแบบ ที่สอดรับกับการขยายโครงสร้างของตึกเป็นอย่างดี

ที่นำเสนอมาไม่ได้ให้รพ.อื่นๆ ลงทุนก่อสร้างแบบนี้ นะคะ อยากให้เรียนรู้วิธีคิด ของการออกแบบ การทำงาน การให้บริการผู้ป่วยด้วยความรักและความเข้าใจ จนทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาแบบนี้ค่ะ โรงพยาบาล จึงเป็นบ้านที่อบอุ่นได้

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลวิถีอิสลาม




การประชุมทางวิชาการที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือสรพ. จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา หัวข้อ “โรงพยาบาลวิถีอิสลาม : แนวทางและรูปแบบ” โดยเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ตรงของนายแพทย์มาหะมะ เมาะมูลา จากโรงพยาบาลรือเสาะ จ.นราธิวาส

"เนื่องจากในโลกของเราเป็นโลกที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในหลายๆ ความเชื่อ หลายแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป กลุ่มคนมุสลิมก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างจะมีรูปแบบเฉพาะ และพวกเขาต้องการการบริการที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต ความเชื่อของพวกเขาได้ ดังนั้น เราควรที่จะมีแนวทางในการรักษาที่สามารถตอบสนองต่อวิถีความเชื่อของเขา” นายแพทย์มาหะมะ เกริ่นนำเข้าสู่เนื้อหา

อิสลาม เป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนเขาไม่สามารถที่จะแยกศาสนาออกจากการดำรงชีวิตได้และแยกออกจากการรักษาพยาบาลก็ไม่ได้ เพราะเขาต้องใช้เวลาตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นั่นคือการละหมาด เพื่อให้อยู่ในครรลองของศาสนา ซึ่งมุสลิม ทุกคนจะต้องยึดตามแนวทางของอัลกุรอาน เพื่อการดำรงชีวิตขิงพวกเรา

สำหรับรูปแบบในการให้บริการในโรงพยาบาลทั่วๆไปนั้นเราจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยมุสลิมบางคน เมื่อเขาได้รับบริการอย่างที่เคยเป็นอยู่ทั่วๆไปถึงแม้เขาจะป่วยหนัก แต่เขาก็จะไม่ยอมเข้ารับการรักษาโดยเฉพาะผู้ที่เคร่งในศาสนา เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้เตรียมหรือตอบสนองต่อความต้องการในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาในการให้รักษาคนไข้

เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้เอื้อ หรือตอบสนองต่อความต้องการของบุคลากรเหล่านี้ได้ ดังนั้น เราจึงได้ตั้งกลุ่มหรือรวมรวบบุคลากรทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า “จิตอาสา” ในการเข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรของเรา หรือแม้แต่การขอคำแนะนำจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือการส่งบุคลากรของเราออกไปศึกษาดูงานที่ประเทศ จอร์แดน และทุกครั้งที่ได้ข้อมูลมาเราจะมีการเสนอขอความคิดเห็นหรือคำรับรองจากองค์กรกลาง อาทิเช่น คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกครั้ง เพื่อลดข้อสงสัยหรือข้อซักถามจากผู้รับบริการถึงประเด็นอันละเอียดอ่อนทางหลักปฏิบัติของศาสนา

นายแพทย์มาหะมะ กล่าวว่า โรงพยาบาลรือเสาะบูรณาการวิถีอิสลามสู่การให้บริการทางสุขภาพ โดยรูปแบบการดำเนินการเชิงนโยบายของโรงพยาบาล พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์โรงพยาบาลอย่างสอดคล้อง และมีทิศทาง ว่า

“โรงพยาบาลรือเสาะ โรงพยาบาลวิถีชุมชน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม” ซึ่ง ความเป็นวิถีชุมชนมิได้จำกัดเพียงการนำวิถีอิสลาม มาบูรณาการเท่านั้น แต่ศาสนาอื่น ๆ และผู้รับบริการต่างสัญชาติด้วย

ปัญหาประการหนึ่งที่พบคือบุคลากรทางการแพทย์กับบุคลากรทางด้านศาสนาแยกความเชี่ยวชาญตามปัจเจก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผสานองค์ความรู้เพื่อบูรณาการวิถีอิสลาม สู่การบริการ ทางสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะในมิติของอิสลาม ถือว่าอิสลาม คือ วิถีชีวิต ดังนั้น จึงไม่สามารถแยกแยะมุสลิมออกจากวิถีอิสลามได้ในทุกกรณี แม้แต่ในยามเจ็บป่วย

ข้อดีของที่โรงพยาบาลรือเสาะ คือ ตัวผู้อำนวยการเองที่เป็นผู้ที่มีความรู้ทางวิชาการด้านศาสนา มีความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจกับองค์ความรู้หลากหลายภาษา อาทิเช่น อาหรับ มาลายู ไทย และอังกฤษ



โรงพยาบาลรือเสาะ เริ่มต้นกิจกรรมจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ก่อน ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มจากสิ่งที่เป็นข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม (วาญิบ : หลักปฏิบัติภาคบังคับที่มุ
กัลลัฟ (มุสลิมผู้อยู่ในศาสนนิติภาวะ) ทุกคน ต้องปฏิบัติตาม) ในการนำองค์ความรู้อิสลามมาบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางสุขภาพ โรงพยาบาลรือเสาะ ต้องอาศัยกระบวนการสืบค้นความรู้จากแหล่งข้อมูลมากมาย หลายภาษา การบริการสุขภาพสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และหลังกลับจากพิธีฮัจย์ ซึ่งเป็นการเปิดบริการที่เพิ่มเติมกว่าการตรวจรับยา และฉีดวัคซีนปกติ

การปรับยาในเดือนรอมฎอน สอดคล้องกับวิถีชีวิต การงดเว้นนัดผู้ป่วย OPD ในเดือนรอมฎอน การใช้ปฏิทินอิสลามในการดูกำหนดนัดที่เหมาะสม จุด ER เน้น การสอนให้ผู้ป่วยกล่าวคำปฏิญาณตนต่ออัลลอฮ์ และศาสดามูฮัมหมัด ก่อนกระทำหัตถการใดๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว อาทิเช่น ก่อนฉีดยาสงบประสาทเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ไม่ว่าจำเป็นต้องช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR หรือไม่ก็ตามก็สอนทุกครั้ง เพราะอิสลามถือว่า การตายและการเป็น เป็นหน้าที่ของพระผู้เป็นเจ้า

IPD ที่เป็นจุดเด่นคือ การมีสถานที่ละหมาดสำหรับผู้ป่วยที่สามารถลุกขึ้นเดินได้ หรือคนที่ on HL การจัดทำซิงค์น้ำสำหรับอาบน้ำละหมาดแก่ผู้ป่วยแบบเคลื่อนที่ การจัดทำสื่อสารสุขภาพที่เกี่ยวกับการรับบริการในโรงพยาบาลด้วยภาษามลายู และไทย

การจัดทำสื่อสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีอิสลาม มีการดูแลผู้ป่วย AIDS ด้วยการให้ผู้ป่วยได้เตาบัต (ขอประทานอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้า) สำหรับความผิดบาปที่ผ่านมาทั้งปวงก่อนการเริ่มต้นให้ยา

โรงพยาบาลรือเสาะเริ่มต้นบูรณาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยเรียนรู้และปรับปรุงแก้ไข เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยต่อยอดทั้งองค์กร

โรงพยาบาลรือเสาะดำเนินกิจกรรมบูรณาการวิถีอิสลามสู่การให้บริการทางสุขภาพ โดยไม่ได้มุ่งเน้นในด้านคุณภาพว่าต้องเป็น HA หรืออะไรก็ตามหรือไม่แต่อย่างใด การทำคุณภาพให้สอดคล้องกับมิติทางจิตวิญญาณตามบริบทประชากรอาจเป็นคำตอบที่ดีกว่า สัมผัสได้ดีกว่า ประณีตและยั่งยืน...บนพื้นฐานงานคุณภาพ โดยหลักคิดของ สรพ.

สำหรับ Theme ปีหน้าคือ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่ระบบบริการสุขภาพที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความรักความเมตตาและความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

สรพ.แนะปรับรพ.เหมือนบ้านเพื่อการเยียวยาที่ยังยืน



สรพ.แนะสร้างบรรยากาศโรงพยาบาล ให้อบอุ่นเหมือนบ้าน เพื่อการเยียวยาผู้ป่วยที่ยั่งยืน

นายโกเมธ นาควรรณกิจ จากสถาบันรับรองคุณสภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า การเยียวยาคือการจัดการบริการสุขภาพ ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ อาทิเช่น ทางกายภาพ ทางสังคม ทางธรรมชาติ และรวมถึงสภาพภายในจิตใจ ดังนั้น สถาบันรับรองคุณสภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จึงให้ความสำคัญในจุดนี้ เพื่อผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา สามารถฟื้นฟูสภาพทางกาย และจิตใจได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดร.น.พ สกล สิงหะ จากคณะแพทย์ มอ. กล่าวว่า การฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วย นอกจากอาคารสถานที่แล้ว เรื่องโภชนาการควรให้คนไข้มีทางเลือก ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันระหว่างคนไข้กับหมอ การเสนอให้มีโต๊ะอาหารในห้องผู้ป่วย เพื่อให้ญาตินำอาหารมาทานในห้องผู้ป่วยได้ เหมือนกับอยู่ที่บ้าน จัดเวลาให้เหมาะสมในเรื่องเวลาอาหาร

นอกจากนี้ การสร้างความรักในโรงพยาบาล เท่ากับสร้างความไว้วางใจ และมอบความรักให้กับผู้ป่วย จะสร้างความผูกพันระหว่าง คนไข้ กับหมอ คนไข้ กับโรงพยาบาล

สำหรับโรงพยาบาลอบอุ่นเพื่อการเยียวยา ต้องตระหนักว่า ผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ป่วยที่ไม่นอนโรงพยาบาล จะมีความรู้สึกว่ารักษาโรคหายไปแล้ว แต่ทางจิตใจยังมีความกังวลอยู่

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการลดการเกิดอันตรายทางร่างกาย การตกแต่งโรงพยาบาลให้อบอุ่นเหมือนบ้านก็ดี อีกเรื่องคือความปลอดภัยของผู้ป่วย ถ้าทำตรงนี้ แม้แต่ญาติ ที่มาเยี่ยมผู้ป่วยก็จะเกิดความประทับใจ เกิดการเรียนรู้ สิ่งต่างๆ ที่โรงพยาบาลนำมาใช้ และก็สามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้

“ที่เราจะลืมไม่ได้คือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลต้องให้มีความสุข มีความความสะดวกปลอดภัย แล้วให้เขามีความรู้สึกว่าโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เขาทำงานเหมือนบ้านตัวเอง เราลองนึกดู เราอยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก บ้านเราจะอยู่แค่วันเสาร์ อาทิตย์ แต่ที่โรงพยาบาลหรือที่ทำงานเราอยู่ตั้ง 5 วันจันทร์ถึงศุกร์ฉะนั้น ต้องทำที่ทำงานให้มีความอบอุ่นเหมือนบ้านหลังที่สอง นี่เป็นประเด็นที่เราคาดหวังและมีความตั้งใจอย่างยิ่ง”



ด้านนายโกศล จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาสามรถฟื้นฟูสภาพทางกายและจิตใจ ได้ผลดีอย่างรวดเร็ว กล่าวว่า การจะทำให้โรงพยาบาลอบอุ่นเหมือนบ้าน นั้น เหมือนการออกแบบบ้าน บ้านจะต้องมีห้องหลายๆ ห้องประกอบกัน การจะทำโรงพยาบาลอบอุ่นเหมือนบ้านเราต้องมาตีโจทย์ว่าเวลาเรามาโรงพยาบาลแล้วมีความรู้สึกว่ามาบ้านแล้วไม่อยากกลับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอย่างมาก

“ความหมายของคำว่าเยียวยาคือการจัดบริการสุขภาพแบบองค์รวม องค์รวมคือ กาย จิต วิญญาณ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องไปด้วยกัน รวมทั้งสิ่งแวดล้อม การบริการเป็นสิ่งจำเป็นในภาพรวม แม้แต่คนไข้ ญาติคนไข้ เพื่อนฝูง อุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวก อาคารสถานที่ ระบบการดูแลผู้ป่วย และยังให้เข้ามาแบ่งปันความรู้สึกที่ดีต่อกันด้วย”

นอกจากนั้น การกรีดร้องก็ถือว่าเป็นการเยียวยาได้เพราะการกรีดร้องเป็นการระบายความรู้สึกที่เจ็บป่วยได้ ในเรื่องของผู้ป่วยที่นับถือศาสนาต่างๆ ก็สามารถนำสิ่งที่ตัวเองเคารพมาไว้ในห้องพักผู้ป่วยได้ก็จะเป็นการเยียวยาทางจิตอีกทางหนึ่งเช่นกัน

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

สสส.เปิดตัว “บัตรเดียว เที่ยวยกครัว

สสส.เปิดตัว “บัตรเดียว เที่ยวยกครัว ทัวร์พิพิธภัณฑ์รอบกรุง” รับวันสงกรานต์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มีความอบอุ่น

แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา กรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของครอบครัว ได้เปิดตัว “บัตรเดียว เที่ยวยกครัว ทัวร์พิพิธภัณฑ์รอบกรุง” HAPPY FAMILY DAY CARD สำหรับครอบครัว เพื่อเข้าชมแหล่งเรียนรู้กว่า 100 แห่งของรัฐฟรี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

รวมทั้งเป็นส่วนลดแหล่งเรียนรู้ภาคเอกชน อาทิ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ห้องสมุด สวนสาธารณะ ตลาดน้ำ และศาสนสถาน เพื่อเป็นของขวัญแก่คนไทยในช่วงวันสงกรานต์ ให้ครอบครัวมีโอกาศสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน รวมทั้งกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ให้ได้รับความรู้ประสบการณ์ตรงผ่านความอบอุ่นของครอบครัว

แพทย์หญิงชนิกา กล่าวอีกว่า “บัตรเดียว เที่ยวยกครัว ทัวร์พิพิธภัณฑ์รอบกรุง” จำนวน 30,000 ใบ โดยจะเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนนี้ ใน 6 สถานที่ คือ สถานีรถไฟหัวลำโพง, ที เค ปาร์ค เซ็นทรัลเวิร์ลด ,พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ, พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้ง จ.นครปฐม องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จ.สมุทรปราการ

สามารถดาว์โหลดเพิ่มเติมอย่างไม่จำกัดได้ที่ www.happyfamilyday.com โดยมีเงื่อนไขว่าใช้ได้กับสมาชิกในครอบครัวไม่เกิน 4 คน และตลอดปี 2553 นี้เท่านั้น

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า



ค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ที่ดำเนินการโดยกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์โรงเรียนท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองคาย เขต 1 โดยการนำของ นายณรงค์ ปริญญาพรหม หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พิสูจน์ข้อสงสัยและสร้างข้อค้นพบ ด้วยตนเองด้วยการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ อย่างสนุกสนาน แตกต่างจากการเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนอย่างสิ้นเชิง

เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จากกิจกรรมที่จัดขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว และอยากจะให้มีการเข้าค่ายเป็นระยะเวลาที่นานขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มา 3 ปีแล้ว ซึ่งใน 2 ปีแรกนั้นได้รับการสนับสนุนให้จัดปีละ 1 ครั้ง แต่ในปีการศึกษา 2551 ได้รับการสนับสนุนให้จัดปีละ 2 ครั้ง โดยแบ่งจัดภาคเรียนละ1 ครั้ง

นายณรงค์ เล่าถึงความเป็นมาของการจัดค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ว่าในปัจจุบันกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ อย่างมากมายแม้แต่กระบวนดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของตนเองรวมทั้งคนรอบข้าง ยังเป็นการเรียนรู้กระบวนการโครงงานทางวิทยาศาสตร์ไปในตัวอีกด้วย

ซึ่งมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดไว้ว่า การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นการพัฒนาผู้เรียนให้รับทั้งความรู้ กระบวนการและเจตคติ ดังนั้นผู้เรียนควรได้รับการกระตุ้นส่งเสริมให้สนใจและกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีความสงสัย เกิดคำถามในสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโลกธรรมชาติรอบตัว มีความมุ่งมั่นและมีความสุขที่จะศึกษาค้นคว้า สืบเสาะหาความรู้ เพื่อรอบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล นำไปสู่คำตอบ และยังกระตุ้นให้ผู้เรียนท้าทายกับการเผชิญสถานการณ์หรือปัญหา มีการร่วมกันคิด ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้สามารถอธิบายทำนายสิ่งต่างๆได้อย่างมีเหตุผล

การประสบผลสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความ สนใจ มุ่งมั่นที่จะสังเกต สำรวจ ตรวจสอบ สืบค้นความรู้ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นเกิดนิสัยการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง

การเรียนรู้เนื้อหาสาระที่เกี่ยวกั การสร้างเสริมสุขภาพอนามัยในด้านอาหารและโภชนาการ โรคและการป้องกันโรค และด้านสุขลักษณะและสิ่งแวดล้อมที่ดี ร่วมกับการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ พิสูจน์ข้อสงสัยและสร้างข้อค้นพบด้วยตนเองด้วยการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ช่วยส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นความสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพ อนามัยที่ดีตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เห็นปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของตนเองและบุคคลรอบข้าง และหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งหาวิธีสร้างเสริมสุขภาพของตนเองและบุคคลรอบข้างให้ดีขึ้น โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

การจัดค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ถือเป็นกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ที่สำคัญวิธีหนึ่ง ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพทุก ๆ ด้าน ที่ต้องการให้เกิดในตัวผู้เรียน ช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้จักปรับพฤติกรรมของตนเองให้เข้ากับหมู่คณะ รู้จักการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตต่อไป อีกทั้งยังสามารถเสริมสร้างกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ได้เป็นอย่างดี



สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าก็เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ด้านวิทยา ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล รักษา และเสริมสร้างสุขภาพ เพื่อให้นักเรียนที่เข้าค่ายสามารถทำโครงงานและมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า รู้จักคิดวิเคราะห์ ค้นหาคำตอบ ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและรับผิดชอบต่อ ส่วนรวม รู้จักนำความรู้ทีได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้เห็นความสำคัญของการดูแล รักษาสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง นำความรู้ที่ได้ไปเสริมสุขภาพจนเป็นนิสัย

เด็กที่เข้าค่าย นั้นจะเป็นเด็กระดับชั้น ม.ต้น รุ่นละ 120 คน ซึ่งค่าย จะจัดทั้งในโรงเรียน และนอกสถานที่ โดยจะมีครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา 20 คน เป็นผู้ดูแลนักเรียนที่เข้าค่าย อย่างใกล้ชิด ตลอดทั้ง 2 วัน 3 คืน ซึ่งก่อนการเข้าค่าย ก็จะประเมินผลโดยใช้แบบทดสอบ และหลังจากนักเรียนเข้าค่ายเสร็จก็จะมีการประเมินผล แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์

จากการเข้าค่าย ที่ผ่านมาพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนของการทำแบบทดสอบก่อนการเข้าค่าย และค่าเฉลี่ยคะแนนของการทำแบบทดสอบหลังการเข้าค่ายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

กิจกรรมที่จัดขึ้นในค่าย นั้นมีหลากหลาย ครบถ้วน เริ่มจากทำความรู้จักกับโครงการค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าและ เรียนรู้ประเภทและขั้นตอนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ กิจกรรมปฏิบัติการตามฐานความรู้ เช่น การทำโยเกิร์ต การทำไวน์ การทำแหนม การตรวจสอบโปรตีน กิจกรรมดาราศาสตร์ การปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะ การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร และกิจกรรมสำรวจสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่มีการระดมสมองด้วย



น.ส.ศิริกัญญา ศรีชมภู นักเรียนชั้น ม.3 ที่เข้าค่าย บอกว่า สนุกกับการเข้าค่าย และได้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์จากการเข้าค่ายมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่า การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์โดยการเข้าค่าย จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้มีการพิสูจน์ข้อสงสัย ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ตลอดระยะเวลา 2 วัน 3 คืน ที่มีการเข้าค่ายดูน้อยไป อยากให้มีระยะเวลาในการเข้าค่ายที่มากกว่านี้
นายวสุภาค สีลาคำ นักเรียนชั้น ม.3 ก็บอกเช่นเดียวกันว่า สนุกและได้รความรู้กับการเข้าค่ายมาก โดยเฉพาะกิจกรรมดาราศาสตร์ ที่มีการส่องกล้องดูดาวต่าง ๆ สนุกเพลิดเพลินจนเพื่อน ๆ ไม่อยากจะเข้านอนกัน จนอาจารย์ต้องมาไล่ให้เข้านอน

จากความสำเร็จของการเข้าค่ายโครงการ วิทยาศาสตร์ มีการต่อยอดส่งผลทำให้โครงงานสำรวจภาวะการเจริญเติบโตของนักเรียนโรงเรียน ท่าบ่อ ได้รับรางวัลขวัญใจนักวิจัย ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ของ สวทช. ปีการศึกษา 2551 ที่ผ่านมา และขณะนี้ได้เสนอให้ทางโรงเรียนมีการจัดเข้าค่าย ให้กับโรงเรียนข้างเคียงด้วย

ซึ่งหากมีการดำเนินการต่อไป ก็จะทำให้เด็กหนองคาย ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ อย่างสนุกสนาน และได้ความรู้ครบกระบวนการ เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนของโรงเรียนท่าบ่อ ที่ได้สัมผัสกับโอกาสดังกล่าวแล้ว

เดินตามฝันสู่ “ สุขแท้ด้วยปัญญา”



ช่วงกลางเดือนกันยายน 2552 เครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเตรียมความพร้อมโครงการ สุขแท้ด้วยปัญญา ปี 2 ณ โรงแรม เดอะ รอยัล เจมส์ ลอดจ์ 2000 จ.นครปฐม โดยนายสมศักดิ์ กานต์ภัทรพงศ์ ผู้จัดการโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เล่าว่าปีนี้มีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 56 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการก็มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป

มาดูกันว่าในบรรดาผู้ที่ได้รับคัดเลือกมาร่วมเส้นทางการสร้างสรรค์ความสุขแบบของจริง-ของแท้ ที่ไม่ต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลัก ใครมีไอเดีย มีความฝันที่จะไปสร้างสุขแท้ด้วยปัญญากันอย่างไรบ้าง



นายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และ หัวหน้าโครงการ พลังภาพยนตร์ชวนค้นคนดี กล่าวว่า จะเริ่มดำเนินการในเดือน ตุลาคม ซึ่งพร้อมกับหลายโครงการที่ได้ส่งเข้ามา กลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ,3 ,4 ของโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่

ด้วยหวังว่าการผลิตภาพยนต์สั้น ซึ่งข้อกำหนด คือ ต้องถ่ายทำจากเรื่องจริง และต้องถ่ายจากบุคคลใกล้ตัวที่เด็กๆ รู้จัก นั่นก็เพื่อถ่ายทอดให้เห็นว่าเขาผู้นั้นทำความดีอย่างไร โดยอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือชุมชนก็ได้ หัวหน้าโครงการนี้ยังหวังว่าความดีที่เด็ก ๆ ได้พบเห็นจะเป็นตัวช่วยให้เยาวชนหันมาทำความดีกันมากขึ้น ทั้งนี้การใช้ภาคทฤษฏีและปฏิบัติควบคู่กันจะทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เข้าใจได้ง่ายขึ้น ว่าการทำความดีไม่ใช่เรื่องทำยาก ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ทำแล้วมีความสุข

“ผมคิดว่าคนประพฤติดี ทั้งแบบเปิดเผย และแบบปิดทองหลังพระ ซึ่งควรได้รับคำชมเชย และกำลังใจ เพื่อให้ผลของการทำดี ขยายวงกว้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทุกคน รู้ว่าคนทำดีช่วยเหลือสังคม มีจิตอาสา จะได้รับคำชม เพราะท้ายที่สุดแล้วผมเชื่อว่าคนที่ทำความดีผลดีจะต้องตอบแทน” นาย เปรมปพัทธ กล่าว



นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ (ครูไข่) ผู้อำนวยการสำนักข่าวเด็กและเยาวชน ขบวนการตาสัปปะรด และที่ปรึกษาโครงการ ธนาคารเพื่อการแบ่งปัน (Sharing Bank) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากประสบการณ์ คือ มีเด็กยากลำบากที่อยู่ตามสถานดูแลต่างๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่อุปถัมภ์ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่พ่อแม่อุปถัมภ์มาเยี่ยม เด็กเหล่านั้นจะพยายามทำให้ตัวเองมอมแมมให้รู้สึกน่าสงสาร เพื่อจะได้สิ่งของพิเศษจากพ่อแม่อุปการะ

หลังจากนั้น ได้ทำการสำรวจว่าความต้องการที่แท้จริงของเด็กเหล่านั้นคืออะไร โดยให้เล่นเกมส์ แยกแยะระหว่าง “ความจำเป็น” กับ ”ความต้องการ” ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่มีของเหลือใช้เป็นจำนวนมาก เลยเกิดความคิดให้เด็กเหล่านั้น เรียนรู้การแบ่งปันโดยการนำสิ่งที่เหลือใช้ไปบริจาค นอกจากจะได้รู้จักการแบ่งปันแล้วยังทำให้เค้ารู้สึกมีคุณค่าด้วย

นอกจากนี้การที่เคยช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ เช่น สึนามิ นายฉัตรชัย พบว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติ ก็จะมีการส่งสิ่งของเครื่องใช้ ไปแต่กลับพบว่ามีของเหลือ เนื่องจากเกินความต้องการ กองทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนของจำเป็นกลับไม่ค่อยถูกส่งไปช่วย

“การบริจาคช่วยเหลือ ก็มีในช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่ความต้องการยังคงอยู่ ดังนั้นธนาคารเพื่อการแบ่งปัน (Sharing Bank) จะเป็นตัวจุดประกายให้คนนำของเหลือมาแลกของที่ขาด แต่การแลกเปลี่ยนต้องให้ชุมชนจัดการกันเอง ตอนนี้ธนาคารเพื่อการแบ่งปัน มีทั้งหมด 4 แห่ง โดยใช้กรุงเทพ เป็นศูนย์กลางเพื่อประสานงาน จาก 3 จังหวัดคือ จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.เชียงราย โครงการนี้จะเป็นการสร้างรากฐานสังคมให้ไม่ทอดทิ้งกัน ไว้รองรับกับวิกฤติ ที่จะเข้ามาในอนาคต” นายฉัตรชัย กล่าวในที่สุด



นายณฐกร นิยมเดชา หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษากิจกรรมเพื่อสังคม และหัวหน้าโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ สื่อสร้างสุขเพื่อน้อง ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวว่ากิจกรรมที่จะเกิดขึ้น จะจัดร่วมกับ กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสตูล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น ซึ่งเน้นการพัฒนาสถานที่รอบๆชุมชน เช่น ลานวัด/มัสยิด เป็นต้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้นใน จังหวัดสตูล ขณะนี้คือ มีประชากรช่วงแรกเกิด – 25 ปี จำนวนกว่าครึ่ง ของประชากร 200,000 คน และเยาวชนจำนวนมาก ยังตกเป็นเหยื่อสิ่งเสพติด สื่อลามกอนาจาร ที่มีวางจำหน่าย ทางด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย สามารถหาซื้อได้อย่างโจ่งแจ้ง ส่งผลให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ด้านผู้ปกครองเองก็ยังขาดความรู้ที่จะดูแลบุตรหลาน ว่าการเลือกรับสื่อที่ดีควรเป็นเช่นไร เช่นการดูทีวีที่บ้าน หากมีภาพหรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ได้มีการนั่งพูดคุยกันว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่สมควรเลียนแบบ ด้วยเหตุนี้การสร้างสื่อสำหรับเยาวชนจะทำ ให้เค้าได้สร้างสรรคกันเอง ว่าสื่อที่ดีควรเป็นอย่างไร และต้องการแบบไหน ก็ให้เค้าทำออกมา” นายณฐกร อธิบาย

นายกนก กาคำ หัวหน้าโครงการวัฒนธรรมสร้างปัญญา สร้างสุขให้ชุมชน ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เย้า (อิ้วเมี่ยน) จึงใช้ประเพณีปีใหม่เย้า(ตรุษจีน) ที่จัดเป็นประจำทุกปี มาเป็นกิจกรรมเพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะวันขึ้นปีใหม่นี้มีข้อคิดสอดแทรกอยู่ เช่น ไม่ใช้เงินในวันปีใหม่ เพราะเชื่อว่าจะไม่สามารถเก็บเงินอยู่ เป็นต้น



ส่วนเด็กๆ ต้องเดินทางไปตามบ้านของผู้สูงอายุ เพื่อทำการยกน้ำชา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเคารพ และขอขมาลาโทษที่ได้ล่วงเกิน

“เหตุที่ใช้งานปีใหม่เย้าเพราะมีความเชื่อที่ว่า หากทำความดีแล้ว จะช่วยให้ได้รับแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคลกับชีวิต และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อสังคมซึ่งเกิดจากการอยู่ร่วมกัน ทั้งในครอบครัวและชุมชน มีความรักใคร่ กลมเกลียว พร้อมทั้งส่งผลให้เยาวชนเห็นคุณค่าภูมิปัญญาตนเอง สำหรับโครงการนี้หากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ผู้นำชุมชน ครู ปราชญ์ชาวบ้าน อบต. เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายกนก กล่าว

โครงการโฆษณาสีขาว โดยพระประสงค์ วชิรญาโณ วัดป่าทับทิมนิมิต ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ อธิบายว่า พื้นที่อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ อยู่ติดกับแหล่งอบายมุขในฝั่งประเทศกัมพูชา และ ชาวบ้านในพื้นที่ มักจะข้ามชายแดนไปเสี่ยงโชค การเสพสุราและเที่ยวผู้หญิง ก่อให้เกิดปัญหาหนักในชุมชน ซึ่งจะใช้สถานีวิทยุชุมชน ที่ชาวบ้านนิยมฟัง เป็นสื่อเผยแพร่รณรงค์ ให้หลีกเลี่ยงอบายมุข โดยให้กลุ่มลูกหลาน เป็นผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์หรือ โฆษณาสีขาว เพื่อเชิญชวนพ่อแม่ญาติพี่น้องให้หันมาสร้างความสุขด้วยการทำความดีช่วยเหลือชุมชน

“อาตมาเชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้มีพลังที่จะสร้างสรรค์ จนสามารถสื่อเข้าถึงหัวใจของผู้ใหญ่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการคล้อยตาม นอกเหนือจากนี้การที่เราดึงกลุ่มเยาวชนเข้ามาร่วมโครงการ ยังเป็นอุบายที่จะทำให้พวกเขาพิจารณาเห็นโทษของอบายมุขและประโยชน์ของการทำความดีอย่างลึกซึ้งในกระบวนการผลิตโฆษณานั้นเอง” ประสงค์ กล่าว

นางพัชรินทร์ ชัยอิ่นคำ ผู้รับผิดชอบโครงการ “ไม่รวยก็สุขได้” อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันระบบทุนนิยมเข้ามาทำให้ คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น การค้าก็เน้นแต่ยอดจำหน่าย คนทั่วไปที่อยู่ในสังคมแบบนี้ก็เลยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักคุณธรรมจริยธรรม
“เราจะส่งเสริมให้เขาทำอาหารเพื่อสุขภาพทานเอง โดยใช้ผักผลไม้ที่มีในท้องถิ่น และส่งเสริมให้ดูแล

สุขภาพด้วยยาสมุนไพรไทยในชุมชน พร้อมทั้งสอนให้ทำของใช้เองภายในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เราเชื่อว่าหากเขาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว ผู้เข้าร่วมจะมีความสุขโดยที่ไม่คิดว่าต้องรวยเท่านั้นถึงจะมีความสุขได้” นางพัชรินทร์ อธิบาย

นายจิรัฏฐ์ วัชรญานิณธ์ หัวหน้ากลุ่มเม็ดดิน ฝ่ายประสานงานกิจกรรมชุมชน ผู้รับผิดชอบโครงการ ต้นกล้าปัญญา ต. ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า การสอนให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ นอกจากจะส่งผลให้เยาวชนรู้ประโยชน์ของธรรมชาติแล้ว ยังช่วยหล่อหลอมจิตใจให้อนุรักษ์ธรรมชาติได้อีกด้วย



“วิธีดำเนินเราจะ ให้ปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ทั้งส่วนที่เป็นหลักธรรมคำสอน วัฒนธรรม ประเพณี และการผลิตฝีมือหัตถกรรม เช่นการผลิตของใช้สอยในชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากจะส่งผลให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วยังทำให้รู้ว่า การพึ่งพาตัวเองจะทำให้ต้นกล้าซึ่งหมายถึงเยาวชน เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และชุมชนจะมีความเข้มแข็งได้ในที่สุด” นายจิรัฏฐ์ อธิบาย

ไม่นานนับจากนี้ ความฝัน-ความตั้งใจเหล่านี้จะถูกแปรสภาพให้เกิดผลในทางรูปธรรมได้ในที่สุด

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เพาะเมล็ดพันธุ์ปัญญา ผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง



“ท่านพุทธทาส ดำริตั้งโรงละครหรือโรงหนังเป็น Spiritual Theatre บอกว่าชีวิตมนุษย์ต้องมีส่วนหล่อเลี้ยง ร่างกายเวลาอ่อนล้าก็ต้องการนวดคลำโอ้โลม จิตใจก็ต้องมีสิ่งประเล้าประโลมให้ผ่อนคลายและพร้อมจะสู้ใหม่ ถ้าเป็นสิ่งดีงามทำให้เข้มแข็งแกร่งกล้าไปในทางที่ถูก อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย ท่านเรียกว่า Spiritual Entertainment”

น.พ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดเวทีเสวนา "ละครบนหนทางการเปลี่ยนแปลงทางปัญญาของเยาวชน" พร้อมการเปิดตัว "โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ของ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน โดยการหนุนเสริมของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปเมื่อเร็วๆนี้ที่อุทยานการเรียนรู้(TK park) เซ็นทรัลเวิร์ลดิ

เล่าเรื่องละครสะท้อนปัญญาปี 2

ทุกขภาวะของเด็กไทยในสังคมปัจจุบัน แสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ อาทิเช่น ติดเกมส์ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เสพสื่อลามกอนาจาร และฟุ้งเฟ้อไปกับกระแสสังคมบริโภคนิยม เป็นปัญหาที่มีสาเหตุปัจจัยหหลายประการ ตั้งแต่ ขาดการเอาใจใส่ดูแลที่ถูกต้องจากครอบครัว สถาบันการศึกษาที่เน้นสาระวิชาการแต่ละเลยการพัฒนาตัวตนของเยาวชน รวมทั้งขาดพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกและเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ทำให้วัยรุ่นไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เท่าทันกระแสสังคม และอ่อนแอเชิงจริยธรรม

เป็นที่มาของ “โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง : การพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนด้วยศิลปะการละคร”

การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในการแสดงออก-แสวงหาตัวตน-พัฒนาศักยภาพของเด็กไทย สร้างนักการละครรุ่นใหม่ที่สามารถผลิตสื่อบันเทิงทางปัญญาอย่างสอดคล้องกับประเด็นปัญหาสังคมชุมชน และเป็นพื้นฐานไปสู่การมีสุขภาวะที่ยั่งยืนของเยาวชนอนาคตชาติ

พฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องมาจากโครงการละครสะท้อนปัญญาปี 2552 ซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ทั้งจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผลความรับผิดชอบและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใจกว้างเปิดรับความคิดเห็นคนอื่น รวมทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม การแสดงออก การสื่อสารที่เหมาะสม ที่สำคัญคือเด็กสามารถปรับเปลี่ยนทัศนะคติในการเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น แบ่งปันให้สังคม

พฤหัส

ละครบนหนทางการเปลี่ยนแปลงทางปัญญา

น.พ.บัญชา กล่าวถึง ความสุขทางปัญญาผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงว่า เริ่มตั้งแต่สุขตามประสาเด็กที่ได้คิดได้เล่นได้แสดงออก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่การค้นพบตัวเอง และที่ดียิ่งกว่าคือเป็นประโยชน์กับตัวเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และแบ่งปันสังคม

"ละครกินพื้นที่สื่อในสังคมเยอะมาก ถ้าสามารถผสมผสานความบันเทิงกับสติปัญญาด้วยกันได้ ก็จะมีประโยชน์มาก.. โครงการนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่ร่วมโครงการ ผู้ชม สังคม ได้เปิดใจซึมซับเนื้อหา เรียนรู้เปลี่ยนทัศนะคติ เป็นปัญญาใหม่ที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนตัวเองและสังคม..."

น.พ.บัญญชา

ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือที่รู้จักในนาม “กลุ่มละครมมะขามป้อม” บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีทั้งความรู้สึกนึกคิดทัศนะคติเชิงบวก, ทางร่างกายคือความสามารถจัดการตัวเองในการแสดงออกหน้าเวที ด้านสติปัญญาคือรู้จักแก้ปัญหาฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ หลังฉาก และทางสังคมคือปัญญาที่สื่อออกไปกับเนื้อหา และสังคมยอมรับในสิ่งที่วัยรุ่นแสดงออก

"ตอนเริ่มโครงการก็ท้อๆ เพราะน้องๆ เขามีตัวอย่างภาพยนตร์ ทีวี โฆษณา ตลก และเข้าใจว่านั่นคือละครที่ควรจะเป็น คือถ้าเป็นนางร้ายก็ต้องกรี๊ดกร๊าดโวยวาย ถ้าเป็นเพศที่สามก็ต้องริษยาอาฆาตบิดตูดเป็นเลขแปด แต่พอเราทำๆ ไปแล้วคือมันได้เรียนรู้เกิดชุดความรู้ใหม่ๆ..."

ในมุมมองของนักแสดงและผู้กำกับ ศศิธร พานิชนก จากกลุ่มละคร LIFE Theatre บอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักแสดงได้ เช่น บางคนอาจชอบอยู่หลังฉากหรือเป็นโปรดิวเซอร์ แต่สิ่งหนึ่งที่กิจกรรมโครงการนี้สร้างให้เยาวชนคือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และได้ค้นพบตัวตน

"จุดง่ายๆมันอยู่ที่มีใจรักและจริงใจที่จะทำ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง พอออกมาเป็นการแสดงก็จะส่งผลไปถึงผู้ชมที่เขาสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาได้ดูอะไรที่จริงใจให้แง่คิด เป็นการสร้างทางเลือกในการชมละคร..."

"เขาและเธอที่เปลี่ยนไป" : ผลผลิตจากโครงการ

“เวทีแรกของหนูคือเสื่อ 2 ผืน กางที่ถนนคนเดิน แรกๆ เขาก็ไม่มาดูกันหรอก วันต่อๆ มาก็เริ่มมีคนถามว่าทำไมไม่ทำเวทีเลยล่ะ เริ่มมีแฟนคลับ มีรายได้จากการเปิดหมวก... จากแรกๆ อาจารย์ไม่รู้ว่าเราทำอะไรกัน ต่อมาก็ถามว่าสนใจจะเปิดชมรมละครในมหาวิทยาลัยไหม”

กาญจนา พรมกสิกร นักศึกษาจากเทคโนโลยีเชียงราย เป็นผลผลิตหนึ่งของโครงการเพื่อสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เธอบอกว่า "ดากานดาผู้ไม่เคยพอ" ที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ต้องการสะท้อนค่านิยมผิดๆ ในการบริโภควัตถุนิยมของเด็กไทย

"ในมหาวิทยาลัยมีมือถือ โน๊ตบุ๊คส์ กระเป๋าแบรนด์เนมแพงๆ ใหม่ๆ มาอวดกันตลอด พวกหนูก็มาคิดว่าทำไมวัยรุ่นสมัยนี้อยากได้อยากมีทั้งๆ ที่ตัวเองยังหาเงินไม่ได้ บางคนโกหกพ่อแม่เพื่อได้ของโชว์เพื่อน พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาไม่รู้ว่าที่ลูกอยากได้มันจำเป็นรึเปล่า จะยากจนก็ต้องหามาให้ลูก พวกหนูอยากให้วัยรุ่นที่ดูละครของเรามีความคิดเปลี่ยนไป ไม่ยึดติดวัตถุ..."

เป็นเรื่องราวเล็กๆ ของวัยรุ่นที่สะท้อนภาพใหญ่ในสังคม การยึดติดวัตถุมักนำไปสู่ความอยากได้ไม่รู้พอ และหาทางเพื่อให้ได้มา ซึ่งอาจเป็นหนทางที่ไม่ถูกต้อง จากเรื่องเล็กๆ ไปสู่ความผิดที่ร้ายแรง

นอกจากส่งผ่านปัญญาไปสู่สังคมหน้าฉากเวที กาญจนา บอกว่า ในตัวตนของเธอเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการที่หล่อหลอมในค่ายละครสะท้อนปัญญา

"แรกๆ คิดว่าเหมือนละครทีวี อยากเป็นดารา แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด… ได้เรียนรู้ว่าแสดงบนถนนคนเดิน มีคนมามุงดู ก็เป็นดาราได้ ไม่ได้กรี๊ดกร๊าดแย่งผู้ชายเหมือนในทีวี แต่เป็นการแสดงออกที่มีประโยชน์ สื่อสารให้พ่อแม่ให้สังคมเข้าใจวัยรุ่น และทำให้ตัวเองให้วัยรุ่นเข้าใจคนอื่น เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น"

3 ปีของ โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งสร้างนักการละครรุ่นเยาว์เพิ่มอีก 40 กลุ่ม ขับเคลื่อนเชิงสังคมผ่านเทศกาลละครสะท้อนปัญญาและเวทีสื่อสร้างสุขภาวะ ขับเคลื่อนนโยบายสร้างพื้นที่สาธารณะทางปัญญาของเยาวชน และขยับไปสู่หลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย



ถ้าเด็กรุ่นใหม่มีพื้นที่แสดงออกซึ่งสามารถเรียน-รู้-เล่น ผสมผสานจินตนาการ ความคิด ความบันเทิงเข้าด้วยกัน เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่นำไปสู่การค้นพบตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง แบ่งปันสังคม อนาคตสดใสก็ไม่ไกลเกินเอื้อม นี่คือความสุขผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้เริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ปัญญา

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คุยกับ “ไดเร็คเตอร์จูเนียร์”

"เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์" เด็กผู้ชายวัย 16 ปี ที่ทำหนังได้ เขียนหนังสือเป็น และความคิดไม่ธรรมดามาตั้งแต่ 11 ขวบ วันนี้เขาอยู่ชั้นมัธยม 4 สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เป็นผู้กำกับหนังสั้นกว่า 60 เรื่อง

เด็กผู้ชายวัย 16 ปี บัดนี้เป็นคอลัมนิสต์นิตยสารวิจารณ์ภาพยนตร์ ล่าสุดเป็นเจ้าของ “โครงการพลังภาพยนตร์ชวนคนค้นดี” ชักชวนเพื่อนร่วมวัยมาสร้างสรรค์ความดีผ่านการทำหนังสั้น มารู้จักความกล้าคิด-กล้าสานฝัน ในวันที่เป็นจริงในสไตล์เท่ๆของเขากัน, “ฟิล์ม” -เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์…



กว่าจะเป็นไดเร็คเตอร์จูเนียร์

พื้นความชอบเรื่องหนัง เป็นมาอย่างไร?...

.ที่บ้านชอบดูหนังมาก คุณพ่อ(ประจวบ) เป็นนักเขียนวิจารณ์หนัง คุณน้า(ธิดา)เป็น บก.นิตยสารหนัง เลยได้ดูหนังมาตั้งแต่เด็ก หนังแปลกๆ เช่น ของอากิระ คุโรซาว่า และทั้งหนังกระแสหลัก หนังอาร์ต..

หนังและผู้กำกับในดวงใจ มีเรื่องอะไร และใครบ้าง?..

..ทุกเรื่องที่ดูแล้วชอบมันมีอิทธิพล แต่ถ้าให้พูดตอนนี้ชอบทุกเรื่องของ ทาเคชิ คิตาโน่ เขาทำหนังในประเทศแล้วเจ๊งแต่ได้รางวัลนอกประเทศ เป็นหนังสะท้อนความรุนแรงในญี่ปุ่น ชอบที่สุดเรื่อง Hanabu

.ชอบทุกเรื่องของหว่อง กาไว ไบโอสโคปให้นิยามว่า “เดียวดายอย่างโรแมนติก” และเขาทำงานร่วมกับผู้กำกับภาพ เรื่องที่ชอบมากที่สุดคือ In The Mood for Love

..Casablancaเป็นหนังบทดีที่สุดในโลก ชอบทั้งบท อารมณ์หนัง เพลง นักแสดง คือจะเป็นพระเอกในยุคแอนตี้ฮีโร่(ไม่ต้องหล่อ) ซึ่งมันใกล้กับชีวิตจริงของคน

.. ชอบสไตล์หนังเนิบๆของพี่เจ้ย(อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) อย่างถ้าพูดว่าทุกคนมีความเป็นสัตว์ประหลาดอยู่ในตัวมันก็ธรรมดา แต่เขามีภาษาภาพและการเล่าเรื่องที่ทำให้เราฝังในใจได้

..แฟนฉัน ชอบความใสและจบธรรมดาแต่สวย เป็นเรื่องแรกที่ผู้กำกับไทย 6 คนทำงานร่วมกัน

หนังให้อะไรกับตัวเอง และให้อะไรกับคนดูบ้าง?...

..ผมคิดว่าหนังสอนให้คนเข้าใจโลกความจริงมากขึ้น และไม่เห็นด้วยกับคนที่พูดว่าอ่านหนังสือดีกว่าเพราะมีจินตนาการ แต่หนังตกผลึกให้แล้ว มีหนังหลายประเภทให้เราตกผลึกเอง แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับคนดูหนังนอกกระแสแล้วมาต่อต้านหนังกระแสหลัก การที่เรารับศิลปะมากขึ้นมันทำให้เราใจกว้างขึ้น

..ผมชอบหนังที่ดูแล้วเกิดจินตนาการ อย่างเรื่องท้ายๆของคุโรซาว่า Dream ฉากเด็กไปดูระบำหมาป่า แล้วแม่ไม่ให้เข้าบ้าน เขาใช้ภาษาภาพเล่นกับความรู้สึกคนดู คือประตูสีเทาและบานที่เด็กยืนอยู่เล็กกว่าบานของแม่ หรือ อวตาร ของเจมส์ คาเมร่อน ทำให้เราอยากติดตามชีวิตของไอ้ตัวสีฟ้าๆ น่าเกลียดๆนั่นได้

กิจกรรมเกี่ยวกับหนังเรียกว่าเป็นงานอดิเรกได้ไหม เริ่มจากตรงไหน อย่างไร?..

..ก็น่าจะได้ ผมดูหนังและอ่านหนังสือเยอะ แต่แรกๆไม่คิดว่าตัวเองจะทำหนัง 6 ปีที่แล้ว มันยากมากที่เด็กคนหนึ่งจะมาจับกล้อง..คุณหมออดิศักดิ์(คุณอา) ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาฯ อยากจะเอาหนังสั้นมาเป็นสื่อ ผมเลยบังเอิญได้ไปอบรมทำหนังกับ Thai Shot Film แล้วรู้สึกว่าตัวเองชอบ

..ได้ลองทำเรื่องแรกคือ “แค่” จากนั้นก็เรียนรู้ประวัติศาสตร์หนังบ้าง ไปเทศกาลหนังบ้าง ใครถามอะไรเกี่ยวกับหนังตอบได้หมด รู้สึกว่าตัวเองแปลกๆ แล้วก็รู้สึกว่าเออหนังมันใช่ ก็เริ่มสะสมมาเรื่อยๆ

.งานเขียนเริ่มจากนิตยสาร Cream(ปิดไปแล้ว)ชวนเด็กรุ่นใหม่มาเขียน ทำคอลัมน์ชวนวัยรุ่นเข้าโรง วิจารณ์เรื่องแรก SinCity เขาบอกว่าหนังรุนแรงเลยเปลี่ยนเป็นพิงค์แพนเตอร์.. ต่อมาฟิ้ว(ในเครือไบโอสโคป)ก็ชวนไปทำงาน เขียนคอลัมน์จับตา สัมภาษณ์เด็กๆที่ทำหนัง ซึ่งทำให้เรามีสังคมเด็กทำหนัง

ครอบครัวมีส่วนต่อความคิดและมุมมองในวันนี้แค่ไหน?..

.มีส่วนมากครับ ผมคุยกับคุณพ่อทุกเรื่องแม้แต่เรื่องแฟน อาจไม่เข้าใจทุกเรื่องเพราะมีช่องว่างระหว่างวัย แต่มันปลอดภัย ครอบครัวค่อนข้างให้อิสระ เช่น ไปไหนมาไหนก็ได้ กลับดึกได้ถ้าจำเป็น และคุณพ่อคุณแม่ก็มีอิทธิพลต่อความคิดคือให้มองโลกหลายๆด้าน อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าตรงนี้ถูกโน้นผิด




ความคิดเท่ๆผ่านหนังสั้น

ก้าวแรกบนเส้นทางหนังสั้นของฟิล์ม คือ “แค่” สะท้อนพฤติกรรมการเล่นที่ไม่ถูกต้องในวันสงกรานต์ เรื่องนี้เขาทำหน้าที่เป็น Art Director จัดองค์ประกอบศิลป์ ตามมาด้วย “ที่แท้” หนังกำกับเองเรื่องแรก ได้รางวัล “จูเนียร์ยอดแย่” ที่เขาภาคภูมิใจ และ6 เดือนต่อมาก็เป็นทั้งนักแสดงและฝ่ายศิลป์ในเรื่อง “สิ่งสุดท้าย” สะท้อนความรุนแรงในครอบครัว

“..ปิดเทอมเปิดอินเตอร์เน็ตเจอประกวดหนังยอดแย่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คอนเซ็ปต์คือหนังบ้านๆไม่ต้องมีเทคนิคมากมาย แค่อยากทำก็ถือกล้องทำได้ ผมก็เลยได้กำกับเรื่องแรก ไม่กล้าเรียกมันว่าหนัง คิดอะไรออกก็ใส่ไปรวมๆกัน เรื่องคนที่ทำกระเป๋าตังค์หาย กระต่ายกับเต่า คุณพ่อสอนกินถั่วปากอ้า”

เรื่องที่สอง “ก้อเหมือนเดิม” ทำหน้าที่ทั้งกำกับ เขียนบท ถ่ายภาพ ตัดต่อ มีดาราเป็นคุณพ่อ-น้องชาย-น้องสาว ผู้กำกับฟิล์มต้องการนำเสนอถึงความห่างเหินในครอบครัวซึ่งเป็นความน่ากลัวของสังคมสมัยใหม่ และได้ติด 1 ใน 9 จาก 300 เรื่องในโครงการประกวดของมูลนิธิหนังไทยปี 2549 แต่ต่อมาได้รางวัล Special Jury Prize จากโครงการ Movie Mania จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เรื่องนี้เป็นหนังแจ้งเกิด คือได้ไปออกหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทีวีไทย ทีวีออสเตรเลีย เป็นหนังเนิบๆ เกี่ยวกับน้องชายที่อยากไปทะเล แต่คุณแม่ไม่มีเวลา ในหนังจะไม่เห็นแม่เลย แต่รู้ว่าแม่มีตัวตน..”

“เบื้องหลังคนดี 13 ปีที่ผ่านมา” ด้วยคำถามสั้นๆว่า “ตั้งแต่เกิดมาเคยตื่นก่อนพ่อมั้ย?” ทำให้ฟิล์มยกกล้องขึ้นมาถ่ายกิจวัตรประจำวันคุณพ่อประจวบ หนังสั้นที่ถ่ายทำ ตัดต่อ และสื่อง่ายๆถ่ายทอดเรื่องราวคนดีใกล้ตัวของเด็กวัย 13 ไม่มีฉากเศร้าแต่เรียกน้ำตาและคว้าเงินแสนจาก wellcom mobile

“มีโครงการแผนที่ความดีที่ สสส.ทำร่วมกับนิตยสารไบโอสโคป ตอนนั้นเราเด็กๆอยากได้รางวัล แต่ถูกตัดสิทธิ์ตั้งแต่นามสกุลเดียวกับเจ้าของนิตยสาร(คุณน้าธิดา) แต่ก็ยังทำ มันเป็นฉากธรรมดามาก คุณพ่อตื่นมาเข้าห้องน้ำ เอาถาดรองจานเทน้ำทิ้ง ทำแซนด์วิชเละๆ ผมใช้เพลงประกอบ Bridge Over Trouble Water (สะพานข้ามแม่น้ำที่ยากลำบาก) สุดท้ายก็จบที่ภาพคุณพ่อพาเด็กๆไปส่งโรงเรียน ผมแพนกล้องขึ้นไปเป็นท้องฟ้า เปิดเพลง Top of the World แล้วก็มีนกบินมาสองตัวพอดี.. เป็นหนังทำเองที่ผมภูมิใจที่สุด”

“เพียงสัญญา” อุปสรรคย่อมเกิดขึ้นเสมอสำหรับทุกคนที่มีความรัก แต่จะเลือกหนทางใดก็ขอให้แน่วแน่ที่จะรัก เป็นผลงานรักแฟนตาซี ฉายรอบปฐมทัศน์ที่ทีเคพาร์ค เซ็นทรัลเวิลด์ ไปเมื่อ 23 มิ.ย. 2552

และ“ดอกไม้และผีเสื้อ” ผลงานล่าสุดที่ร่วมฉายในโครงการพลังภาพยนตร์ชวนคนค้นดี สะท้อนสิทธิสตรีมีคอนเซ็ปต์ว่า “การทำผู้หญิงปวดใจ คือยิ่งกว่าการทำทารุณ” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการตีความพระอภัยมณี ในห้องเรียนวิชาวรรณคดีไทย คุณพ่อช่วยเกลาบทให้เป็นหนังเชิงรณรงค์มากขึ้น

"พระอภัยมณีมีนางผีเสื้อสมุทรอยู่แล้ว แต่ก็หนีไปอยู่กับนางเงือก ซึ่งถ้าตัดความเป็นยักษ์ไป ผีเสื้อสมุทรก็เป็นแม่เป็นภรรยาที่ดี แต่หนังเรื่องนี้ดูยังไงก็ไม่เกี่ยวกับพระอภัยมณีเลย มันเป็นโครงเรื่องว่าถ้าคุณมีแฟนอยู่แล้ว มีพันธนาการบางอย่างกับเขา ก็ไม่ควรไปมีคนใหม่ นำเสนอเป็นแนวรักของวัยรุ่น 3-4 คน..”



“กล้าคิด-กล้าสานฝัน” คือคำตอบของความสำเร็จ

นอกจากยังคงเป็นผู้กำกับหนังสั้นอย่างไม่หยุดหย่อน หาประสบการณ์ในงานที่ตนรักอย่างไม่รู้จักเบื่อ ปัจจุบันเปรมปพัทธ เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารหนังฟิ้ว และเว็บไซต์ www.25-frame.com , ทำรายการทีวีออนแอร์ทาง Youtube, มีชมรม “มาทำหนังกันเถอะ”ในโรงเรียน และล่าสุดทำโครงการ “พลังภาพยนตร์ชวนคนค้นดี” ของเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ชักชวนเพื่อนๆสรรหาเรื่องราวคนดีใกล้ตัวมาถ่ายทอดผ่านหนังสั้น…

“สื่อนั้นเป็นที่นิยมมาก และหากพูดถึงสื่อในโลกวันนี้ หนังสั้นเป็นน้องใหม่มาแรงที่เข้าถึงคนทั่วไป

ทางอินเตอร์เน็ต ทีวี ไอพอด มือถือ และหลากหลายวัฒนธรรม.. จึงเขียนโครงการเข้าไปได้ทุนมาจัดอบรมหนังสั้นฟรี พร้อมแจกทุนผลิตสื่อหนังสั้น ด้วยแก่นสารที่ว่า “ความดีเล็กๆนั้น เมื่อหลอมรวมกับสื่อหนังสั้นอันทรงอิทธิพล ก็ย่อมได้ประโยชน์ที่มีค่ามหาศาลตามมา”

เขายังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไดเร็คเตอร์จูเนียร์…

“6 ปีที่แล้วมีเรายืนอยู่คนเดียว มันเหงา แต่ทุกวันนี้มีเด็กทำหนังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผมดีใจที่เกิดสังคมคนทำหนังเด็ก..อย่างกลุ่มไดเร็คเตอร์จูเนียร์ที่ตั้งโดยเจมส์(ปรัชญา เพชรวิสิทธิ์) ตอนนี้เราก็คุยกันว่าจะทำให้เป็นชมรมเด็กสร้างหนัง เพราะคนทำหนังไม่ใช่แค่ผู้กำกับ ยังมีนักแสดง คนเขียนดอลลี่ ช่างไฟ ฯลฯ..”

ไม่แปลกที่เด็กผู้ชาย “ชื่อฟิล์ม” หรือ “เปรมปพัทธ จูเนียร์” ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวคนรักหนังและหนังสือ จะได้สายพันธุ์ความชอบไปในทิศทางเดียวกัน แต่หากเขาไม่ “กล้าคิด-กล้าสานฝัน” และก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ใจรัก ก็คงไม่ใช่ผู้กำกับหนังสั้นที่อายุน้อยที่สุดในวัย 12 และจนวันนี้ในวัย 16 กำกับหนังสั้นมาแล้ว 60 กว่าเรื่อง ความคิดเท่ๆที่ “เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์” ถ่ายทอดคือคำตอบ!...

“ผมคิดว่าคนเราควรจะลองอะไรหลายๆอย่าง อยากทำอะไรก็กล้าๆทำ ถ้าไม่ไปกระทบกระเทือนจิตใจใคร แต่ก่อนลองควรศึกษามันให้รอบคอบก่อน ถ้าลองแล้วไม่ใช่ตัวเราก็ปล่อยไป ไปหาสิ่งที่เป็นตัวเราดีกว่า..สำหรับผม หนังให้ความสุข คือถ้าไม่มีความสุขก็คงไม่ทำ” .