วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รพ.ลำพูน รักษาผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล

"ระบบการให้บริการด้านสุขภาพของไทย มีปัญหาเหมือนกันหมด คือ หมอทำงานมาก คนไข้ในโรงพยาบาลทุกจังหวัด มีจำนวนมาก บางแห่งมีจำนวน 1-3 พันคน เมื่อ แพทย์ไม่มีเวลาพูดคุยกับคนไข้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ และสั่งจ่ายยา จึงทำให้คนไข้บางคน ไม่รู้จักการเสริมสร้าง หรือ รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นอีก แต่ก็ไม่ปฏิบัติ ซึ่ง เป็นระบบการรักษาที่มีมาตั้งแต่อดีต" ภาพรวมของโรงพยาบาลโดยทั่วไป ซึ่งสะท้อนออกมาจากมุมมองของ นายแพทย์วิรัช พันธุ์พานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน



"ผมเคยได้อ่านผลการศึกษาวิจัย ในประเทศเยอรมนี ระหว่างหมอกับคนไข้ ที่ได้มาพูดคุยปัญหา เรื่องการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ผลการศึกษาทราบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ นั้น ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน เพราะหมอใช้เวลาในการรักษาคนไข้ ไม่มีเวลา ปริมาณคนไข้ที่รอ มีจำนวนมาก แต่ทั้งหมอ และผู้ป่วยร้อยละ 90 อยากให้มีการปรับเปลี่ยนการรักษาพยาบาล ให้หมอได้มีเวลาในการพูดคุย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ป่วย หรือไม่ทำให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงยิ่งขึ้น"

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ชัดว่า โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องเป็นผู้ตั้งรับคนป่วยที่จะมารับการรักษา จึงคิดว่าบางโรคที่ควรจะมีการรักษาในรูปแบบของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความเสี่ยง ฝึกวิธีคิดให้ผู้ป่วย และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนชนนั้นๆ จะทำให้จำนวนผู้ป่วยลดน้อยลง

ประกอบ กับนโยบายบัตรทองของรัฐบาล มีส่วนทำให้จำนวนคนไข้มากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงสาเหตุจากความไม่มั่นใจของคนไข้ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก และหมอกลัวการโดนฟ้องร้อง จึงต้องส่งผู้ป่วยมารับการรักษาโรงพยาบาลจังหวัดมากขึ้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลใจ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะลดปริมาณคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาในแต่ละวันลงครึ่งหนึ่ง คนที่จะเข้ามายังโรงพยาบาลได้นั้น จะต้องเป็นคนไข้ที่ส่งต่อจากโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน เท่านั้น หรือเป็นคนไข้ที่หมอนัด คนไข้ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น สำหรับคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคธรรมดา ไม่มีความซับซ้อน จะให้เข้ารับการรักษานอกโรงพยาบาล หากปริมาณคนไข้ลดลง แพทย์จะได้มีเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ กับคนไข้ อย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องที่โรงพยาบาลกำลังจะดำเนินการในขณะนี้ คือลดปริมาณคนไข้



นายแพทย์วิรัช พันธุ์พานิช กล่าวว่าเมื่อปีพ.ศ. 2551 โรงพยาบาลได้เริ่มอบรมสร้างแนวคิดใหม่ ให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย จำนวน 17 แห่ง ในเขตอำเภอเมืองลำพูน ให้มีความรู้ด้านสุนทรียสนทนา การพูดคุยกับคนไข้ รวมถึงได้นำเอากระบวนการพุดคุยกับคนไข้มาใช้ ให้คนไข้ดูแลตนเอง สำหรับคนป่วยที่ป่วยไม่มาก คนที่มีความเสี่ยง สามารถพูดคุยให้ป้องกันเอง โดยให้กลุ่มงานเวชกรรมสังคม เข้าไปคลุกคลีกับชุมชน ให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 1,500 คน ได้กลับเข้าไปอยู่ในชุมชน สร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ให้ชุมชนดูแลกันเอง และจัดตั้งเป็นชมรมของผู้ป่วย ให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้ คน ไข้คนไหนที่ปฏิบัติตัวได้ดี ก็จะเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่น โรงพยาบาลจะเป็นพี่เลี้ยง โดยใช้ทีมของสถานีอนามัยตำบล และอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งการเข้าถึงชุมชน ส่งผลให้ได้สร้างเครือข่ายในแต่ละชุมชนด้วย อีกทั้งยังทำให้หน่วยงานองค์กรปรกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท. ) และองค์กรเอกชนในพื้นที่ มีโอกาสทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายที่สร้างขึ้น

ภายในปี 2552 นี้ โรงพยาบาลจะได้เปิดให้บริการรักษาคนไข้นอกโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เพื่อลดความแออัดของคนที่จะเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีจำนวนวันละประมาณ 1 พันคน ทั้งนี้ได้เซ็นสัญญาร่วมกับ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็น โครงการระยะสั้นที่จะเช่าอาคาร สถานที่ บริเวณถนนสันเหมือง ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน เป็นสถานที่ให้บริการรับผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล สำหรับแผนงานระยะยาวโรงพยาบาล จะสร้างแผนกรับผู้ป่วยนอก หรือ Gate Keeper บริเวณถนนเลียบทางรถไฟ ใกล้กับวัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน โดยได้รับการสนับสนุนที่ดินจาก มูลนิธิพัฒนาอนามัยเชียงใหม่ จำนวน 19 ไร่ จัดสร้างโรงพยาบาลดังกล่าว เน้นการดูแลผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยโรคไม่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน

ปัจจุบันโรงพยาบาลได้พัฒนา ปรับปรุงคุณภาพ การให้บริการ ตามมาตรฐานของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ให้บริการด้วยความรวดเร็ว สะดวกสบาย และใช้การดูแลผู้ป่วย ด้วยความรัก หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ หรือ Humanized Health Care ได้จัดอบรมให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนแนวคิด การให้บริการ แก่เจ้าหน้าที่ ในรูปแบบ Humanized Health Care และ สุนทรียสนทนา เพื่อให้พยาบาลที่ต้องอยู่กับคนไข้ วันละ 8-10 ชั่วโมง ได้เกิดการให้บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ซึ่งรูปแบบการให้บริการของโรงพยาบาลในอนาคต จะต้องคำนึงถึง 3 กลุ่ม คือ คนไข้ เจ้าหน้าที่ และสังคม

หากสามารถเปลี่ยนแนวคิด ของบุคลากร แพทย์ พยาบาลได้ก็จะทำให้ระบบการบริการด้านสาธารณสุขเกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น อีก ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงพยาบาลของรัฐบาล ที่หลายคนมองว่าบริการไม่ดีเหมือนกันกับเอกชน เหมือนกับโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งหากได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ การบริการ ให้ดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ ผู้ป่วย ชุมชน ได้ดูแลกันเอง ก็จะทำให้ การพัฒนาคุณภาพการบริการเปลี่ยนแปลงไป แต่ตนมองว่า การปรับเปลี่ยนความคิด ของพยาบาล เจ้าหน้าที่ คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นเรื่องยากที่สร้างความเข้าใจให้ทุกคน เข้าใจคนรอบข้าง มีความรักและเห็นใจผู้ป่วย เหมือนกับตัวเอง หรือญาติของตัวเอง

ทั้งนี้ การให้บริการรูปแบบใหม่ จะประสบผลสำเร็จอยู่ที่คน ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญ หากเกิดกระบวนการคิดดี แต่คนบุคลากรของโรงพยาบาลทำไม่ได้ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จแน่นอน ทั้งนี้ประชาชนควรจะมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถดูแลตนเอง จากโรคภัย ไข้เจ็บต่างๆได้ การ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับตนเอง เป็นเป้าหมายสูงสุด ซึ่งขณะนี้การปรับรูปแบบใหม่ ต้องทำไป เรียนรู้ไป ต้องแลกเปลี่ยนความรู้ ทำงานร่วมกับสถานีอนามัย รวมถึงทำให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงกรอบ แนวคิด ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าหากได้ปรับรูปแบบการให้บริการ ปรับวิธีการรับคนไข้ จะทำให้โรงพยาบาลเปลี่ยนไป คนไข้เข้ามาในโรงพยาบาลมีจำนวนน้อยลง โรงพยาบาลจะมีคุณภาพการให้บริการมากขึ้น เป็นการให้บริการด้วยใจ ทำให้เจ้าหน้าที่ มีความรัก รู้สึกที่ดีต่อผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามในอนาคตจะต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในชุมชน ช่วยกันดูแลผู้ป่วย และเสริมสร้างสุขภาพคนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี ซึ่ง สอดคล้องกับทิศทางของกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต ที่มีนโยบายจะสร้างโรงพยาบาลเสริมสร้างสุขภาพประจำตำบลขึ้น และโรงพยาบาลลำพูน ก็จะเป็นจุดเล็กๆที่เริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลง การให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ให้คนไทยได้เข้าถึงบริการในรูปแบบใหม่ ไม่ต้องรอพบแพทย์นานๆเหมือนแต่ก่อน และได้รับการบริการจากพยาบาล เจ้าหน้าที่ ด้วยความรัก หัวใจความเป็นมนุษย์

ด้วยผลงานที่โดดเด่นของโรงพยาบาลลำพูน สถาบัน พรพ.ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงคดโรงพยาบาลลำพูน นำไปสู่ “โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ กุมภาพันธ์2552 – มีนาคม2554



นางพิกุล คำอิ่น อายุ 56 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เปิดเผยว่า เป็นโรคเบาหวานจากกรรมพันธุ์ เริ่มเป็นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ต้องไปรักษาตรวจเช็คระดับน้ำตาล ตามที่หมอ โรงพยาบาลลำพูนนัดเป็นประจำทุกเดือน ในวันที่หมอนัดก็ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลแต่เช้า ทุกครั้งที่ไป คนไข้ก็จะเยอะมาก กว่าจะได้รับการตรวจ และคุยกับหมอเสร็จประมาณ 3 -4 โมงเย็น บางครั้งก็เบื่อที่จะต้องมารอ ก็เลยให้สามีขับรถมาส่งตอนเช้า และตอนเย็นก็ให้มารับ เพราะไม่อยากให้มานั่งรอด้วยกัน

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจะเยอะมาก แต่เจ้าหน้าที่ก็ให้บริการดี หมอก็แนะนำเรื่องการกินอาหาร ควบคุมน้ำตาล แต่ก็ได้คุยกับหมอประมาณ 2-3 นาที ถ้าโรงพยาบาลสามารถลดปริมาณคนไข้ลงได้ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะทำให้ได้รับการตรวจเร็วขึ้น และมีเวลาไปทำงานอย่างอื่นด้วย เมื่อ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการจัดตั้งชมรมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในตำบล ตนก็ได้มีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเหมือนกัน อีก ทั้งยังได้รับการตรวจจากแพทย์ที่โรงพยาบาลลำพูน เหมือนกับไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล แต่แตกต่างกันคือมีความรวดเร็วกว่า และใกล้บ้าน รอตรวจเพียงครึ่งวันก็เสร็จ ผู้ป่วยที่มารอตรวจมีจำนวนไม่มาก 60-70 คน



นายถวิล ทาสีคำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน กล่าวว่า ราษฎรในหมู่บ้าน ป่วยเป็นโรคเบาหวานกันมาก ต้องไปพบหมอทุกเดือน หลังจากที่เทศบาลได้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลบ้านกลางขึ้น ก็ ได้มีการทำงานร่วมกับสถานีอนามัย และโรงพยาบาลลำพูน โดยเฉพาะการจัดตั้งชมรมผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทำให้คนป่วยได้มีโอกาสมารวมกลุ่ม ทำกิจกรรม มีความ รู้ ความเข้าใจในการดูแลตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และยังได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาไปรอที่โรงพยาบาล เป็นผลดีกับคนที่ยังไม่เจ็บป่วย จะได้มีความรู้ ในการป้องกันตนเอง ไม่ให้เป็นโรคดังกล่าวด้วย

"นับว่าเป็นผลดีต่อหลายๆฝ่าย โดยเฉพาะประชาชน ควรจะได้รับการส่งเสริม การดูแล รักษาสุขภาพให้มากๆ"ผู้ใหญ่ถวิล กล่าวในที่สุด