วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เพาะเมล็ดพันธุ์ปัญญา ผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง



“ท่านพุทธทาส ดำริตั้งโรงละครหรือโรงหนังเป็น Spiritual Theatre บอกว่าชีวิตมนุษย์ต้องมีส่วนหล่อเลี้ยง ร่างกายเวลาอ่อนล้าก็ต้องการนวดคลำโอ้โลม จิตใจก็ต้องมีสิ่งประเล้าประโลมให้ผ่อนคลายและพร้อมจะสู้ใหม่ ถ้าเป็นสิ่งดีงามทำให้เข้มแข็งแกร่งกล้าไปในทางที่ถูก อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย ท่านเรียกว่า Spiritual Entertainment”

น.พ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดเวทีเสวนา "ละครบนหนทางการเปลี่ยนแปลงทางปัญญาของเยาวชน" พร้อมการเปิดตัว "โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ของ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน โดยการหนุนเสริมของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปเมื่อเร็วๆนี้ที่อุทยานการเรียนรู้(TK park) เซ็นทรัลเวิร์ลดิ

เล่าเรื่องละครสะท้อนปัญญาปี 2

ทุกขภาวะของเด็กไทยในสังคมปัจจุบัน แสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ อาทิเช่น ติดเกมส์ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เสพสื่อลามกอนาจาร และฟุ้งเฟ้อไปกับกระแสสังคมบริโภคนิยม เป็นปัญหาที่มีสาเหตุปัจจัยหหลายประการ ตั้งแต่ ขาดการเอาใจใส่ดูแลที่ถูกต้องจากครอบครัว สถาบันการศึกษาที่เน้นสาระวิชาการแต่ละเลยการพัฒนาตัวตนของเยาวชน รวมทั้งขาดพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกและเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ทำให้วัยรุ่นไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เท่าทันกระแสสังคม และอ่อนแอเชิงจริยธรรม

เป็นที่มาของ “โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง : การพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนด้วยศิลปะการละคร”

การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในการแสดงออก-แสวงหาตัวตน-พัฒนาศักยภาพของเด็กไทย สร้างนักการละครรุ่นใหม่ที่สามารถผลิตสื่อบันเทิงทางปัญญาอย่างสอดคล้องกับประเด็นปัญหาสังคมชุมชน และเป็นพื้นฐานไปสู่การมีสุขภาวะที่ยั่งยืนของเยาวชนอนาคตชาติ

พฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องมาจากโครงการละครสะท้อนปัญญาปี 2552 ซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ทั้งจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผลความรับผิดชอบและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใจกว้างเปิดรับความคิดเห็นคนอื่น รวมทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม การแสดงออก การสื่อสารที่เหมาะสม ที่สำคัญคือเด็กสามารถปรับเปลี่ยนทัศนะคติในการเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น แบ่งปันให้สังคม

พฤหัส

ละครบนหนทางการเปลี่ยนแปลงทางปัญญา

น.พ.บัญชา กล่าวถึง ความสุขทางปัญญาผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงว่า เริ่มตั้งแต่สุขตามประสาเด็กที่ได้คิดได้เล่นได้แสดงออก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่การค้นพบตัวเอง และที่ดียิ่งกว่าคือเป็นประโยชน์กับตัวเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และแบ่งปันสังคม

"ละครกินพื้นที่สื่อในสังคมเยอะมาก ถ้าสามารถผสมผสานความบันเทิงกับสติปัญญาด้วยกันได้ ก็จะมีประโยชน์มาก.. โครงการนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่ร่วมโครงการ ผู้ชม สังคม ได้เปิดใจซึมซับเนื้อหา เรียนรู้เปลี่ยนทัศนะคติ เป็นปัญญาใหม่ที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนตัวเองและสังคม..."

น.พ.บัญญชา

ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือที่รู้จักในนาม “กลุ่มละครมมะขามป้อม” บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีทั้งความรู้สึกนึกคิดทัศนะคติเชิงบวก, ทางร่างกายคือความสามารถจัดการตัวเองในการแสดงออกหน้าเวที ด้านสติปัญญาคือรู้จักแก้ปัญหาฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ หลังฉาก และทางสังคมคือปัญญาที่สื่อออกไปกับเนื้อหา และสังคมยอมรับในสิ่งที่วัยรุ่นแสดงออก

"ตอนเริ่มโครงการก็ท้อๆ เพราะน้องๆ เขามีตัวอย่างภาพยนตร์ ทีวี โฆษณา ตลก และเข้าใจว่านั่นคือละครที่ควรจะเป็น คือถ้าเป็นนางร้ายก็ต้องกรี๊ดกร๊าดโวยวาย ถ้าเป็นเพศที่สามก็ต้องริษยาอาฆาตบิดตูดเป็นเลขแปด แต่พอเราทำๆ ไปแล้วคือมันได้เรียนรู้เกิดชุดความรู้ใหม่ๆ..."

ในมุมมองของนักแสดงและผู้กำกับ ศศิธร พานิชนก จากกลุ่มละคร LIFE Theatre บอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักแสดงได้ เช่น บางคนอาจชอบอยู่หลังฉากหรือเป็นโปรดิวเซอร์ แต่สิ่งหนึ่งที่กิจกรรมโครงการนี้สร้างให้เยาวชนคือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และได้ค้นพบตัวตน

"จุดง่ายๆมันอยู่ที่มีใจรักและจริงใจที่จะทำ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง พอออกมาเป็นการแสดงก็จะส่งผลไปถึงผู้ชมที่เขาสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาได้ดูอะไรที่จริงใจให้แง่คิด เป็นการสร้างทางเลือกในการชมละคร..."

"เขาและเธอที่เปลี่ยนไป" : ผลผลิตจากโครงการ

“เวทีแรกของหนูคือเสื่อ 2 ผืน กางที่ถนนคนเดิน แรกๆ เขาก็ไม่มาดูกันหรอก วันต่อๆ มาก็เริ่มมีคนถามว่าทำไมไม่ทำเวทีเลยล่ะ เริ่มมีแฟนคลับ มีรายได้จากการเปิดหมวก... จากแรกๆ อาจารย์ไม่รู้ว่าเราทำอะไรกัน ต่อมาก็ถามว่าสนใจจะเปิดชมรมละครในมหาวิทยาลัยไหม”

กาญจนา พรมกสิกร นักศึกษาจากเทคโนโลยีเชียงราย เป็นผลผลิตหนึ่งของโครงการเพื่อสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เธอบอกว่า "ดากานดาผู้ไม่เคยพอ" ที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ต้องการสะท้อนค่านิยมผิดๆ ในการบริโภควัตถุนิยมของเด็กไทย

"ในมหาวิทยาลัยมีมือถือ โน๊ตบุ๊คส์ กระเป๋าแบรนด์เนมแพงๆ ใหม่ๆ มาอวดกันตลอด พวกหนูก็มาคิดว่าทำไมวัยรุ่นสมัยนี้อยากได้อยากมีทั้งๆ ที่ตัวเองยังหาเงินไม่ได้ บางคนโกหกพ่อแม่เพื่อได้ของโชว์เพื่อน พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาไม่รู้ว่าที่ลูกอยากได้มันจำเป็นรึเปล่า จะยากจนก็ต้องหามาให้ลูก พวกหนูอยากให้วัยรุ่นที่ดูละครของเรามีความคิดเปลี่ยนไป ไม่ยึดติดวัตถุ..."

เป็นเรื่องราวเล็กๆ ของวัยรุ่นที่สะท้อนภาพใหญ่ในสังคม การยึดติดวัตถุมักนำไปสู่ความอยากได้ไม่รู้พอ และหาทางเพื่อให้ได้มา ซึ่งอาจเป็นหนทางที่ไม่ถูกต้อง จากเรื่องเล็กๆ ไปสู่ความผิดที่ร้ายแรง

นอกจากส่งผ่านปัญญาไปสู่สังคมหน้าฉากเวที กาญจนา บอกว่า ในตัวตนของเธอเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการที่หล่อหลอมในค่ายละครสะท้อนปัญญา

"แรกๆ คิดว่าเหมือนละครทีวี อยากเป็นดารา แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด… ได้เรียนรู้ว่าแสดงบนถนนคนเดิน มีคนมามุงดู ก็เป็นดาราได้ ไม่ได้กรี๊ดกร๊าดแย่งผู้ชายเหมือนในทีวี แต่เป็นการแสดงออกที่มีประโยชน์ สื่อสารให้พ่อแม่ให้สังคมเข้าใจวัยรุ่น และทำให้ตัวเองให้วัยรุ่นเข้าใจคนอื่น เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น"

3 ปีของ โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งสร้างนักการละครรุ่นเยาว์เพิ่มอีก 40 กลุ่ม ขับเคลื่อนเชิงสังคมผ่านเทศกาลละครสะท้อนปัญญาและเวทีสื่อสร้างสุขภาวะ ขับเคลื่อนนโยบายสร้างพื้นที่สาธารณะทางปัญญาของเยาวชน และขยับไปสู่หลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย



ถ้าเด็กรุ่นใหม่มีพื้นที่แสดงออกซึ่งสามารถเรียน-รู้-เล่น ผสมผสานจินตนาการ ความคิด ความบันเทิงเข้าด้วยกัน เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่นำไปสู่การค้นพบตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง แบ่งปันสังคม อนาคตสดใสก็ไม่ไกลเกินเอื้อม นี่คือความสุขผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้เริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น