วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552

‘ค่ายอาสา’งานสร้างคน ที่ยังไม่ตกเทรนด์

อาจไม่น่าสนใจ เลยไปถึง‘เชย'ด้วยซ้ำ หากคนหนุ่มสาวยุคนี้จะยังเชื่อกันว่า ‘การออกค่าย’ เป็นกิจกรรมสร้างประโยชน์ให้กับพวกเขาและสังคม ควรค่าแก่การอุทิศเวลาเพื่อใช้ไปในวันว่าง

ถึงเช่นนั้น มีคนหนุ่มสาวอีกไม่น้อยที่ยังสนใจในกิจกรรมในรูปแบบนี้ อาจด้วยพวกเขาและเธอเชื่อร่วมกันว่า แม้จะผ่านไปกี่ยุคสมัย 'ค่าย'ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญสุดคลาสสิกสำหรับสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนได้ดีอยู่เสมอ



เหมือนอย่างที่ 'จักษ์' ประจักษ์ น้อยเหนื่อย นิสิตนักกิจกรรม ว่าที่ครูหนุ่ม จากรั้วมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เล่าความเชื่อแบบคมๆและน่าสนใจว่า การออกค่ายคือหน้าต่างบานหนึ่งที่เปิดโลกทัศน์และสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ชีวิต เพราะทุกคนต่างรู้กันดีว่าประสบการณ์ที่ได้มานี้ไม่เคยมีขายที่ใด ดังนั้นใครอยากได้ต้องเดินเข้าไปคลุกคลีด้วยตัวเอง ซึ่งนี่คือสาเหตุที่เมื่อ 'ค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ' ย้อนรอยครูโกมล โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง ถูกสร้างขึ้น เขาย่อมพาตัวเองไปเป็นชาวค่ายอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

อาจเพราะภาพลักษณ์เก่าๆของการออกค่าย มักหยุดแค่เพียงการสร้างวัตถุ ที่รอวันผุกร่อนไปตามเวลาเท่านั้น เมื่อค่ายอาสาพัฒนาฯได้ถูกเริ่มขึ้น โจทย์แรกที่วางไว้ควบคู่กับการศึกษาในประเด็นต่างๆคือการสลัดคราบภาพแสนเก่าดั่งที่ว่านี้

วีรินทร์วดี สุนทรหงส์ (ติ๊ก) ผู้จัดการโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ อธิบายที่มาและจุดประสงค์ของกิจกรรมให้ชวนขบคิดว่า การออกค่ายในอดีตมักมีเป้าหมายที่การสร้างวัตถุต่างๆให้กับชนบทเช่น การสร้างโรงเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วม ซึ่งเยาวชนที่ผ่านกิจกรรมอาจจะรู้สึกมีความสุขจากการให้และชุมชนก็อาจได้รับประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างที่ได้มา แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้ก็รอวันเสื่อมไปตามกาลเวลา เมื่อมองย้อนกลับไปจะรู้สึกได้ว่ามันแทบไม่มีคุณค่าอะไรหลงเหลืออยู่เลย เป็นเรื่องยากที่จะตอบให้ได้ว่าเมื่อเยาวชนได้ผ่านกิจกรรมไปแล้วเกิดกระบวนการเรียนรู้อะไรบ้าง ชุมชนได้อะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อจะสร้างค่ายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งจึงควรจะยึดแนวทางที่สามารถปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้เกิดกับผู้ร่วมกิจกรรม คงอยู่คู่ติดตัวได้ไปตลอด




เดิมทีนั้นค่ายอาสาพัฒนาฯเคยถูกริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี49 และได้รับกระแสตอบรับที่ดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมทั้งหมดจะเริ่มในช่วงปิดเทอมทั้งสองภาค ซึ่งก่อนจะถึงจุดเริ่มต้นครั้งต่อไปในตุลาคมนี้ มูลนิธิโกมลคีมทอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้อบรมกลุ่มนำร่องผู้นำค่าย โดยการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่สนใจ ประมาณ60คน เพื่อเข้าร่วมพัฒนาองค์ความรู้และสร้างทัศนคติการจัดค่ายแบบใหม่นี้ก่อนไปต่อยอดในสถาบันของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง โดยล่าสุดได้จัดไปเมื่อ12-15สิงหาคม ที่ผ่านมานี้นี่เอง

สำหรับกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกถ่ายทอดให้กับแกนนำกลุ่มนี้ได้ถูกสอดแทรกผ่านเนื้อหาอื่นๆที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของวัยรุ่น อาทิ การสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของการทำงานค่ายอาสาที่ปราศจากเหล้า บุหรี่ การเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชน ด้วยการให้เยาวชนมีโอกาสพักร่วมกับชาวบ้านใน ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม รวมถึงการนำองค์ความรู้ ที่ทันต่อสถานการณ์อย่างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมในบทเรียนครั้งนี้ด้วย

เปรมฤดี มิตรชื่น (ตุ๊ก) บัณฑิตใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเล่าถึงประสบการณ์ภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ว่า สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือการลงไปสัมผัสกับวิถีชีวิตจริงๆของชาวบ้าน ทำให้ได้เห็นมุมมองที่มีต่อวิถีชีวิตประจำวัน ต่อปัญหาที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป เพราะแต่ละชุมชนย่อมมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป มีวิธีการมองและแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน

เธอ ยกตัวอย่างกรณีของบ้านที่ไปร่วมพักอาศัยว่า แม้จะไม่ใช่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญนัก แต่ปัญหาที่ครอบครัวบุญธรรมของเธอได้พบคือการไม่มีที่ดินทำกิน และสาเหตุที่ทางการอ้างกับชาวบ้านนั่นคือ การที่พ่อแม่บุญธรรมของเธอไปรุกล้ำทำกินในพื้นที่ของรัฐนั้นเอง

"ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ชาวบ้านยืนยันว่าพวกเขาทำมาหากินในที่ตรงนั้นมานานแล้ว แต่วันหนึ่งทางการก็มาไล่เพราะอ้างว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นเขตของรัฐ จากที่เคยเสียค่าเช่าที่กับระบบสหกรณ์ชุมชนในราคาถูก ก็ต้องเสียให้กับกรมธนารักษ์ในราคาที่สูงขึ้น เป็นที่มาของหนี้สิน เพราะรายได้ไม่พอกับต้นทุนที่ต้องเสียไป"

'ตุ๊ก' บอกว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ยินคำว่า 'ปฏิรูปที่ดิน'หรือ'ขบวนชาวบ้าน'ไปกระทั่ง'โฉนดชุมชน'ขึ้นมา ตลอดเวลาที่นั่งฟังครอบครัวของเธอพูดคุยกัน เช่นเดียวกับการเปิดมุมมองในเรื่อง สวัสดิการชุมชน บัญชีครัวเรือน ซึ่งทั้งหมดเป็นวิธีการที่ชาวบ้านพยายามจะเรียนรู้เพื่อใช้แก่ปัญหา



ไม่ต่างจาก 'จักษ์' ที่บอกในทำนองเดียวกันว่า ในแต่ละชุมชนจะมองปัญหาไม่เหมือนกัน บางวิธีเราอาจไม่เคยได้เรียนในตำราแต่อาจเป็นวิธีที่คนในชุมชนนั้นคิดขึ้นเองและเลือกใช้เป็นทางแก้ปัญหาของตัวเอง

ว่าที่ครูหนุ่ม ที่เอ่ยปากว่า มักใช้วิธีการสอนหนังสือให้เด็ก เพื่อเบิกทางจากเด็กไปสู่การได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านยังบอกอีกว่า การมาร่วมอบรมในครั้งนี้เสมือนเป็นการเปลี่ยนทัศนคติของเขาเกี่ยวกับการออกค่ายเลยก็ว่าได้ จากที่เคยคิดว่า การมาออกค่ายคือการที่คนต่างถิ่น ที่มีการศึกษามากกว่าชาวบ้านมักเป็นฝ่าย’ให้’ หากแต่การมาครั้งนี้เขาเองต่างหากที่เป็นฝ่าย ’รับ’ กลับออกไป การศึกษาในระบบที่คนส่วนใหญ่ยึดมั่นถือมั่น เอาเข้าจริงมันกลับใช้แก้ปัญหากับทุกเรื่องไม่ได้ ความพยายามเชื่อมโยงข้อดีของแต่ละส่วน มาอยู่ร่วมกันเป็นพลังของชุมชนน่าจะเข้าท่ากว่าด้วยซ้ำ

"แต่ผมก็มีประโยชน์เหมือนกันนะ ผมก็แนะนำพ่อบุญธรรมไปในเรื่องของการดูแลสุขภาพ บอกเขาว่าอย่ากินเหล้ามากเพราะมันจะเป็นโทษอย่างไร มีเวลาก็สอนหนังสือให้กับเด็กๆที่นั่น" ’จักษ์’ พูดพลางหัวเราะกับความสุขจากประสบการณ์ใหม่

เหนืออื่นใด เกือบทั้งหมดของผู้ร่วมกิจกรรมต่างมองเห็นคล้ายกันว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากของกิจกรรมนี้คือ การที่พวกเขาได้มารู้จักและแลกเปลี่ยนระหว่างกันกับเพื่อนต่างสถาบัน ทำให้เห็นความคิด เห็นแนวทางของแต่ละคนโดยมีจุดร่วมกันตรงที่ทั้งหมดอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรหัวใจนักกิจกรรมคนหนุ่มสาวเหล่านี้ยังมองว่าการทำค่ายซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาสมาชิกไปมองเห็นชีวิตจริงภายนอกยังคงเป็นวิธีเรียนรู้หนึ่งที่สร้างประโยชน์

แต่ค่ายที่ทำขึ้นต่อจากนี้ต้องไม่ใช่ค่ายที่เน้นที่การสร้างวัตถุแล้วจบไปในค่ายเดียวแน่นอน ค่ายที่ทำต้องเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสุข ทั้งสุขทางกาย สุขทางใจ ให้เป็นค่ายที่ต่างคนต่างเข้าใจและพยายามจะเรียนรู้ ปรับตัวอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น รู้จักเอื้อเฟื้อ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ" ทั้ง 'จักษ์' และ 'ตุ๊ก' ลงความเห็นถึงแนวทางการสร้างค่ายแห่งความสุข โดยไม่มีเงื่อนไขของวัตถุมาบดบัง