วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

"มะขามป้อม"รวมพล ส่งความสุขทางจิตวิญญาณผ่านละคร

สุขภาวะทางปัญญา ซึ่งหมายถึง ความสุขทางกาย ความสุขทางสังคม ความสุขใจ โดยเรื่องจิตวิญญาณ ในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะ "สื่อ" ถึงคนในสังคมได้อย่างไร ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเล็งเห็นว่า "คนรุ่นใหม่" น่าจะเป็นกลุ่มผู้สื่อสารกับชุมชน มหาวิทยาลัย ได้ดีที่สุด จึงมอบด้านดนตรี ให้ "กลุ่มสลึง" ส่วนละคร "กลุ่มมะขามป้อม" รับมาดำเนินการ

พฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการละครสะท้อนปัญญา กลุ่มมะขามป้อม เล่าถึงโครงการนี้ว่า ประเด็นที่เรารับโจทก์มาก็คือ คัดเลือกเด็กมหาวิทยาลัย ที่สนใจงานละคร มาฝึกฝน โดยกลุ่มมะขามป้อม จะเป็นพี่เลี้ยงในการผลิตละคร จากนั้นนักศึกษาจะนำกลับไปสื่อสาร เพื่อสร้างสุขภาวะทางปัญหา ให้กับชุมชน หรือมหาวิทยาลัย โดยเนื้อหาละครเป็นมุมมองที่เด็กมีต่อสังคม เด็กเป็นคนเขียนบท เป็นมุมมองของเด็กที่มีต่อสังคม ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง การสอบ เรื่องครอบครัว รวมถึงเรื่องการเมือง เรื่องเพศ



"สำหรับกลุ่มมะขามป้อม ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่รับงานชิ้นนี้มาทำ เป็นการนำร่องเพื่อที่จะหาโมเดล ให้ลงตัว และถ้าประสบผลสำเร็จเราจะขยายโครงการออกไปทั่วประเทศ แต่ในเบื้องต้นเราเลือกนิสิต นักศึกษาจาก 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และตะวันออก และกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 30 กลุ่ม"

พฤหัส เลาต่อว่า จากที่ได้นำเด็กมาเข้าค่ายละคร มีบางเรื่องที่เปลี่ยนเนื้อหาระหว่างทาง คือเขียนบทเข้ามาตอนแรกเด็กไม่มีความรู้ เราจึงมาขัดเกลามาดูว่าโครงเรื่องอ่อนไปไหม สารที่จะสื่อไปสู่ผู้ชมได้ครบไหม แต่มีบางเรื่องที่พัฒนารายละเอียดต่อยอดไป

ส่วนการประเมินความสำเร็จ เราไม่ได้ดูที่เนื้อเรื่องว่าดีไหม บทละครเด่นไหม แต่เราจะดูกระบวนการทำงาน ความร่วมมือของทีมงานเป็นอย่างไร เพราะละครสุขภาวะทางปัญญา ผู้ผลิตซึ่งเป็นเด็กที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย รู้จักการแสดงออกผ่านตัวละคร มีความเข้าใจโลก เข้าใจคนอื่น สามารถทำงานร่วมกัน อาจจะถกเถียงหรือทะเลาะกัน แต่ต้องทำงานร่วมกัน เป็นกระบวนการทางปัญญา กระบวนการผลิต ให้คะแนนถึงครึ่งหนึ่งจากคะแนนเต็ม

ทั้งนี้ บางกลุ่ม ทำเรื่องมาดีมาก แต่เบื้องหลังมีการตบตีกัน อย่างนี้เราก็ให้ผ่านไม่ได้ ขณะที่เนื้อเรื่อง สาระ ก็ต้องใช้ได้ สื่อสารชัดเจน น่าสนใจ คนดูเกิดความคิด เกิดแรงบันดาลใจ อ้นนี้เป็นหน้าที่ของศิลปะอยู่แล้ว



พฤหัส เล่าว่า จากละครที่เสนอเข้ามา เนื้อเรื่องหลากหลายมาก โดยรวมแล้วแนวคิดของเด็กจากการประเมินเนื้อหา ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเยาวชนไทยนะ เพราะโลกทัศน์แคบ คิดแต่เรื่องตัวเอง เรื่องแฟน เรื่องโทรศัพท์มือถือ เพราะโดนตีกรอบโดยระบบการศึกษาไทย ไม่ให้เด็กออกไปจากความจริง ที่นอกเหนือไปจากรั้วมหาวิทยาลัย ยังมีเรื่องบ้าน หรือชุมชนรอบบ้าน ถ้าพวกเขากล้าก้าวออกไป เขาจะได้พบในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ขณะที่สื่อโทรทัศน์ก็พึ่งไม่ได้ กลายเป็นสื่อที่จำกัดโลกทัศน์ของเด็กไป

ดังนั้น เราอยากขยายกรอบคิดพวกเขาให้มากขึ้น ในเนื้อเรื่องของละคร จะต้องมีตัวเขา มีพ่อ มีแม่ มีครอบครัว มีเพื่อน มีเรื่องในมหาวิทยาลัย มีบ้านที่ขยับออกไปจากรั้วบ้าน ละครเรื่องหนึ่งของเด็กอุตรดิตถ์ เขานำวิจัยชาวบ้าน ซึ่งวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเด็กเขาสนใจเรื่องเพลงคล้องช้าง เอาเรื่องมาเป็นประเด็น สื่อให้เห็นวัฒนธรรมดั้งเดิมว่าทำไมเรามีวัฒนธรรมที่ดี แต่เด็กหลงลืมวัฒนธรรมเก่า ไปเห่อวัฒนธรรมใหม่

"บางกลุ่มนำเสนอเรื่องความเครียด เรื่องการเรียน บางกลุ่มเครียดเรื่องการสอบ เรื่องความสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศ แต่เมื่อเด็กมาเข้าค่ายละครกับเรา พวกเขาได้เปลี่ยนพฤติกรรม ความเข้าใจที่มีต่อละครซึ่งเดิมผิดทั้งหมด เพราะดูจากละครทีวี คิดเอาว่าละครจะต้องเสแสร้ง อันนี้ต้องแก้ ส่วนบทละคร เนื่องจากเด็กไม่มีแก่นความคิด ต้องสร้างให้เขามีวิวัฒนาการ สามารถเปลี่ยนแปลงไปชัดเจน แค่เป็นภาพที่เราเห็นไม่ได้คาดหมายอะไร ดูจากความเป็นจริง ณ ขณะนั้น"

ส่วนข้อเปรียบเทียบระหว่างเด็กในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเห็นทางเลือกเยอะกว่าก็จะมีเนื้อหาที่หลากหลาย แต่จะไม่ลึก เด็กม.บูรพา กรอบของเรื่องนั้นแคบ แต่พอเขาได้รับคำแนะนำ เขารับได้เร็ว และไปต่อได้เร็ว เช่นเดียวกับเด็ก เชียงใหม่



หัวหน้าโครงการฯ ลำดับถึงขั้นตอนให้ฟังว่า โจทก์ที่ให้กับเด็กๆ คือเมื่อได้ละครเรื่องหนึ่งแล้ว ให้แสดงระหว่างเพื่อนในมหาวิทยาลัย และจัดในระดับภูมิภาคเล่นในภาคเดียวกันเพื่อเด็กจะได้แลกเปลี่ยนงานกัน จากนั้นเลือกเอาจาก 30 เรื่อง ที่แข็งแรงในด้านกระบวนการ วิธีการ มาจัดรวมกันเป็นละครยอดเยี่ยม อีกครั้งในส่วนกลาง คำว่ายอดเยี่ยม คือยอดเยี่ยมแบบสมัครเล่นนะ

สำหรับเด็ก มันเป็นโอกาสบางคนที่อยากทำละครมานาน แต่ไม่เคยมีโอกาส สสส. จัดการทุกอย่าง ส่วนคนที่ดูแลเรื่องเนื้อหาคือ รศ.พรรัตน์ ดำรุง อาจารย์จากภาควิชาศิลปะการละคร จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มี "พี่ตั้ว" เป็นผู้กำกับมะขามป้อม อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศไทย และยังได้รับการยอมรับในระดับเอเชีย จะลงมาคอมเมนต์เด็ก

ขณะที่ "เทรนเนอร์" ต่างก็มีประสบการณ์กำกับการแสดงละครเวทีมาเป็น 10 ปี หลายคนที่ช่วยกันดู มาดูความผิดพลาด ช่วยพาเด็กไปได้ค่อนข้างดี ตรงนี้อยากชี้ให้เด็กเห็นว่าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ผู้ใหญ่อยากให้เกิดคนรุ่นใหม่ทางการละคร อยากจะสื่อสารประเด็นให้สังคมได้เข้าใจง่ายขึ้น

นอกจากนั้น เด็กเขาได้อยู่กับตัวจริง ปกติเด็กอาจจะไม่รู้จักส่วนนี้ แต่การสอนไม่ได้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมบันเทิง เราต้องการทำให้เขาได้รับศิลปะที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขา สู่ตัวผู้ชม ไม่ได้มีมิติด้านการค้ามาเกี่ยวข้อง

"สถานที่จัดอบรมนั้นสำคัญมากอย่างเช่นที่ จ.เชียงใหม่ จัดที่รีสอร์ท ริมแม่น้ำปิง เพราะทำในห้องประชุมไม่ได้ มันทึบมีแต่ผนัง ตีบตันไอเดีย ดังนั้น หน้าที่ศิลปะ คือทำให้คนหยุดนิ่งๆ แล้วทบทวนชีวิตที่หมุนเร็ว เพราะแค่คิดทบทวนอาจจะเจออะไรมาก ละครเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ชมหยุดคิดไตร่ตรอง อันนี้ก็ให้เกิดปัญญาได้"

ด้าน "พี่ตั้ว" หลังจากที่ชมการแสดงรอบสุดท้ายของเด็กๆ แล้ว ต่อไปก็คือการคอมเมนต์



พี่ตั้ว บอกว่า จะเห็นว่าวันแรกกับวันสุดท้ายพวกเด็กๆ นั้น ฟอร์มวันหลังเริ่มนิ่ง และลงลึกถึงอารมณ์ของตัวละคร แต่บางกลุ่มก็คือเรื่องสดๆ แค่ความสดของเรื่องมันไม่ได้อยู่เหนือกาลเวลา การคิดเรื่องสดๆ คนดูซ้ำๆ มุขซ้ำๆ แต่ถ้ารักษาความสดได้ คือการรักษาพลังงาน ความตื่นเต้นในรอบแรกให้มาอยู่ในการแสดงรอบสุดท้ายได้นั้นเห็นชัดในเรื่อง "วัด" ระหว่างอารมณ์ของ แม่ กับลูกชาย ต่อไปเป็นหน้าที่ที่ต้องลงไปในรายละเอียด ในฐานะที่เป็นแม่ ต้องไปหาให้เจอว่าทำไมแม่ รู้สึกอย่างนั้น การที่แม่แค้นคำว่า "แกไม่ใช่ผู้ชาย" อาจจะเป็นการหาคำแบบอื่นๆ ได้อีก เราค้นหาตัวละครได้ ต่อไปต้องไปพัฒนาด้านเสียง สร้างคุณภาพในตัวนักแสดง พูดดังฟังชัด อักขระตรง การออกเสียง การควบกล้ำ นั้นสำคัญ

ต่อจากนี้ไป ต้องเด็กต้องแสดงละครของพวกเขา 3 รอบ โดยอยากให้เล่นกับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน คนดูคนละกลุ่ม กล้าท้าทายตัวเอง รอบแรก อาจจะเริ่มจากคนที่เรารู้จัก เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รอบที่สองให้ไปหาที่ที่คนไม่รู้จักเราเลย แปลกประหลาด ที่ๆ เล่นแล้วมีโอกาสเน่า ไปหาผู้ชมที่ยากจะสนใจเรา เล่นแล้วคนดูเดินหนีไปหมดเลย เล่นกระทั่งคนดูเอาร้องเท้าเขวี้ยง ต้องท้าทายตัวเอง ท้าทายอุปสรรค์ให้ได้ เล่นในโรงพยาบาล จะรู้ว่าเจ๋งจริงไหม อย่าอยู่แต่พื้นที่ปลอดภัยจะไม่โต

"อย่ายืนอยู่กับความสำเร็จ จงรับความทุกข์จากความไม่สำเร็จ" พี่ตั้ว กล่าวทิ้งท้ายให้เด็กๆ ไปเก็บไปคิด

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2552

ค่ายชมรมคนสร้างฝัน มมส. เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

"ชมรมคนสร้างฝัน คิดฝันเพื่อสรรค์สร้าง ต่างที่ได้ทำ" เป็น สโรแกนที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้เป็นชื่อโครงการ และได้ผ่านการคัดเลือกจากมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเป็นการออกค่าย ระหว่างวันที่ 15 -21 มีนาคม 2552 ที่บ้านหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น



บ้านหนองจาน จากข้อมูลของคนพื้นที่ นั้น ชาวบ้านหนองจาน เริ่มเข้าบุกเบิกพื้นที่ทำกินเมื่อปี พ.ศ.2508 ต่อจากชาวบ้านนายาง อ.หนองเรือ ที่เป็นกลุ่มแรกที่เข้าตั้งถิ่นฐาน และในปี พ.ศ.2518 ก็มีชาวบ้านจากจังหวัดขอนแก่น และหนองบัวลำภู เข้ามาบุกเบิกทำกินเพิ่มขึ้น

ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพกสิกรรม จนชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้นมีชาวบ้านประมาณ 280 ครัวเรือน แต่ปัญหาที่ตามมาคือทางราชการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ และรัฐสัญญาจะหาที่ทำกินให้ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้ย้ายออกไป แต่ที่สุดแล้วชาวบ้านก็ไม่ได้ที่ดินทำกินอย่างที่ทางการได้สัญญาไว้



ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเดินทางกลับมายังที่ดินเดิม ในขณะเดียวกันพื้นที่ตรงที่ชาวบ้านหนองจาน ตั้งอยู่ ทางการได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนพื้นที่เดิมอีกนี่คือปัญหาของชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ปัจจุบันชุมชนบ้านหนองจาน มีประมาณ 43 ครัวเรือนและมีบ้านเลขที่เป็นของตนเองแต่ใช้หมู่เดียวกับบ้านซำผักหนามซึ่งทั้งสองชุมชนตั้งอยู่ห่างกัน 8 กิโลเมตร ชาวบ้านหนองจานประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาผลผลิตที่ได้จึงต่ำ อีกประการหนึ่งชาวชุมชนบ้านหนองจาน ยังขาดอยู่คือ เรื่องไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึง



จากการที่ได้ติตตามการออกค่าย และสอบถามนักศึกษา นายวรวุฒิ เทือกชัยภูมิ ผู้รับผิดชอบโครงการ ให้เหตุผลที่เลือกมาออกค่ายที่ชุมชนแห่งนี้ ว่า ได้ออกสำรวจพื้นที่และพบว่าชุมชนแห่งนี้มีสิ่งที่น่าศึกษาหลายอย่างอีกทั้งได้รับทราบว่าที่ชุมชนหนองจาน นี้มีคณะนักศึกษาจากต่างประเทศ ได้เข้ามาเรียนรู้ประเพณีวัฒธรรมความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ด้วยจึงคิดว่าน่าสนใจที่จะต้องไปออกค่าย

นายวรวุฒิ บอกถึงการได้อะไรจากกค่าย ว่า ได้เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ทำงานร่วมกันทั้งนักศึกษาที่ออกค่าย กับชาวบ้านได้ในเรื่องของการบริหารการจัดการ การเป็นผู้นำหมู่คณะได้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นให้กับชุมชนได้รู้ถึงปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน



สำหรับการออกค่ายครั้งนี้ "ชมรมคนสร้างฝัน คิดฝันเพื่อสรรค์สร้าง ต่างที่ได้ทำ" ได้ช่วยกันสร้างบ้านที่ทำจากดินสองหลัง สร้างห้องน้ำให้กับชุมชน โดยในการสร้างบ้านดิน นั้น ได้รับคำแนะนำช่วยเหลือจากนายจรูญ เสลำ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านช่วยกัน ซึ่ง "ผู้ใหญ่จรูญ" ได้ไปเรียนรู้วิธีการทำบ้านดิน แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับชุมชนและนักศึกษาที่มาออกค่าย ทำให้นักศึกษาบอกว่าจะนำประสบการณ์นครั้งนี้ไปปรับใช้กับชีวิตในวันข้างหน้า

ส่วนที่เวลามาออกค่ายเช่นนี้มีปัญหาหรือไม่ เพราะมาจากความหลายหลาย ก็ได้รับคำตอบจาก นายวรวุฒิ ว่า นักศึกษาที่มาออกค่ายเราจะมีกฎระเบียบที่ต้องปฎิบัติเหมือนกันทุกคนอย่างเคร่งครัด อาทิเช่น สมาชิกที่เข้าร่วมต้องอยู่ร่วมกันจนจบค่าย ไม่นำของมีค่าติตตัวไป ไม่เล่นการพนันและเสพยาเสพติด ห้ามออกนอนบริเวณค่าย ห้ามชายหญิงแสดงพฤติกรรมใดๆ อันแสดงออกในทางเสียหายต่อสายตาผู้อื่น ไม่ทำผิดประเพณีท้องถิ่น ไม่ลักทรัพย์และทะเลาะวิวาทกันนั้นคือกฎของชาวค่ายยังมีวัฒนธรรมชาวค่ายอีกซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่นักศึกษาที่ออกค่ายจะได้รับ และจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่าเมื่อออกไปประกอบอาชีพและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป นักศึกษาที่ไปขอค่ายทุกคนต่างขอขอบคุณ โครงการดีๆ ของ สสส. ที่ให้โอกาสได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยนช์ต่อสังคม



ด้านผู้ใหญ่จรูญ กล่าวถึงการมาออกค่ายของนักศึกษา ว่า เมื่อทราบว่านักศึกษา จะมาออกค่าย ก็ได้ประชุมลูกบ้าน ว่าจะแบ่งเวรมาช่วยแนะนำ รวมถึงการไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ให้ได้ทราบถึงภูมิประเทศ กระทำเช่นนั้นที่จะแบ่งหน้าที่กันมาเป็นกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มอื่นได้ไปทำภารกิจของตนเอง กระทั่งวันสุดท้ายจะมาจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ และที่ประทับใจคงเป้นเรื่อง อาหารการกิน ที่เด็กๆ จะทำกินกันเอง แต่ชาวบ้านที่นี่ปลูกผักปลอดสารพิษ ผู้ชายมาช่วยสร้างดิน ส่วนผู้หญิงก็จะนำเอาผักที่หาได้ในชุมชนมาช่วยให้เด็กๆ ปรุงอาหารกินกัน



ผู้ใหญ่จรูญ บอกว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนของการเรียนรู้ เพราะแต่ละปี จะมีนักศึกษาชาวต่างชาติเดินทางมาศึกษาวิถีชุมชนของพวกเรา ซึ่งเราหวังว่าการอาศัยอยู่กับป่าของราษฎรบางครั้งมิได้ทำไห้ป่าเสียหายเสมอไป เราอยากให้รัฐเข้าใจเรื่องคนอยู่กับป่า เพื่อการยอมรับสิทธิในการถือที่ทำกินสืบชั่วลูกหลานต่อไป