วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลวิถีอิสลาม




การประชุมทางวิชาการที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือสรพ. จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา หัวข้อ “โรงพยาบาลวิถีอิสลาม : แนวทางและรูปแบบ” โดยเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ตรงของนายแพทย์มาหะมะ เมาะมูลา จากโรงพยาบาลรือเสาะ จ.นราธิวาส

"เนื่องจากในโลกของเราเป็นโลกที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในหลายๆ ความเชื่อ หลายแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป กลุ่มคนมุสลิมก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างจะมีรูปแบบเฉพาะ และพวกเขาต้องการการบริการที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต ความเชื่อของพวกเขาได้ ดังนั้น เราควรที่จะมีแนวทางในการรักษาที่สามารถตอบสนองต่อวิถีความเชื่อของเขา” นายแพทย์มาหะมะ เกริ่นนำเข้าสู่เนื้อหา

อิสลาม เป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนเขาไม่สามารถที่จะแยกศาสนาออกจากการดำรงชีวิตได้และแยกออกจากการรักษาพยาบาลก็ไม่ได้ เพราะเขาต้องใช้เวลาตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นั่นคือการละหมาด เพื่อให้อยู่ในครรลองของศาสนา ซึ่งมุสลิม ทุกคนจะต้องยึดตามแนวทางของอัลกุรอาน เพื่อการดำรงชีวิตขิงพวกเรา

สำหรับรูปแบบในการให้บริการในโรงพยาบาลทั่วๆไปนั้นเราจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยมุสลิมบางคน เมื่อเขาได้รับบริการอย่างที่เคยเป็นอยู่ทั่วๆไปถึงแม้เขาจะป่วยหนัก แต่เขาก็จะไม่ยอมเข้ารับการรักษาโดยเฉพาะผู้ที่เคร่งในศาสนา เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้เตรียมหรือตอบสนองต่อความต้องการในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาในการให้รักษาคนไข้

เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้เอื้อ หรือตอบสนองต่อความต้องการของบุคลากรเหล่านี้ได้ ดังนั้น เราจึงได้ตั้งกลุ่มหรือรวมรวบบุคลากรทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า “จิตอาสา” ในการเข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรของเรา หรือแม้แต่การขอคำแนะนำจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือการส่งบุคลากรของเราออกไปศึกษาดูงานที่ประเทศ จอร์แดน และทุกครั้งที่ได้ข้อมูลมาเราจะมีการเสนอขอความคิดเห็นหรือคำรับรองจากองค์กรกลาง อาทิเช่น คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกครั้ง เพื่อลดข้อสงสัยหรือข้อซักถามจากผู้รับบริการถึงประเด็นอันละเอียดอ่อนทางหลักปฏิบัติของศาสนา

นายแพทย์มาหะมะ กล่าวว่า โรงพยาบาลรือเสาะบูรณาการวิถีอิสลามสู่การให้บริการทางสุขภาพ โดยรูปแบบการดำเนินการเชิงนโยบายของโรงพยาบาล พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์โรงพยาบาลอย่างสอดคล้อง และมีทิศทาง ว่า

“โรงพยาบาลรือเสาะ โรงพยาบาลวิถีชุมชน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม” ซึ่ง ความเป็นวิถีชุมชนมิได้จำกัดเพียงการนำวิถีอิสลาม มาบูรณาการเท่านั้น แต่ศาสนาอื่น ๆ และผู้รับบริการต่างสัญชาติด้วย

ปัญหาประการหนึ่งที่พบคือบุคลากรทางการแพทย์กับบุคลากรทางด้านศาสนาแยกความเชี่ยวชาญตามปัจเจก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผสานองค์ความรู้เพื่อบูรณาการวิถีอิสลาม สู่การบริการ ทางสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะในมิติของอิสลาม ถือว่าอิสลาม คือ วิถีชีวิต ดังนั้น จึงไม่สามารถแยกแยะมุสลิมออกจากวิถีอิสลามได้ในทุกกรณี แม้แต่ในยามเจ็บป่วย

ข้อดีของที่โรงพยาบาลรือเสาะ คือ ตัวผู้อำนวยการเองที่เป็นผู้ที่มีความรู้ทางวิชาการด้านศาสนา มีความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจกับองค์ความรู้หลากหลายภาษา อาทิเช่น อาหรับ มาลายู ไทย และอังกฤษ



โรงพยาบาลรือเสาะ เริ่มต้นกิจกรรมจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ก่อน ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มจากสิ่งที่เป็นข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม (วาญิบ : หลักปฏิบัติภาคบังคับที่มุ
กัลลัฟ (มุสลิมผู้อยู่ในศาสนนิติภาวะ) ทุกคน ต้องปฏิบัติตาม) ในการนำองค์ความรู้อิสลามมาบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางสุขภาพ โรงพยาบาลรือเสาะ ต้องอาศัยกระบวนการสืบค้นความรู้จากแหล่งข้อมูลมากมาย หลายภาษา การบริการสุขภาพสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และหลังกลับจากพิธีฮัจย์ ซึ่งเป็นการเปิดบริการที่เพิ่มเติมกว่าการตรวจรับยา และฉีดวัคซีนปกติ

การปรับยาในเดือนรอมฎอน สอดคล้องกับวิถีชีวิต การงดเว้นนัดผู้ป่วย OPD ในเดือนรอมฎอน การใช้ปฏิทินอิสลามในการดูกำหนดนัดที่เหมาะสม จุด ER เน้น การสอนให้ผู้ป่วยกล่าวคำปฏิญาณตนต่ออัลลอฮ์ และศาสดามูฮัมหมัด ก่อนกระทำหัตถการใดๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว อาทิเช่น ก่อนฉีดยาสงบประสาทเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ไม่ว่าจำเป็นต้องช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR หรือไม่ก็ตามก็สอนทุกครั้ง เพราะอิสลามถือว่า การตายและการเป็น เป็นหน้าที่ของพระผู้เป็นเจ้า

IPD ที่เป็นจุดเด่นคือ การมีสถานที่ละหมาดสำหรับผู้ป่วยที่สามารถลุกขึ้นเดินได้ หรือคนที่ on HL การจัดทำซิงค์น้ำสำหรับอาบน้ำละหมาดแก่ผู้ป่วยแบบเคลื่อนที่ การจัดทำสื่อสารสุขภาพที่เกี่ยวกับการรับบริการในโรงพยาบาลด้วยภาษามลายู และไทย

การจัดทำสื่อสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีอิสลาม มีการดูแลผู้ป่วย AIDS ด้วยการให้ผู้ป่วยได้เตาบัต (ขอประทานอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้า) สำหรับความผิดบาปที่ผ่านมาทั้งปวงก่อนการเริ่มต้นให้ยา

โรงพยาบาลรือเสาะเริ่มต้นบูรณาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยเรียนรู้และปรับปรุงแก้ไข เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยต่อยอดทั้งองค์กร

โรงพยาบาลรือเสาะดำเนินกิจกรรมบูรณาการวิถีอิสลามสู่การให้บริการทางสุขภาพ โดยไม่ได้มุ่งเน้นในด้านคุณภาพว่าต้องเป็น HA หรืออะไรก็ตามหรือไม่แต่อย่างใด การทำคุณภาพให้สอดคล้องกับมิติทางจิตวิญญาณตามบริบทประชากรอาจเป็นคำตอบที่ดีกว่า สัมผัสได้ดีกว่า ประณีตและยั่งยืน...บนพื้นฐานงานคุณภาพ โดยหลักคิดของ สรพ.

สำหรับ Theme ปีหน้าคือ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่ระบบบริการสุขภาพที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความรักความเมตตาและความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

สรพ.แนะปรับรพ.เหมือนบ้านเพื่อการเยียวยาที่ยังยืน



สรพ.แนะสร้างบรรยากาศโรงพยาบาล ให้อบอุ่นเหมือนบ้าน เพื่อการเยียวยาผู้ป่วยที่ยั่งยืน

นายโกเมธ นาควรรณกิจ จากสถาบันรับรองคุณสภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า การเยียวยาคือการจัดการบริการสุขภาพ ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ อาทิเช่น ทางกายภาพ ทางสังคม ทางธรรมชาติ และรวมถึงสภาพภายในจิตใจ ดังนั้น สถาบันรับรองคุณสภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จึงให้ความสำคัญในจุดนี้ เพื่อผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา สามารถฟื้นฟูสภาพทางกาย และจิตใจได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดร.น.พ สกล สิงหะ จากคณะแพทย์ มอ. กล่าวว่า การฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วย นอกจากอาคารสถานที่แล้ว เรื่องโภชนาการควรให้คนไข้มีทางเลือก ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันระหว่างคนไข้กับหมอ การเสนอให้มีโต๊ะอาหารในห้องผู้ป่วย เพื่อให้ญาตินำอาหารมาทานในห้องผู้ป่วยได้ เหมือนกับอยู่ที่บ้าน จัดเวลาให้เหมาะสมในเรื่องเวลาอาหาร

นอกจากนี้ การสร้างความรักในโรงพยาบาล เท่ากับสร้างความไว้วางใจ และมอบความรักให้กับผู้ป่วย จะสร้างความผูกพันระหว่าง คนไข้ กับหมอ คนไข้ กับโรงพยาบาล

สำหรับโรงพยาบาลอบอุ่นเพื่อการเยียวยา ต้องตระหนักว่า ผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ป่วยที่ไม่นอนโรงพยาบาล จะมีความรู้สึกว่ารักษาโรคหายไปแล้ว แต่ทางจิตใจยังมีความกังวลอยู่

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการลดการเกิดอันตรายทางร่างกาย การตกแต่งโรงพยาบาลให้อบอุ่นเหมือนบ้านก็ดี อีกเรื่องคือความปลอดภัยของผู้ป่วย ถ้าทำตรงนี้ แม้แต่ญาติ ที่มาเยี่ยมผู้ป่วยก็จะเกิดความประทับใจ เกิดการเรียนรู้ สิ่งต่างๆ ที่โรงพยาบาลนำมาใช้ และก็สามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้

“ที่เราจะลืมไม่ได้คือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลต้องให้มีความสุข มีความความสะดวกปลอดภัย แล้วให้เขามีความรู้สึกว่าโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เขาทำงานเหมือนบ้านตัวเอง เราลองนึกดู เราอยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก บ้านเราจะอยู่แค่วันเสาร์ อาทิตย์ แต่ที่โรงพยาบาลหรือที่ทำงานเราอยู่ตั้ง 5 วันจันทร์ถึงศุกร์ฉะนั้น ต้องทำที่ทำงานให้มีความอบอุ่นเหมือนบ้านหลังที่สอง นี่เป็นประเด็นที่เราคาดหวังและมีความตั้งใจอย่างยิ่ง”



ด้านนายโกศล จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาสามรถฟื้นฟูสภาพทางกายและจิตใจ ได้ผลดีอย่างรวดเร็ว กล่าวว่า การจะทำให้โรงพยาบาลอบอุ่นเหมือนบ้าน นั้น เหมือนการออกแบบบ้าน บ้านจะต้องมีห้องหลายๆ ห้องประกอบกัน การจะทำโรงพยาบาลอบอุ่นเหมือนบ้านเราต้องมาตีโจทย์ว่าเวลาเรามาโรงพยาบาลแล้วมีความรู้สึกว่ามาบ้านแล้วไม่อยากกลับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอย่างมาก

“ความหมายของคำว่าเยียวยาคือการจัดบริการสุขภาพแบบองค์รวม องค์รวมคือ กาย จิต วิญญาณ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องไปด้วยกัน รวมทั้งสิ่งแวดล้อม การบริการเป็นสิ่งจำเป็นในภาพรวม แม้แต่คนไข้ ญาติคนไข้ เพื่อนฝูง อุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวก อาคารสถานที่ ระบบการดูแลผู้ป่วย และยังให้เข้ามาแบ่งปันความรู้สึกที่ดีต่อกันด้วย”

นอกจากนั้น การกรีดร้องก็ถือว่าเป็นการเยียวยาได้เพราะการกรีดร้องเป็นการระบายความรู้สึกที่เจ็บป่วยได้ ในเรื่องของผู้ป่วยที่นับถือศาสนาต่างๆ ก็สามารถนำสิ่งที่ตัวเองเคารพมาไว้ในห้องพักผู้ป่วยได้ก็จะเป็นการเยียวยาทางจิตอีกทางหนึ่งเช่นกัน

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

สสส.เปิดตัว “บัตรเดียว เที่ยวยกครัว

สสส.เปิดตัว “บัตรเดียว เที่ยวยกครัว ทัวร์พิพิธภัณฑ์รอบกรุง” รับวันสงกรานต์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มีความอบอุ่น

แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา กรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของครอบครัว ได้เปิดตัว “บัตรเดียว เที่ยวยกครัว ทัวร์พิพิธภัณฑ์รอบกรุง” HAPPY FAMILY DAY CARD สำหรับครอบครัว เพื่อเข้าชมแหล่งเรียนรู้กว่า 100 แห่งของรัฐฟรี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

รวมทั้งเป็นส่วนลดแหล่งเรียนรู้ภาคเอกชน อาทิ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ห้องสมุด สวนสาธารณะ ตลาดน้ำ และศาสนสถาน เพื่อเป็นของขวัญแก่คนไทยในช่วงวันสงกรานต์ ให้ครอบครัวมีโอกาศสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน รวมทั้งกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ให้ได้รับความรู้ประสบการณ์ตรงผ่านความอบอุ่นของครอบครัว

แพทย์หญิงชนิกา กล่าวอีกว่า “บัตรเดียว เที่ยวยกครัว ทัวร์พิพิธภัณฑ์รอบกรุง” จำนวน 30,000 ใบ โดยจะเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนนี้ ใน 6 สถานที่ คือ สถานีรถไฟหัวลำโพง, ที เค ปาร์ค เซ็นทรัลเวิร์ลด ,พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ, พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้ง จ.นครปฐม องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จ.สมุทรปราการ

สามารถดาว์โหลดเพิ่มเติมอย่างไม่จำกัดได้ที่ www.happyfamilyday.com โดยมีเงื่อนไขว่าใช้ได้กับสมาชิกในครอบครัวไม่เกิน 4 คน และตลอดปี 2553 นี้เท่านั้น