วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หลากโครงงานวิทย์ สร้างสุขในโรงเรียน

“โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” เป็นโครงการที่มุ้งเน้นเสริมสร้างสุขภาพอนามัยแก่เด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งดำเนินการมาตลอดปี 2552 โดยศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา บรรดานักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในบางส่วนมีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงานที่คิดค้นขึ้น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยลงกรณ์ จ.ปทุมธานี ผลงานจากการร่วมคิดร่วมทำกันของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์หลายรายการ มีความน่าสนใจมากมาย



นายปฏิคม ใจแสน และ นางสาวพรประภา ตู้สุพรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนปางศิลาทองศึกษา จ.กำแพงเพชร ผู้คิดค้นโครงงานการสำรวจปริมาณขยะในโรงเรียนปางศิลาทองศึกษา เพื่อหาทางนำขยะเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ช่วยกันเล่าว่า เหตุเกิดเพียงเพราะโครงงานถ่านใบไม้ จากใบยูคา ของรุ่นพี่ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากหลายเวที ทำให้ทั้งสองเกิดความคิดว่า หากสามารถนำขยะภายในโรงเรียนไปทำให้เกิดประโยชน์ได้คงดีไม่น้อย ทั้งสองจึงทำการสำรวจปริมาณขยะที่เกิดขึ้น และมีแนวคิด นำใบไม้ชนิดอื่น ไปทำเป็นถ่านเช่นกัน



“เราจะต่อยอดการทดลอง โดยใช้ใบไม้ที่มีอยู่ภายในโรงเรียน เช่นใบขนุน หรือต้นไม้ชนิดอื่น ๆ มาทดลองทำเป็นถ่าน เพราะนอกจากจะลดปริมาณขยะแล้ว จะทำให้เรามีถ่านไว้ใช้ในโรงเรียนหรือ นำไปจำหน่ายในชุมชนเพื่อหารายได้ ก็ได้” นายปฏิคมกล่าว

ด้านโรงเรียนขาณุวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร ให้ความสำคัญกับห้องสุขาเป็นพิเศษ ส่งผลให้เกิดโครงงานน้ำหอมดับกลิ่นจากสมุนไพร ซึ่งมีนายมรรคณา คาระวะ นักเรียนชั้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ นางสาววงศ์ศิริ ทรงสถาพรเจริญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ร่วมกันคิดค้นขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อม ทั้งตัวอาคารและวัสดุที่ใช้ก่อสร้างห้องน้ำ มีความสวยงามน่าใช้ แต่กลิ่นเหม็นในห้องน้ำ ทำให้นักเรียนไม่อยากเข้า บางคนกลั้นไว้ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ อีกทั้งราคาน้ำหอมที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปมีราคาแพง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยการใช้สมุนไพร 2 ชนิดมาทดสองคือ ใบเตย และมะกรูด



“เราเอาผิวมะกรูดและใบเตยไปหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปต้ม หลังจากได้ที่แล้วก็ใส่ดินวิทยาศาสตร์ ในน้ำสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด เรานำไปทดลองในห้องน้ำหญิงภายในโรงเรียน ผลปรากฏว่า น้ำใบเตย มีกลิ่นได้นาน 4 วัน แต่มะกรูด สามารถใช้ได้นานถึง 7 วัน แต่น้ำหอมดับกลิ่นจากใบเตย ได้รับการยอมรับมากกว่า” นางสาววงศ์ศิริ อธิบาย

ขณะที่ เด็กหญิง อร ณรัตน์ อยู่ยืน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยลงกรณ์ฯ เจ้าของโครงงานเครื่องปั่นผ้าต้านไข้หวัด 2009 จากแนวคิดที่ว่า ผ้าถูพื้นเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกาย หากใช้มือสัมผัส แล้วจะทำอย่างไร ให้ผ้าถูพื้น แห้งหรือหมาด โดยไม่ต้องบิด



“เรื่องนี้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ เนื่องจากที่บ้านมีถังซักผ้าแบบถังคู่ ที่ด้านซักเสีย ใช้ได้แต่ด้านปั่นหมาด จึงคิดหาวิธี เอาของเหลือใช้มาประดิษฐ์ ให้เกิดประโยชน์ สูงสุด เมื่อมี เครื่องปั่นผ้าต้านไข้หวัด 2009 แล้วเวลาทำความสะอาดห้องเรียนก็ไม่ต้องกลัวว่าเชื้อโรคต่างๆ จะเข้าสู่ร่างกาย” เด็กหญิง อร ณรัตน์ กล่าว

นางสุดา จ๋าก๋าง ครูที่ปรึกษา โครงงานเรื่อง ลดความกระด้างของน้ำด้วยเครื่องกรองน้ำแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ของนางสาวศุภลักษณ์ สาธร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ นางสาว บัวผัน ขุดลู นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนให้ฟังว่า เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ ทำให้ต้องใส่ใจสุขภาพของเด็กเป็นพิเศษ

“โรงเรียนต้องให้ความดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งด้านความเป็นอยู่ อาหารการกิน ต้องทำให้เด็กมีความสุข พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยเหตุนี้จึงมองว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของนักเรียน ซึ่งพบว่าน้ำใช้ในโรงเรียนมีหินปูนละลายอยู่มากจึงมีความกระด้างสูง หากดื่มเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียน และอาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้” นางสุดา อธิบาย

นางสาวศุภลักษณ์ สาธร เจ้าของโครงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ใช้หลักการง่ายๆ ของเครื่องกรองน้ำแบบชาวบ้าน คือใช้ หิน ทราย ถ่าน จัดใส่อุปกรณ์เป็นชั้นๆ 7 ชั้น เหมือนในห้องเรียน เพื่อทดสอบว่าสามารถลดความกระด้างของน้ำได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง

ด้าน โรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร ต.กุดน้ำใส อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ให้ความสำคัญกับอาหารทะเล เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางภาคอีสาน ซึ่งถือว่าอยู่ห่างจากทะเล แต่ตามตลาดนัด ก็สามารถหาซื้อ อาหารทะเลรับประทานได้ อยู่มาวันหนึ่ง เด็กหญิงวิไลวรรณ ทองคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รับประทานอาหารทะเลจนเกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย จึงทำให้เกิดการสงสัยและทดลองหาฟอร์มาลีนในอาหารทะเล จึงเกิดโครงงานดังกล่าวขึ้น โดยมี เด็กหญิง ชลิตา สุวรรณกลาง และเด็กหญิงมัลลิกา มีวิชา ร่วมทดสอบด้วย

“โครงการที่เกิดขึ้น เรื่อง การตรวจหาสารฟอร์มาลีนในอาหารทะเล เราใช้วัสดุจากธรรมชาติ คือใบมะยม โดยการนำมะยมมาบดแล้วคั้นเอาน้ำมาเป็นสารทดลอง หลังจากนั้นนำอาหารที่สงสัยไปแช่น้ำเปล่า บริมาณ 3 ml ทิ้งไว้ซักพัก นำน้ำที่ได้เทใส่ หลอดทดลองที่มีน้ำใบมะยม เขย่าให้เข้ากันสังเกตว่า ถ้าน้ำมะยมตกตะกอนแสดงว่าอาหารนั้นมีสารฟอร์มาลีนผสมอยู่”เด็กหญิงวิไลวรรณ อธิบาย

นอกจากนี้ เด็กๆ โรงเรียนจตุรัสวิทยาคารยังนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้าน สามารถนำวิธีทดลองดังกล่าว ไปใช้ทดสอบอาหารทะเลที่ซื้อมาบริโภค อีกด้วย



หลากหลายโครงงานวิทยาศาตร์ที่ส่งผลให้เด็กเยาวชนหันมาสนใจใส่ใจสุขภาพรอบตัวเหล่านี้ เกิดจากการสนับสนุนทุนดำเนินงานโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552

‘ค่ายอาสา’งานสร้างคน ที่ยังไม่ตกเทรนด์

อาจไม่น่าสนใจ เลยไปถึง‘เชย'ด้วยซ้ำ หากคนหนุ่มสาวยุคนี้จะยังเชื่อกันว่า ‘การออกค่าย’ เป็นกิจกรรมสร้างประโยชน์ให้กับพวกเขาและสังคม ควรค่าแก่การอุทิศเวลาเพื่อใช้ไปในวันว่าง

ถึงเช่นนั้น มีคนหนุ่มสาวอีกไม่น้อยที่ยังสนใจในกิจกรรมในรูปแบบนี้ อาจด้วยพวกเขาและเธอเชื่อร่วมกันว่า แม้จะผ่านไปกี่ยุคสมัย 'ค่าย'ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญสุดคลาสสิกสำหรับสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนได้ดีอยู่เสมอ



เหมือนอย่างที่ 'จักษ์' ประจักษ์ น้อยเหนื่อย นิสิตนักกิจกรรม ว่าที่ครูหนุ่ม จากรั้วมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เล่าความเชื่อแบบคมๆและน่าสนใจว่า การออกค่ายคือหน้าต่างบานหนึ่งที่เปิดโลกทัศน์และสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ชีวิต เพราะทุกคนต่างรู้กันดีว่าประสบการณ์ที่ได้มานี้ไม่เคยมีขายที่ใด ดังนั้นใครอยากได้ต้องเดินเข้าไปคลุกคลีด้วยตัวเอง ซึ่งนี่คือสาเหตุที่เมื่อ 'ค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ' ย้อนรอยครูโกมล โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง ถูกสร้างขึ้น เขาย่อมพาตัวเองไปเป็นชาวค่ายอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

อาจเพราะภาพลักษณ์เก่าๆของการออกค่าย มักหยุดแค่เพียงการสร้างวัตถุ ที่รอวันผุกร่อนไปตามเวลาเท่านั้น เมื่อค่ายอาสาพัฒนาฯได้ถูกเริ่มขึ้น โจทย์แรกที่วางไว้ควบคู่กับการศึกษาในประเด็นต่างๆคือการสลัดคราบภาพแสนเก่าดั่งที่ว่านี้

วีรินทร์วดี สุนทรหงส์ (ติ๊ก) ผู้จัดการโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ อธิบายที่มาและจุดประสงค์ของกิจกรรมให้ชวนขบคิดว่า การออกค่ายในอดีตมักมีเป้าหมายที่การสร้างวัตถุต่างๆให้กับชนบทเช่น การสร้างโรงเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วม ซึ่งเยาวชนที่ผ่านกิจกรรมอาจจะรู้สึกมีความสุขจากการให้และชุมชนก็อาจได้รับประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างที่ได้มา แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้ก็รอวันเสื่อมไปตามกาลเวลา เมื่อมองย้อนกลับไปจะรู้สึกได้ว่ามันแทบไม่มีคุณค่าอะไรหลงเหลืออยู่เลย เป็นเรื่องยากที่จะตอบให้ได้ว่าเมื่อเยาวชนได้ผ่านกิจกรรมไปแล้วเกิดกระบวนการเรียนรู้อะไรบ้าง ชุมชนได้อะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อจะสร้างค่ายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งจึงควรจะยึดแนวทางที่สามารถปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้เกิดกับผู้ร่วมกิจกรรม คงอยู่คู่ติดตัวได้ไปตลอด




เดิมทีนั้นค่ายอาสาพัฒนาฯเคยถูกริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี49 และได้รับกระแสตอบรับที่ดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมทั้งหมดจะเริ่มในช่วงปิดเทอมทั้งสองภาค ซึ่งก่อนจะถึงจุดเริ่มต้นครั้งต่อไปในตุลาคมนี้ มูลนิธิโกมลคีมทอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้อบรมกลุ่มนำร่องผู้นำค่าย โดยการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่สนใจ ประมาณ60คน เพื่อเข้าร่วมพัฒนาองค์ความรู้และสร้างทัศนคติการจัดค่ายแบบใหม่นี้ก่อนไปต่อยอดในสถาบันของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง โดยล่าสุดได้จัดไปเมื่อ12-15สิงหาคม ที่ผ่านมานี้นี่เอง

สำหรับกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกถ่ายทอดให้กับแกนนำกลุ่มนี้ได้ถูกสอดแทรกผ่านเนื้อหาอื่นๆที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของวัยรุ่น อาทิ การสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของการทำงานค่ายอาสาที่ปราศจากเหล้า บุหรี่ การเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชน ด้วยการให้เยาวชนมีโอกาสพักร่วมกับชาวบ้านใน ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม รวมถึงการนำองค์ความรู้ ที่ทันต่อสถานการณ์อย่างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมในบทเรียนครั้งนี้ด้วย

เปรมฤดี มิตรชื่น (ตุ๊ก) บัณฑิตใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเล่าถึงประสบการณ์ภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ว่า สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือการลงไปสัมผัสกับวิถีชีวิตจริงๆของชาวบ้าน ทำให้ได้เห็นมุมมองที่มีต่อวิถีชีวิตประจำวัน ต่อปัญหาที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป เพราะแต่ละชุมชนย่อมมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป มีวิธีการมองและแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน

เธอ ยกตัวอย่างกรณีของบ้านที่ไปร่วมพักอาศัยว่า แม้จะไม่ใช่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญนัก แต่ปัญหาที่ครอบครัวบุญธรรมของเธอได้พบคือการไม่มีที่ดินทำกิน และสาเหตุที่ทางการอ้างกับชาวบ้านนั่นคือ การที่พ่อแม่บุญธรรมของเธอไปรุกล้ำทำกินในพื้นที่ของรัฐนั้นเอง

"ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ชาวบ้านยืนยันว่าพวกเขาทำมาหากินในที่ตรงนั้นมานานแล้ว แต่วันหนึ่งทางการก็มาไล่เพราะอ้างว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นเขตของรัฐ จากที่เคยเสียค่าเช่าที่กับระบบสหกรณ์ชุมชนในราคาถูก ก็ต้องเสียให้กับกรมธนารักษ์ในราคาที่สูงขึ้น เป็นที่มาของหนี้สิน เพราะรายได้ไม่พอกับต้นทุนที่ต้องเสียไป"

'ตุ๊ก' บอกว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ยินคำว่า 'ปฏิรูปที่ดิน'หรือ'ขบวนชาวบ้าน'ไปกระทั่ง'โฉนดชุมชน'ขึ้นมา ตลอดเวลาที่นั่งฟังครอบครัวของเธอพูดคุยกัน เช่นเดียวกับการเปิดมุมมองในเรื่อง สวัสดิการชุมชน บัญชีครัวเรือน ซึ่งทั้งหมดเป็นวิธีการที่ชาวบ้านพยายามจะเรียนรู้เพื่อใช้แก่ปัญหา



ไม่ต่างจาก 'จักษ์' ที่บอกในทำนองเดียวกันว่า ในแต่ละชุมชนจะมองปัญหาไม่เหมือนกัน บางวิธีเราอาจไม่เคยได้เรียนในตำราแต่อาจเป็นวิธีที่คนในชุมชนนั้นคิดขึ้นเองและเลือกใช้เป็นทางแก้ปัญหาของตัวเอง

ว่าที่ครูหนุ่ม ที่เอ่ยปากว่า มักใช้วิธีการสอนหนังสือให้เด็ก เพื่อเบิกทางจากเด็กไปสู่การได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านยังบอกอีกว่า การมาร่วมอบรมในครั้งนี้เสมือนเป็นการเปลี่ยนทัศนคติของเขาเกี่ยวกับการออกค่ายเลยก็ว่าได้ จากที่เคยคิดว่า การมาออกค่ายคือการที่คนต่างถิ่น ที่มีการศึกษามากกว่าชาวบ้านมักเป็นฝ่าย’ให้’ หากแต่การมาครั้งนี้เขาเองต่างหากที่เป็นฝ่าย ’รับ’ กลับออกไป การศึกษาในระบบที่คนส่วนใหญ่ยึดมั่นถือมั่น เอาเข้าจริงมันกลับใช้แก้ปัญหากับทุกเรื่องไม่ได้ ความพยายามเชื่อมโยงข้อดีของแต่ละส่วน มาอยู่ร่วมกันเป็นพลังของชุมชนน่าจะเข้าท่ากว่าด้วยซ้ำ

"แต่ผมก็มีประโยชน์เหมือนกันนะ ผมก็แนะนำพ่อบุญธรรมไปในเรื่องของการดูแลสุขภาพ บอกเขาว่าอย่ากินเหล้ามากเพราะมันจะเป็นโทษอย่างไร มีเวลาก็สอนหนังสือให้กับเด็กๆที่นั่น" ’จักษ์’ พูดพลางหัวเราะกับความสุขจากประสบการณ์ใหม่

เหนืออื่นใด เกือบทั้งหมดของผู้ร่วมกิจกรรมต่างมองเห็นคล้ายกันว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากของกิจกรรมนี้คือ การที่พวกเขาได้มารู้จักและแลกเปลี่ยนระหว่างกันกับเพื่อนต่างสถาบัน ทำให้เห็นความคิด เห็นแนวทางของแต่ละคนโดยมีจุดร่วมกันตรงที่ทั้งหมดอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรหัวใจนักกิจกรรมคนหนุ่มสาวเหล่านี้ยังมองว่าการทำค่ายซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาสมาชิกไปมองเห็นชีวิตจริงภายนอกยังคงเป็นวิธีเรียนรู้หนึ่งที่สร้างประโยชน์

แต่ค่ายที่ทำขึ้นต่อจากนี้ต้องไม่ใช่ค่ายที่เน้นที่การสร้างวัตถุแล้วจบไปในค่ายเดียวแน่นอน ค่ายที่ทำต้องเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสุข ทั้งสุขทางกาย สุขทางใจ ให้เป็นค่ายที่ต่างคนต่างเข้าใจและพยายามจะเรียนรู้ ปรับตัวอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น รู้จักเอื้อเฟื้อ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ" ทั้ง 'จักษ์' และ 'ตุ๊ก' ลงความเห็นถึงแนวทางการสร้างค่ายแห่งความสุข โดยไม่มีเงื่อนไขของวัตถุมาบดบัง

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"ละคร"กระบวนการแสดงจากจิตเพื่อสังคมมีปัญญา

"ศาสตราที่กล้าแกร่ง หรือแรงแห่งศรัทธา สิ่งใดจะนำพา ซึ่งหนทางดับทุกข์?"

แง่คิดดีๆ จากละครเวทีพุทธจินตนาการ เรื่อง "สัทธา มหาบุรุษ" ของกลุ่มนักศึกษาที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 กรกฎาคม 2552 กลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันได้ร่วมแสดงละคร ณ หอศิลป์กรุงเทพมหานคร

โครงการละครสะท้อนปํญญา ที่นักศึกษาจากหลายสถานบันนำมาแสดงครั้งนี้ ได้ผ่านมาฝึกซ้อม และขัดเกล้าเนื้อเรื่องจากผู้กำกับละครเวทีมืออาชีพ ทำให้เราได้ชม และเห็นการแสดงที่สื่อสะท้อน ทั้ง ปัญหาของสังคม ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจ โดยเรื่องที่นักศึกษานำมาแสดง นั้น แต่ละสถาบันได้มีการจัดเตรียมกันมาเป็นอย่างดี

อาทิเช่น การแสดงของมหาวิทยาลัยราชฏักสวนสุนันทา เป็นเรื่องครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ในเรื่องกล่าวถึงครอบครัวที่มีลูกยาก และเพราะความต้องการจึงนำไปสู่ปัญหาโดยฝ่ายหญิง ยินยอมที่จะให้สามีไปมีลูกกับเพื่อนสนิทเพื่อฝากท้อง แต่ข้อเท็จจริงทั้งสามี และเพื่อนกลับแอบมีความสัมพันธุ์กันก่อนหน้านั้น เรื่องจึงเกิดขึ้นเมื่อเพื่อนไม่ยอมให้ลูก ส่วนสามีเองก็ไม่เลือกเพื่อน และนั้นก็คือปัญหาของความที่ไม่รู้จักพอ และความไม่สมดุล



ถ้าจะมองลึกลงไปนั้นอาจจะมองได้เป็นเรื่องของศีลธรรม และความถูกต้องเรื่องนี้คงจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่คิดจะทำเรื่องแบบนี้เพราะปัญหามันจะไม่อยู่แค่นี้แน่นอน

ส่วนละครจาก มหาวิทยาลัยราชฏักสวนดุสิต ก็มีละครสะท้อนปัญหาของสังคมเช่นกันชื่อเรื่อง "เงินตราบาป" ในเรื่องก็เล่าถึงความยากจนของครอบครัวชนบท ลูกซึ่งต้องการจะตอบแทนพระคุณของพ่อ จึงเข้ามาหางานทำในเมือง ตอนแรกก็ทำงานเป็นแค่พนักงานธรรมดา แต่ด้วยความที่ต้องการเงินมากขึ้น และเห็นเพื่อนมีเงินจับจ่ายซื้อของราคาแพงก็มีความอยากได้ จึงเข้าสู่อาชีพขายบริการ

แต่ต่อมาพ่อที่อยู่บ้านนอกได้เข้ามาพบว่าลูกทำในสิ่งซึ่งพ่อไม่ต้องการจึงทำให้พ่อเสียใจมาก

ละครได้สื่อถึงความเหลื่อมล้ำของชนชั้นการสนองตัณหาในทางที่ไม่ถูกต้อง และการตอบแทนพระคุณที่สามารถทำได้หลายวิธีที่น่าจะนำมาใช้ได้ แต่ไม่เลือก ในเรื่องยังกล่าวถึงปัญหาในสถานที่ท่องเที่ยวในยามกลางคืนที่เป็นแหล่งก่อปัญหาต่างๆ มากมาย



ในการแสดงของแต่ละสถานบันนั้นต้องยอมรับว่าสะท้อนปัญญาและปัญหาต่าง ๆ ของสังคม ครอบครัวและเศรษฐกิจได้ดี

สำหรับนักศึกษาที่ได้ร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ บอกว่า จะนำความรู้และประสบการณ์จากละครสะท้อนปัญญาที่นำมาแสดงไปปรับใช้แนะนำผู้ที่ประสบปัญญาให้ได้รู้ถึงปัญญา และวิธีแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต้องขอขอบคุณสสส. ที่หยิบยื่นโอกาสดีๆ มาให้ และสนับสนุนโครงการดี ๆ เช่นนี้




ด้าน พฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการละครสะท้อนปัญญา กลุ่มมะขามป้อม เล่าวว่า ปลายปีที่ผ่านมา สสส.ต้องการสื่อประเเด็นสื่อสุขภาวะทางปัญญา และละคร ก็เป็นหนึ่งสื่อที่ได้รับเลือก โดยได้รับทุนจาก สสส. ลงพื้นที่ภาคกลาง กทม. และภาคเหนือ คัดเลือกภาคละ 10 ทีม ทีมละ 5 คน โดยให้เด็กๆ เป็นผู้คิดเนื้อเรื่อง ส่วนมะขามป้อม จะช่วยในมุมของพี่เลี้ยง เพื่อให้การสะท้อนมุมมองของเด็กที่มีต่อสังคมได้สื่อออกมาจากเด็กจริงๆ

"เนื้อเรื่องที่เห็นค่อนข้างหลายหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การศึกษา แต่นั้นก็เป็นสิ่งที่เราไม่ปิดกั้นเพื่อให่ได้รูปแบบ ที่แตกต่างตามความถนัดของนักศึกษาแต่ละสถาบัน เราอยากดูว่าเกิดอะไร จากการที่ได้ทำงานกับเยาวชน ทำให้เราต้องปรับใจ ปรับวิธีคิด เพราะเด็กเขาต้องการแสดงศักยภาพ เราเป็นเพียงผู้พยายามดึงพลังที่เขามีอยู่ออกมาเท่านั้น"

ด้านตัวแทนนักศึกษา บอกว่า หลังจากจบโครงการนี้ จะนำสิ่งที่ได้ไปพัฒนาละครในมหาวิทยาลัย เราเริ่มจากอยากลองทำ และทำได้จริง ดังนั้นความรู้ที่ได้จะนำไปใช้ในการทำละครของมหาวิทยาลัย ตรงนี้เป็นการเพิ่มทักษาเป็นการพัฒนาเพื่อสร้างละครที่ดีออกมา

ส่วนผู้เช้าชมต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่ดี เด็กคิดจากเรื่องที่ใกล้ตัวสื่อออกมาแล้วเข้าใจง่าย

ขณะที่ผู้ชมรายนี้ที่เพิ่งอายุ 18 ปี กล่าวถึงละคร "สัทธา มหาบุรุษ" ว่า ทำให้ได้รับความรู้ รู้จักคิดเป็น ว่าการจะหาทางดังทุกข์ ต้องดับที่ต้อนตอของความทุกข์ ละครสอนให้เรารู้ว่า "ทุกข์" คืออะไรเราต้องไปดับที่ตรงนั้น แล้วเราจะพ้นทุกข์

ด้านผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า เรื่อง "ของหาย" ที่ในละครต่างก็โทษเพื่อนคนนั้นคนนี้ ทำไมไม่ดูว่าของที่หายนั้นอาจเกิดการจากเผลอเรอของเราเอง

"ละคร" แม้จะรูดม่านจบไปแล้ว แต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่าลืมหยิบแง่คิดดีๆ ของละครกลับไปใช้เตือนสติตัวเองละ

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รพ.ลำพูน รักษาผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล

"ระบบการให้บริการด้านสุขภาพของไทย มีปัญหาเหมือนกันหมด คือ หมอทำงานมาก คนไข้ในโรงพยาบาลทุกจังหวัด มีจำนวนมาก บางแห่งมีจำนวน 1-3 พันคน เมื่อ แพทย์ไม่มีเวลาพูดคุยกับคนไข้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ และสั่งจ่ายยา จึงทำให้คนไข้บางคน ไม่รู้จักการเสริมสร้าง หรือ รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นอีก แต่ก็ไม่ปฏิบัติ ซึ่ง เป็นระบบการรักษาที่มีมาตั้งแต่อดีต" ภาพรวมของโรงพยาบาลโดยทั่วไป ซึ่งสะท้อนออกมาจากมุมมองของ นายแพทย์วิรัช พันธุ์พานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน



"ผมเคยได้อ่านผลการศึกษาวิจัย ในประเทศเยอรมนี ระหว่างหมอกับคนไข้ ที่ได้มาพูดคุยปัญหา เรื่องการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ผลการศึกษาทราบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ นั้น ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน เพราะหมอใช้เวลาในการรักษาคนไข้ ไม่มีเวลา ปริมาณคนไข้ที่รอ มีจำนวนมาก แต่ทั้งหมอ และผู้ป่วยร้อยละ 90 อยากให้มีการปรับเปลี่ยนการรักษาพยาบาล ให้หมอได้มีเวลาในการพูดคุย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ป่วย หรือไม่ทำให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงยิ่งขึ้น"

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ชัดว่า โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องเป็นผู้ตั้งรับคนป่วยที่จะมารับการรักษา จึงคิดว่าบางโรคที่ควรจะมีการรักษาในรูปแบบของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความเสี่ยง ฝึกวิธีคิดให้ผู้ป่วย และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนชนนั้นๆ จะทำให้จำนวนผู้ป่วยลดน้อยลง

ประกอบ กับนโยบายบัตรทองของรัฐบาล มีส่วนทำให้จำนวนคนไข้มากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงสาเหตุจากความไม่มั่นใจของคนไข้ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก และหมอกลัวการโดนฟ้องร้อง จึงต้องส่งผู้ป่วยมารับการรักษาโรงพยาบาลจังหวัดมากขึ้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลใจ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะลดปริมาณคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาในแต่ละวันลงครึ่งหนึ่ง คนที่จะเข้ามายังโรงพยาบาลได้นั้น จะต้องเป็นคนไข้ที่ส่งต่อจากโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน เท่านั้น หรือเป็นคนไข้ที่หมอนัด คนไข้ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น สำหรับคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคธรรมดา ไม่มีความซับซ้อน จะให้เข้ารับการรักษานอกโรงพยาบาล หากปริมาณคนไข้ลดลง แพทย์จะได้มีเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ กับคนไข้ อย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องที่โรงพยาบาลกำลังจะดำเนินการในขณะนี้ คือลดปริมาณคนไข้



นายแพทย์วิรัช พันธุ์พานิช กล่าวว่าเมื่อปีพ.ศ. 2551 โรงพยาบาลได้เริ่มอบรมสร้างแนวคิดใหม่ ให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย จำนวน 17 แห่ง ในเขตอำเภอเมืองลำพูน ให้มีความรู้ด้านสุนทรียสนทนา การพูดคุยกับคนไข้ รวมถึงได้นำเอากระบวนการพุดคุยกับคนไข้มาใช้ ให้คนไข้ดูแลตนเอง สำหรับคนป่วยที่ป่วยไม่มาก คนที่มีความเสี่ยง สามารถพูดคุยให้ป้องกันเอง โดยให้กลุ่มงานเวชกรรมสังคม เข้าไปคลุกคลีกับชุมชน ให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 1,500 คน ได้กลับเข้าไปอยู่ในชุมชน สร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ให้ชุมชนดูแลกันเอง และจัดตั้งเป็นชมรมของผู้ป่วย ให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้ คน ไข้คนไหนที่ปฏิบัติตัวได้ดี ก็จะเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่น โรงพยาบาลจะเป็นพี่เลี้ยง โดยใช้ทีมของสถานีอนามัยตำบล และอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งการเข้าถึงชุมชน ส่งผลให้ได้สร้างเครือข่ายในแต่ละชุมชนด้วย อีกทั้งยังทำให้หน่วยงานองค์กรปรกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท. ) และองค์กรเอกชนในพื้นที่ มีโอกาสทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายที่สร้างขึ้น

ภายในปี 2552 นี้ โรงพยาบาลจะได้เปิดให้บริการรักษาคนไข้นอกโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เพื่อลดความแออัดของคนที่จะเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีจำนวนวันละประมาณ 1 พันคน ทั้งนี้ได้เซ็นสัญญาร่วมกับ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็น โครงการระยะสั้นที่จะเช่าอาคาร สถานที่ บริเวณถนนสันเหมือง ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน เป็นสถานที่ให้บริการรับผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล สำหรับแผนงานระยะยาวโรงพยาบาล จะสร้างแผนกรับผู้ป่วยนอก หรือ Gate Keeper บริเวณถนนเลียบทางรถไฟ ใกล้กับวัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน โดยได้รับการสนับสนุนที่ดินจาก มูลนิธิพัฒนาอนามัยเชียงใหม่ จำนวน 19 ไร่ จัดสร้างโรงพยาบาลดังกล่าว เน้นการดูแลผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยโรคไม่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน

ปัจจุบันโรงพยาบาลได้พัฒนา ปรับปรุงคุณภาพ การให้บริการ ตามมาตรฐานของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ให้บริการด้วยความรวดเร็ว สะดวกสบาย และใช้การดูแลผู้ป่วย ด้วยความรัก หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ หรือ Humanized Health Care ได้จัดอบรมให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนแนวคิด การให้บริการ แก่เจ้าหน้าที่ ในรูปแบบ Humanized Health Care และ สุนทรียสนทนา เพื่อให้พยาบาลที่ต้องอยู่กับคนไข้ วันละ 8-10 ชั่วโมง ได้เกิดการให้บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ซึ่งรูปแบบการให้บริการของโรงพยาบาลในอนาคต จะต้องคำนึงถึง 3 กลุ่ม คือ คนไข้ เจ้าหน้าที่ และสังคม

หากสามารถเปลี่ยนแนวคิด ของบุคลากร แพทย์ พยาบาลได้ก็จะทำให้ระบบการบริการด้านสาธารณสุขเกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น อีก ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงพยาบาลของรัฐบาล ที่หลายคนมองว่าบริการไม่ดีเหมือนกันกับเอกชน เหมือนกับโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งหากได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ การบริการ ให้ดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ ผู้ป่วย ชุมชน ได้ดูแลกันเอง ก็จะทำให้ การพัฒนาคุณภาพการบริการเปลี่ยนแปลงไป แต่ตนมองว่า การปรับเปลี่ยนความคิด ของพยาบาล เจ้าหน้าที่ คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นเรื่องยากที่สร้างความเข้าใจให้ทุกคน เข้าใจคนรอบข้าง มีความรักและเห็นใจผู้ป่วย เหมือนกับตัวเอง หรือญาติของตัวเอง

ทั้งนี้ การให้บริการรูปแบบใหม่ จะประสบผลสำเร็จอยู่ที่คน ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญ หากเกิดกระบวนการคิดดี แต่คนบุคลากรของโรงพยาบาลทำไม่ได้ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จแน่นอน ทั้งนี้ประชาชนควรจะมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถดูแลตนเอง จากโรคภัย ไข้เจ็บต่างๆได้ การ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับตนเอง เป็นเป้าหมายสูงสุด ซึ่งขณะนี้การปรับรูปแบบใหม่ ต้องทำไป เรียนรู้ไป ต้องแลกเปลี่ยนความรู้ ทำงานร่วมกับสถานีอนามัย รวมถึงทำให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงกรอบ แนวคิด ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าหากได้ปรับรูปแบบการให้บริการ ปรับวิธีการรับคนไข้ จะทำให้โรงพยาบาลเปลี่ยนไป คนไข้เข้ามาในโรงพยาบาลมีจำนวนน้อยลง โรงพยาบาลจะมีคุณภาพการให้บริการมากขึ้น เป็นการให้บริการด้วยใจ ทำให้เจ้าหน้าที่ มีความรัก รู้สึกที่ดีต่อผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามในอนาคตจะต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในชุมชน ช่วยกันดูแลผู้ป่วย และเสริมสร้างสุขภาพคนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี ซึ่ง สอดคล้องกับทิศทางของกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต ที่มีนโยบายจะสร้างโรงพยาบาลเสริมสร้างสุขภาพประจำตำบลขึ้น และโรงพยาบาลลำพูน ก็จะเป็นจุดเล็กๆที่เริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลง การให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ให้คนไทยได้เข้าถึงบริการในรูปแบบใหม่ ไม่ต้องรอพบแพทย์นานๆเหมือนแต่ก่อน และได้รับการบริการจากพยาบาล เจ้าหน้าที่ ด้วยความรัก หัวใจความเป็นมนุษย์

ด้วยผลงานที่โดดเด่นของโรงพยาบาลลำพูน สถาบัน พรพ.ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงคดโรงพยาบาลลำพูน นำไปสู่ “โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ กุมภาพันธ์2552 – มีนาคม2554



นางพิกุล คำอิ่น อายุ 56 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เปิดเผยว่า เป็นโรคเบาหวานจากกรรมพันธุ์ เริ่มเป็นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ต้องไปรักษาตรวจเช็คระดับน้ำตาล ตามที่หมอ โรงพยาบาลลำพูนนัดเป็นประจำทุกเดือน ในวันที่หมอนัดก็ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลแต่เช้า ทุกครั้งที่ไป คนไข้ก็จะเยอะมาก กว่าจะได้รับการตรวจ และคุยกับหมอเสร็จประมาณ 3 -4 โมงเย็น บางครั้งก็เบื่อที่จะต้องมารอ ก็เลยให้สามีขับรถมาส่งตอนเช้า และตอนเย็นก็ให้มารับ เพราะไม่อยากให้มานั่งรอด้วยกัน

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจะเยอะมาก แต่เจ้าหน้าที่ก็ให้บริการดี หมอก็แนะนำเรื่องการกินอาหาร ควบคุมน้ำตาล แต่ก็ได้คุยกับหมอประมาณ 2-3 นาที ถ้าโรงพยาบาลสามารถลดปริมาณคนไข้ลงได้ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะทำให้ได้รับการตรวจเร็วขึ้น และมีเวลาไปทำงานอย่างอื่นด้วย เมื่อ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการจัดตั้งชมรมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในตำบล ตนก็ได้มีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเหมือนกัน อีก ทั้งยังได้รับการตรวจจากแพทย์ที่โรงพยาบาลลำพูน เหมือนกับไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล แต่แตกต่างกันคือมีความรวดเร็วกว่า และใกล้บ้าน รอตรวจเพียงครึ่งวันก็เสร็จ ผู้ป่วยที่มารอตรวจมีจำนวนไม่มาก 60-70 คน



นายถวิล ทาสีคำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน กล่าวว่า ราษฎรในหมู่บ้าน ป่วยเป็นโรคเบาหวานกันมาก ต้องไปพบหมอทุกเดือน หลังจากที่เทศบาลได้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลบ้านกลางขึ้น ก็ ได้มีการทำงานร่วมกับสถานีอนามัย และโรงพยาบาลลำพูน โดยเฉพาะการจัดตั้งชมรมผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทำให้คนป่วยได้มีโอกาสมารวมกลุ่ม ทำกิจกรรม มีความ รู้ ความเข้าใจในการดูแลตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และยังได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาไปรอที่โรงพยาบาล เป็นผลดีกับคนที่ยังไม่เจ็บป่วย จะได้มีความรู้ ในการป้องกันตนเอง ไม่ให้เป็นโรคดังกล่าวด้วย

"นับว่าเป็นผลดีต่อหลายๆฝ่าย โดยเฉพาะประชาชน ควรจะได้รับการส่งเสริม การดูแล รักษาสุขภาพให้มากๆ"ผู้ใหญ่ถวิล กล่าวในที่สุด

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สุขที่ผู้สูงอายุสัมผัสได้จาก "เพื่อนช่วยเพื่อน"

ความที่แปลกหน้าและไม่คุ้นชิน ทำให้ประเมินไม่ได้เลยว่าความร้อนของแดดในตอนสายวันนั้นจะมากกว่าวันอื่นๆที่ผ่านมาหรือไม่

ที่แน่ๆ แม้จะปริปากบ่นบ้างอยู่บ้าง หากแต่สองเท้าหลากคู่ของบรรดายาย ย่า กลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุยังคงก้าวต่อไปอย่างไม่แยแสกับบรรยากาศ และด้วยความไม่คุ้นเคยอีกเช่นกัน ที่ทำให้ยากจะเดาได้ว่าจุดหมายของการเดินทางในครั้งนี้สิ้นสุด ณ จุดใด



“เอ้า เลี้ยวขวาข้างหน้าก็ถึงแล้ว เอาบ้านยายคำก่อนล่ะกันมันใกล้ดี” ‘ยายหนูน้อย’ (หนูน้อย โคตรรวิทย์ ) ประธานชมรมผู้สูงอายุชุมชนเชียงหวาง-สร้างลาน ตะโกนพูดขึ้นลอยๆ ทว่าช่วยคลายสงสัยให้ผู้มาเยือนที่เดินรั้งท้ายได้พอสมควร

นอกจากการสร้างแกนนำอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ(อผส.) การให้ความรู้ด้านการออกกำลังกายและการดูแลรักษาสุขภาพให้สมกับวัยแล้ว ‘เดินเยี่ยมบ้าน’เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในโครงการ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ที่ชมรมผู้สูงอายุบ้างเชียงหวาง-สร้างลาน ต.เชียงหวาง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานีทำมาอย่างต่อเนื่อง

จริงอยู่ที่การเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างคนในชุมชนจะเป็นกิจวัตรที่ชาวบ้านในสังคมชนบทผูกพันและทำเป็นประจำอยู่แล้ว หากการสนับสนุนจากสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้ช่วยเติมเต็มกิจกรรมเคยชินดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งยังให้ความรู้และช่วยอบรมแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับสูงอายุ รวมไปถึงมอบทุนอื่นๆเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมดูแลสุขภาพในชุมชน



ยายหนูน้อย เล่าย้อนว่า ภายหลังจากตั้งชมรมผู้สูงอายุในชุมชนไม่นาน ได้ไปจดทะเบียนกับสมาคมผู้สูงอายุของจังหวัดซึ่งเชื่อมโยงกับสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยอีกทอดหนึ่งตามคำแนะนำของคนรู้จัก จากนั้นเมื่อมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุจึงได้ร่วมด้วยเรื่อยมา เช่นเดียวกับโครงการฯนี้ที่ต้องการให้ผู้สูงอายุในชุมชนเกิดกระบวนการร่วมดูแลสุขภาพซึ่งกันและเอง ในฐานะเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน สนิทสนมใกล้ชิด และเข้าใจกันมากที่สุด

ยายหนูน้อย เล่าต่อว่า “เวลาไปเป็นตัวแทนอบรมหรือมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในอำเภอและจังหวัดมาสอนเรื่องการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย พวกฉันจะเอาความรู้ที่ได้ไปบอกคนอื่นๆต่อตอนไปเยี่ยมบ้านนี่แหละ อย่างบางครั้งมีเจ้าหน้าที่อำเภอมาอบรมให้ที่อนามัย เพื่อนบางคนไม่ว่างไปฟังหรือเดินทางไปไม่ไหว พวกสมาชิกจะช่วยกันบอกต่อเรื่องเหล่านั้น หรือไม่ก็หาเวลาเจอกันที่ชมรมบ้าง”

“คนแก่ที่บ้านนี้มีเยอะ ที่สมัครเข้าชมรมมีประมาณ40-50 คน แต่ที่มาเป็นประจำนี่มีไม่มากหรอกสัก20คนเห็นจะได้ ใครว่างก็มาร่วม ไม่ว่างก็ไม่เป็นไร ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ตอนสายๆหลังทำบุญและ กินข้าวเช้าร่วมกันแล้ว จะแยกย้ายกันอาบน้ำที่บ้าน จากนั้นจะนัดกันที่ชมรม นั่งคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบว่าใครเป็นอย่างไรกันบ้าง อาการป่วยดีขึ้นไหม เวลานี้พอรู้ว่าคนไหนป่วยจะบอกกัน ถ้าสะดวกก็ออกไปเยี่ยมพร้อมกันเลย ถ้าไม่ก็อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้หรือมะรืนบ้าง อาจจะติดกับข้าวหรือผลไม้ไปฝาก อาทิตย์ละครั้งบ้าง 2อาทิตย์ครั้งบ้างตามแต่สะดวก”

“บางทีไปไม่มีธุระอะไร แต่รู้สึกว่าต้องมาเยี่ยมกันบ้าง พอเพื่อนต่างดีใจทั้งนั้น บางคนลูกหลานไปทำงานหมดไม่มีใครดูแล ชีวิตลำบาก พอไปหาเขาซึ้งมากน้ำตาไหลเลย ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ทิ้งกันหรอก”ยายหนูน้อยอธิบาย



ดวงตาที่คลอด้วยน้ำของยายคำ ขมิ้นเขียว คนชราที่อาศัยอยู่แต่เพียงผู้เดียวที่เพิงไม้ขนาดเล็กหลังเก่า เลขที่125 หมู่9 บ้างเชียงหวาง ยืนยันได้เป็นอย่างดี

“ใจหนึ่งดีใจที่ได้เจอเพื่อน ได้มาเยี่ยมเพื่อน ขณะที่อีกใจกลับรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก บางทีเราก็มีธุระต้องทำ จะมาทุกวันคงไม่ได้”สมาชิกชมรมฯคนหนึ่งตอบเบาๆเมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง"

ขณะที่ยายหนูน้อย ประธานชมรมฯ บอกอีกว่า ผู้สูงอายุมักมีอาการเจ็บป่วยและโรคบางอย่างที่คล้ายกัน เช่นที่ชุมชนนี้ที่ส่วนใหญ่มักเป็นเบาหวาน ปวดตามข้อ โรคกระเพาะ ซึ่งเวลาไปเยี่ยมบ้านนี่เองที่จะถือโอกาสบอกแนวทางปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนไปด้วย

“เวลาพวกฉันไปหาหมอได้ยาอะไรหรือหมอบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จะกลับมาบอกเพื่อนต่อ เช่นหน้านี้มันมีมะม่วงสุกเยอะแต่คนเป็นเบาหวานกินมากไม่ได้ ก็จะคอยเตือนกันว่าอย่ากินมาก เดี๋ยวน้ำตาลขึ้นหมอจะว่าเอา หรือฉันได้ยาสมุนไพรดีๆมาก็จะมาบอกเพื่อนที่ชมรมหรือตอนมาหาที่บ้าน อย่างน้ำต้มสุกที่ใส่ขวดมานี่ก็ต้มกับฟ้าทะลายโจร ฉันรู้มาว่ามันกินแล้วป้องกันโรคหวัดได้ก็บอกเพื่อนต่อ” ยายหนูน้อย ระบุ



ด้าน ‘หมอเพ็ญ’ (ลำเพ็ญ ศรีเชียงหวาน) หัวหน้าอนามัย ต.ศรีเชียงหวาน ที่แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกชมรมแต่ได้คลุกคลีกับผู้สูงอายุกลุ่มนี้มองว่า การที่ผู้สูงอายุได้มารวมตัวและร่วมแนะนำเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องดีมาก อย่างน้อยเมื่อมีข่าวเรื่องสาธารณสุขที่จำเป็นหรือมีหมอมาจากอำเภอมาตรวจเยี่ยม จะได้กระจายข่าวได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ยิ่งมีโครงการจากภายนอกร่วมสนับสนุนและให้เงินทุน กิจวัตรต่างๆที่เป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้วจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้สูงอายุจะได้รับประโยชน์

อย่างไรก็ตามในฐานะอนามัยเป็นห่วงว่า การให้ความรู้แบบผิดๆ ของผู้สูงอายุด้วยกันเองเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ยิ่งประเภทการใช้ยาลูกกลอนหรือยาสมุนไพรที่อีกคนหนึ่งใช้ดี แต่สำหรับอีกคนอาจใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นต้องเตือนชาวบ้านอยู่เสมอว่าไม่ควรใช้ยาใดๆนอกจากแพทย์สั่ง

“มีโครงการเพื่อนเยี่ยมเพื่อนก็ดีนะ เวลาอนามัยไปเยี่ยมก็ไม่ต้องไปคนเดียว เพราะมีสมาชิกชมรมไปด้วย หรือถ้าวันไหนอนามัยไม่ว่างพวกยายๆไปเยี่ยมจะมาบ้างเราเองเลย”หัวหน้าอนามัยพูดทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี

หลังจากเริ่มโครงการเมื่อปี 2550 ขณะนี้โครงการฯได้ดำเนินมาถึงปีสุดท้ายแล้วในปี 2552 ซึ่งนอกจากการประเมินประสิทธิภาพของโครงการฯที่ประสบความสำเร็จแล้ว การกำหนดแผนงานเพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินการต่อไปในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

อ.ธิดา ศรีไพพรรณ์ เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ องค์กรผู้ริเริ่มโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนที่ทำงานร่วมกับสสส. มองว่า หากต้องการให้แนวทางดังกล่าวถูกสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม เฉกเช่นปัจจุบัน ควรมีหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ในฐานะที่เป็นหน่วยราชการที่ใกล้ชิดชุมชนซึ่งมีงบประมาณเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้วเข้ามารับช่วงต่อแทนจึงเป็นที่มาของการระดมจัดประชุมโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ในทุกภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม ที่มีนายกอบต.ในฐานะผู้รับไม้ผลัดต่อเข้าร่วมเพื่อรับทราบและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง ‘ชุมชน’กับ’ส่วนท้องถิ่น’



“โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนได้สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้สูงอายุในชุมชนทั่วประเทศ เกิดการตั้งชมรมผู้สูงอายุและนำไปสู่แนวทางต่างๆที่ทำให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักว่ากลุ่มผู้สูงอายุคือกลุ่มที่มีค่ากับชุมชน ในขณะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ชุมชนต้องคิดว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่อย่างมีความสุข ไม่ถูกทอดทิ้ง”อ.ธิดา กล่าวและว่า

“ที่ผ่านมาเราได้ทำโครงการไปแล้วกว่า367ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมกับมองหาแนวทางขยายโครงการต่อไป รวมถึงการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งขณะนี้ได้มีหน่วยงานท้องถิ่นเต็มใจที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า195ชุมชน”เลขาธิการสภาผู้สูงอายุกล่าว

"เพื่อนช่วยเพื่อน" จึงเป็นโครงการที่มีคุณค่าและเป็นบทพิสูจน์องค์กรส่วนท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วยโจทย์ที่ว่าสามารถสานต่อแนวทางนี้ต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร

หากกระบวนการที่ว่ามาทั้งหมดประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนตามที่คาดหวังได้จริง ชีวิตผู้สูงอายุจะมีความสุขที่มั่นคงขึ้นอย่างแน่นอน

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิทยาศาสตร์สร้างสุขในโรงเรียน

“โครงงานวิทยาศาสตร์ทั่วไป มักเน้นไปที่การแข่งขัน เด็กที่เข้าร่วมจึงต้องเป็นเด็กเก่ง เรียนดี ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ทั้งที่ความเป็นจริงวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว หากพวกเขารู้จักสำรวจ วิเคราะห์และประเมินผลอย่างเป็นขั้นตอน นั่นละคือวิทยาศาสตร์แล้ว”คือทั้งปัญหาและข้อเท็จจริงที่ ชายกร สินธุสัย นักวิชาการด้านการบริการเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชนบท ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สะท้อนจากมุมมองในฐานะวิทยากรที่มีประสบการณ์ด้านอบรมวิทยาศาสตร์มายาวนาน


เมื่อรวมกับการหนุนเสริมจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จึงเป็นที่มาของ “โครงงาน(เชิง)วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า”
โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า คือโครงการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยแก่เด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่เน้นเนื้อหาไปในด้านการแก้ปัญหาสุขภาพ ทั้งพฤติกรรม อาหาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน โดยขั้นตอนเริ่มจากการรับสมัครครูแกนนำที่อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติการของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เข้าอบรม ก่อนนำแนวทางที่ได้ไปขยายผลต่อในแต่ละโรงเรียน ผ่านการสอนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรค่าย โครงงานวิทยาศาสตร์ หรือการเรียนการสอนในคาบเรียนปกติ ที่ชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหาใกล้ตัวจนอยากรู้สึกเปลี่ยนแปลง

ชายกร ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ อธิบายว่า โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า มีหัวใจสำคัญที่การปลูกฝังให้เด็กนักเรียนรู้จักการสำรวจสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมต่างๆในโรงเรียนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ เป็นการลดความทุกข์และสร้างความสุขในโรงเรียน ไม่ใช่การมุ่งแข่งขันหรือใส่ใจกับความเป็นเลิศทางวิชาการเหมือนโครงงานอื่นๆ ดังนั้นเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเรียนดี เพียงแค่สนใจและต้องการเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเป็นพอ



เนื้อหาโครงงานหลักในช่วงแรกที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องราวง่ายๆในรั้วโรงเรียนที่สะท้อนสภาพแวดล้อมหรือปัญหาสุขภาพที่นักเรียนประสบอยู่ อาทิ “โครงงานกำจัดขยะเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” “โครงงานฟ.ฟันยิ้มสวย ด้วยพี่ดูแลน้อง” “โครงงานสุขาน่าใช้” หรือโครงงานที่มีชื่อเก๋ๆว่า”การสำรวจดัชนีความสุขและความเครียดของนักเรียนป.6ในตำบลบ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน” ของนักเรียนโรงเรียนบ้านแพะพิทยา จ.แม่ฮ่องสอน
ด.ญ.สุพรรณษา ประเสริฐวิมล หนึ่งในทีมโครงงานวิทยาศาสตร์สำรวจดัชชีความสุขฯ เล่าถึงที่มาว่า ขณะที่ทำโครงงานครั้งนั้นอยู่ชั้นม.2 แต่นึกย้อนไปถึงสมัยที่เรียนอยู่ชั้นป.6กำลังจะเข้าเรียนม.1ที่โรงเรียนแห่งใหม่ จำได้ว่าช่วงนั้นรู้สึกเครียด กลัวว่าไปเรียนที่ใหม่จะไม่มีเพื่อน กังวลว่าการเรียนและการเดินทางยากขึ้น ช่วงเวลานั้นจึงรู้สึกไม่มีความสุขจนไม่ค่อยอยากจะทำอะไร ดังนั้นเมื่อครูที่โรงเรียนบอกว่าจะให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์จึงเลือกที่จะทำเรื่องนี้เพื่ออยากค้นหาคำตอบถึงความรู้สึกของคนอื่นๆบ้าง
“เริ่มสำรวจโดยการถามน้องๆป.6 ทั้งหมด7โรงเรียนในตำบลบ้านกาศ จ.แม่ฮ่องสอน พวกเขากำลังจะเตรียมย้ายโรงเรียนเพราะโรงเรียนที่เรียนอยู่ไม่ได้สอนชั้นม.1 จึงรู้ว่าส่วนใหญ่แล้ว ทุกคนมีความเครียดคล้ายๆกัน ต่างกังวลไม่รู้ว่าไปเรียนโรงเรียนใหม่แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง จะมีเพื่อนไหม คุณครูดุรึเปล่า เริ่มคิดถึงเพื่อน”
โครงงานสำรวจในครั้งนั้นจึงได้ผลสรุปที่เป็นสาเหตุของความเครียดของนักเรียนและยังเป็นจุดริเริ่มของโครงงานวิทยาศาสตร์อื่นต่อไปคือ”สุขภาพดีด้วยเสียงเพลง”และ”ก่อนบ่าย15นาทีมีความสุข” ซึ่งเป็นโครงงานที่สอดแทรกกิจกรรมลดความเครียดให้แก่นักเรียนชั้นป.6 เสมือนเป็นภาคต่อจากงานชิ้นแรก โดยโครงงานสุขภาพดีด้วยเสียงเพลงนั้นเป็นการขออนุญาตครูเปิดเพลงผ่านเสียงตามสายภายในโรงเรียนเพื่อเป็นวิธีช่วยลดความเครียด เช่นเดียวกับอีกโครงงานที่จัดให้มีกิจกรรมเต้นแอโรบิคออกกำลังกาย ที่นักเรียนทุกระดับต่างชอบและมีความสุขมากขึ้น


ด้านอรุณศรี วัลลภ ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนบ้านแพะพิทยา ที่ปรึกษาโครงงานฯ เล่าว่า โครงงานการสำรวจดัชนีวัดความสุขฯเกิดจากประเด็นใกล้ตัวของนักเรียนเอง การที่เด็กเหล่านั้นมีประสบการณ์มาก่อน ทำให้เข้าใจกลุ่มเด็กที่ไปสำรวจ เมื่อเข้าใจแล้วการซักถามเพื่อเก็บข้อมูลจึงทำได้ง่ายขึ้น ข้อมูลที่ได้จึงสะท้อนความรู้สึกได้ใชัดเจน
“นอกจากจะช่วยลดความเครียดและสร้างสุขให้แก่นักเรียนกลุ่มตัวอย่างแล้ว กิจกรรมที่ทำเช่นการออกกำลังกาย การร้องเพลงก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นแต่ทั้งหมดยังนำมาสอดแทรกกิจกรรมของโรงเรียนให้แก่นักเรียนชั้นอื่นๆด้วย จะว่าเป็นโครงงานฯที่ช่วยลดความเครียดให้กับทุกคนในโรงเรียนก็ว่าได้”ครูอรุณศรีกล่าวและว่าสิ่งนี้คือปัจจัยที่ทำให้โครงงานฯได้รับรางวัลดาวทองการประกวดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับวิถีชีวิตเมืองในหมอกครั้งที่8 ซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัด

สำหรับในช่วงระยะที่2นี้ ชายกร อธิบายว่า โครงการจะจัดลำดับสำคัญและมุ่งการพัฒนาด้านสุขลักษณะในโรงเรียน ทั้งในด้านอาหาร โรงครัว สิ่งแวดล้อม ห้องน้ำ หอพัก ที่ทิ้งขยะให้มากขึ้น เนื่องด้วยประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นประเด็นร่วมที่เกือบทุกโรงเรียนประสบอยู่มากน้อยต่างกัน มีการพยายามสร้างกิจกรรมเพื่อจัดการ สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมจนนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาจับต้องและคลี่คลายปัญหาให้เห็นผลชัดเจนได้ โดยการจัดอบรมครูแกนนำในครั้งนี้ที่จะเน้นที่ในโรงเรียนห่างไกลความเจริญ มีการคมนาคมและสาธารณูปโภคที่ไม่สะดวก
“ส่วนหัวข้อต่างจากนี้ก็ยังสามารถทำได้ เรายังเน้นความสำคัญที่เรื่องปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนในมิติต่างๆ นักเรียนและครูสามารถมีส่วนร่วมกับโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเก่ง เพราะไม่ได้เน้นที่ผลการแข่งขัน”ชายกรกล่าว

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

"มะขามป้อม"รวมพล ส่งความสุขทางจิตวิญญาณผ่านละคร

สุขภาวะทางปัญญา ซึ่งหมายถึง ความสุขทางกาย ความสุขทางสังคม ความสุขใจ โดยเรื่องจิตวิญญาณ ในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะ "สื่อ" ถึงคนในสังคมได้อย่างไร ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเล็งเห็นว่า "คนรุ่นใหม่" น่าจะเป็นกลุ่มผู้สื่อสารกับชุมชน มหาวิทยาลัย ได้ดีที่สุด จึงมอบด้านดนตรี ให้ "กลุ่มสลึง" ส่วนละคร "กลุ่มมะขามป้อม" รับมาดำเนินการ

พฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการละครสะท้อนปัญญา กลุ่มมะขามป้อม เล่าถึงโครงการนี้ว่า ประเด็นที่เรารับโจทก์มาก็คือ คัดเลือกเด็กมหาวิทยาลัย ที่สนใจงานละคร มาฝึกฝน โดยกลุ่มมะขามป้อม จะเป็นพี่เลี้ยงในการผลิตละคร จากนั้นนักศึกษาจะนำกลับไปสื่อสาร เพื่อสร้างสุขภาวะทางปัญหา ให้กับชุมชน หรือมหาวิทยาลัย โดยเนื้อหาละครเป็นมุมมองที่เด็กมีต่อสังคม เด็กเป็นคนเขียนบท เป็นมุมมองของเด็กที่มีต่อสังคม ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง การสอบ เรื่องครอบครัว รวมถึงเรื่องการเมือง เรื่องเพศ



"สำหรับกลุ่มมะขามป้อม ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่รับงานชิ้นนี้มาทำ เป็นการนำร่องเพื่อที่จะหาโมเดล ให้ลงตัว และถ้าประสบผลสำเร็จเราจะขยายโครงการออกไปทั่วประเทศ แต่ในเบื้องต้นเราเลือกนิสิต นักศึกษาจาก 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และตะวันออก และกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 30 กลุ่ม"

พฤหัส เลาต่อว่า จากที่ได้นำเด็กมาเข้าค่ายละคร มีบางเรื่องที่เปลี่ยนเนื้อหาระหว่างทาง คือเขียนบทเข้ามาตอนแรกเด็กไม่มีความรู้ เราจึงมาขัดเกลามาดูว่าโครงเรื่องอ่อนไปไหม สารที่จะสื่อไปสู่ผู้ชมได้ครบไหม แต่มีบางเรื่องที่พัฒนารายละเอียดต่อยอดไป

ส่วนการประเมินความสำเร็จ เราไม่ได้ดูที่เนื้อเรื่องว่าดีไหม บทละครเด่นไหม แต่เราจะดูกระบวนการทำงาน ความร่วมมือของทีมงานเป็นอย่างไร เพราะละครสุขภาวะทางปัญญา ผู้ผลิตซึ่งเป็นเด็กที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย รู้จักการแสดงออกผ่านตัวละคร มีความเข้าใจโลก เข้าใจคนอื่น สามารถทำงานร่วมกัน อาจจะถกเถียงหรือทะเลาะกัน แต่ต้องทำงานร่วมกัน เป็นกระบวนการทางปัญญา กระบวนการผลิต ให้คะแนนถึงครึ่งหนึ่งจากคะแนนเต็ม

ทั้งนี้ บางกลุ่ม ทำเรื่องมาดีมาก แต่เบื้องหลังมีการตบตีกัน อย่างนี้เราก็ให้ผ่านไม่ได้ ขณะที่เนื้อเรื่อง สาระ ก็ต้องใช้ได้ สื่อสารชัดเจน น่าสนใจ คนดูเกิดความคิด เกิดแรงบันดาลใจ อ้นนี้เป็นหน้าที่ของศิลปะอยู่แล้ว



พฤหัส เล่าว่า จากละครที่เสนอเข้ามา เนื้อเรื่องหลากหลายมาก โดยรวมแล้วแนวคิดของเด็กจากการประเมินเนื้อหา ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเยาวชนไทยนะ เพราะโลกทัศน์แคบ คิดแต่เรื่องตัวเอง เรื่องแฟน เรื่องโทรศัพท์มือถือ เพราะโดนตีกรอบโดยระบบการศึกษาไทย ไม่ให้เด็กออกไปจากความจริง ที่นอกเหนือไปจากรั้วมหาวิทยาลัย ยังมีเรื่องบ้าน หรือชุมชนรอบบ้าน ถ้าพวกเขากล้าก้าวออกไป เขาจะได้พบในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ขณะที่สื่อโทรทัศน์ก็พึ่งไม่ได้ กลายเป็นสื่อที่จำกัดโลกทัศน์ของเด็กไป

ดังนั้น เราอยากขยายกรอบคิดพวกเขาให้มากขึ้น ในเนื้อเรื่องของละคร จะต้องมีตัวเขา มีพ่อ มีแม่ มีครอบครัว มีเพื่อน มีเรื่องในมหาวิทยาลัย มีบ้านที่ขยับออกไปจากรั้วบ้าน ละครเรื่องหนึ่งของเด็กอุตรดิตถ์ เขานำวิจัยชาวบ้าน ซึ่งวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเด็กเขาสนใจเรื่องเพลงคล้องช้าง เอาเรื่องมาเป็นประเด็น สื่อให้เห็นวัฒนธรรมดั้งเดิมว่าทำไมเรามีวัฒนธรรมที่ดี แต่เด็กหลงลืมวัฒนธรรมเก่า ไปเห่อวัฒนธรรมใหม่

"บางกลุ่มนำเสนอเรื่องความเครียด เรื่องการเรียน บางกลุ่มเครียดเรื่องการสอบ เรื่องความสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศ แต่เมื่อเด็กมาเข้าค่ายละครกับเรา พวกเขาได้เปลี่ยนพฤติกรรม ความเข้าใจที่มีต่อละครซึ่งเดิมผิดทั้งหมด เพราะดูจากละครทีวี คิดเอาว่าละครจะต้องเสแสร้ง อันนี้ต้องแก้ ส่วนบทละคร เนื่องจากเด็กไม่มีแก่นความคิด ต้องสร้างให้เขามีวิวัฒนาการ สามารถเปลี่ยนแปลงไปชัดเจน แค่เป็นภาพที่เราเห็นไม่ได้คาดหมายอะไร ดูจากความเป็นจริง ณ ขณะนั้น"

ส่วนข้อเปรียบเทียบระหว่างเด็กในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเห็นทางเลือกเยอะกว่าก็จะมีเนื้อหาที่หลากหลาย แต่จะไม่ลึก เด็กม.บูรพา กรอบของเรื่องนั้นแคบ แต่พอเขาได้รับคำแนะนำ เขารับได้เร็ว และไปต่อได้เร็ว เช่นเดียวกับเด็ก เชียงใหม่



หัวหน้าโครงการฯ ลำดับถึงขั้นตอนให้ฟังว่า โจทก์ที่ให้กับเด็กๆ คือเมื่อได้ละครเรื่องหนึ่งแล้ว ให้แสดงระหว่างเพื่อนในมหาวิทยาลัย และจัดในระดับภูมิภาคเล่นในภาคเดียวกันเพื่อเด็กจะได้แลกเปลี่ยนงานกัน จากนั้นเลือกเอาจาก 30 เรื่อง ที่แข็งแรงในด้านกระบวนการ วิธีการ มาจัดรวมกันเป็นละครยอดเยี่ยม อีกครั้งในส่วนกลาง คำว่ายอดเยี่ยม คือยอดเยี่ยมแบบสมัครเล่นนะ

สำหรับเด็ก มันเป็นโอกาสบางคนที่อยากทำละครมานาน แต่ไม่เคยมีโอกาส สสส. จัดการทุกอย่าง ส่วนคนที่ดูแลเรื่องเนื้อหาคือ รศ.พรรัตน์ ดำรุง อาจารย์จากภาควิชาศิลปะการละคร จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มี "พี่ตั้ว" เป็นผู้กำกับมะขามป้อม อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศไทย และยังได้รับการยอมรับในระดับเอเชีย จะลงมาคอมเมนต์เด็ก

ขณะที่ "เทรนเนอร์" ต่างก็มีประสบการณ์กำกับการแสดงละครเวทีมาเป็น 10 ปี หลายคนที่ช่วยกันดู มาดูความผิดพลาด ช่วยพาเด็กไปได้ค่อนข้างดี ตรงนี้อยากชี้ให้เด็กเห็นว่าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ผู้ใหญ่อยากให้เกิดคนรุ่นใหม่ทางการละคร อยากจะสื่อสารประเด็นให้สังคมได้เข้าใจง่ายขึ้น

นอกจากนั้น เด็กเขาได้อยู่กับตัวจริง ปกติเด็กอาจจะไม่รู้จักส่วนนี้ แต่การสอนไม่ได้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมบันเทิง เราต้องการทำให้เขาได้รับศิลปะที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขา สู่ตัวผู้ชม ไม่ได้มีมิติด้านการค้ามาเกี่ยวข้อง

"สถานที่จัดอบรมนั้นสำคัญมากอย่างเช่นที่ จ.เชียงใหม่ จัดที่รีสอร์ท ริมแม่น้ำปิง เพราะทำในห้องประชุมไม่ได้ มันทึบมีแต่ผนัง ตีบตันไอเดีย ดังนั้น หน้าที่ศิลปะ คือทำให้คนหยุดนิ่งๆ แล้วทบทวนชีวิตที่หมุนเร็ว เพราะแค่คิดทบทวนอาจจะเจออะไรมาก ละครเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ชมหยุดคิดไตร่ตรอง อันนี้ก็ให้เกิดปัญญาได้"

ด้าน "พี่ตั้ว" หลังจากที่ชมการแสดงรอบสุดท้ายของเด็กๆ แล้ว ต่อไปก็คือการคอมเมนต์



พี่ตั้ว บอกว่า จะเห็นว่าวันแรกกับวันสุดท้ายพวกเด็กๆ นั้น ฟอร์มวันหลังเริ่มนิ่ง และลงลึกถึงอารมณ์ของตัวละคร แต่บางกลุ่มก็คือเรื่องสดๆ แค่ความสดของเรื่องมันไม่ได้อยู่เหนือกาลเวลา การคิดเรื่องสดๆ คนดูซ้ำๆ มุขซ้ำๆ แต่ถ้ารักษาความสดได้ คือการรักษาพลังงาน ความตื่นเต้นในรอบแรกให้มาอยู่ในการแสดงรอบสุดท้ายได้นั้นเห็นชัดในเรื่อง "วัด" ระหว่างอารมณ์ของ แม่ กับลูกชาย ต่อไปเป็นหน้าที่ที่ต้องลงไปในรายละเอียด ในฐานะที่เป็นแม่ ต้องไปหาให้เจอว่าทำไมแม่ รู้สึกอย่างนั้น การที่แม่แค้นคำว่า "แกไม่ใช่ผู้ชาย" อาจจะเป็นการหาคำแบบอื่นๆ ได้อีก เราค้นหาตัวละครได้ ต่อไปต้องไปพัฒนาด้านเสียง สร้างคุณภาพในตัวนักแสดง พูดดังฟังชัด อักขระตรง การออกเสียง การควบกล้ำ นั้นสำคัญ

ต่อจากนี้ไป ต้องเด็กต้องแสดงละครของพวกเขา 3 รอบ โดยอยากให้เล่นกับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน คนดูคนละกลุ่ม กล้าท้าทายตัวเอง รอบแรก อาจจะเริ่มจากคนที่เรารู้จัก เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รอบที่สองให้ไปหาที่ที่คนไม่รู้จักเราเลย แปลกประหลาด ที่ๆ เล่นแล้วมีโอกาสเน่า ไปหาผู้ชมที่ยากจะสนใจเรา เล่นแล้วคนดูเดินหนีไปหมดเลย เล่นกระทั่งคนดูเอาร้องเท้าเขวี้ยง ต้องท้าทายตัวเอง ท้าทายอุปสรรค์ให้ได้ เล่นในโรงพยาบาล จะรู้ว่าเจ๋งจริงไหม อย่าอยู่แต่พื้นที่ปลอดภัยจะไม่โต

"อย่ายืนอยู่กับความสำเร็จ จงรับความทุกข์จากความไม่สำเร็จ" พี่ตั้ว กล่าวทิ้งท้ายให้เด็กๆ ไปเก็บไปคิด

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2552

ค่ายชมรมคนสร้างฝัน มมส. เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

"ชมรมคนสร้างฝัน คิดฝันเพื่อสรรค์สร้าง ต่างที่ได้ทำ" เป็น สโรแกนที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้เป็นชื่อโครงการ และได้ผ่านการคัดเลือกจากมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเป็นการออกค่าย ระหว่างวันที่ 15 -21 มีนาคม 2552 ที่บ้านหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น



บ้านหนองจาน จากข้อมูลของคนพื้นที่ นั้น ชาวบ้านหนองจาน เริ่มเข้าบุกเบิกพื้นที่ทำกินเมื่อปี พ.ศ.2508 ต่อจากชาวบ้านนายาง อ.หนองเรือ ที่เป็นกลุ่มแรกที่เข้าตั้งถิ่นฐาน และในปี พ.ศ.2518 ก็มีชาวบ้านจากจังหวัดขอนแก่น และหนองบัวลำภู เข้ามาบุกเบิกทำกินเพิ่มขึ้น

ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพกสิกรรม จนชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้นมีชาวบ้านประมาณ 280 ครัวเรือน แต่ปัญหาที่ตามมาคือทางราชการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ และรัฐสัญญาจะหาที่ทำกินให้ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้ย้ายออกไป แต่ที่สุดแล้วชาวบ้านก็ไม่ได้ที่ดินทำกินอย่างที่ทางการได้สัญญาไว้



ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเดินทางกลับมายังที่ดินเดิม ในขณะเดียวกันพื้นที่ตรงที่ชาวบ้านหนองจาน ตั้งอยู่ ทางการได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนพื้นที่เดิมอีกนี่คือปัญหาของชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ปัจจุบันชุมชนบ้านหนองจาน มีประมาณ 43 ครัวเรือนและมีบ้านเลขที่เป็นของตนเองแต่ใช้หมู่เดียวกับบ้านซำผักหนามซึ่งทั้งสองชุมชนตั้งอยู่ห่างกัน 8 กิโลเมตร ชาวบ้านหนองจานประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาผลผลิตที่ได้จึงต่ำ อีกประการหนึ่งชาวชุมชนบ้านหนองจาน ยังขาดอยู่คือ เรื่องไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึง



จากการที่ได้ติตตามการออกค่าย และสอบถามนักศึกษา นายวรวุฒิ เทือกชัยภูมิ ผู้รับผิดชอบโครงการ ให้เหตุผลที่เลือกมาออกค่ายที่ชุมชนแห่งนี้ ว่า ได้ออกสำรวจพื้นที่และพบว่าชุมชนแห่งนี้มีสิ่งที่น่าศึกษาหลายอย่างอีกทั้งได้รับทราบว่าที่ชุมชนหนองจาน นี้มีคณะนักศึกษาจากต่างประเทศ ได้เข้ามาเรียนรู้ประเพณีวัฒธรรมความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ด้วยจึงคิดว่าน่าสนใจที่จะต้องไปออกค่าย

นายวรวุฒิ บอกถึงการได้อะไรจากกค่าย ว่า ได้เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ทำงานร่วมกันทั้งนักศึกษาที่ออกค่าย กับชาวบ้านได้ในเรื่องของการบริหารการจัดการ การเป็นผู้นำหมู่คณะได้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นให้กับชุมชนได้รู้ถึงปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน



สำหรับการออกค่ายครั้งนี้ "ชมรมคนสร้างฝัน คิดฝันเพื่อสรรค์สร้าง ต่างที่ได้ทำ" ได้ช่วยกันสร้างบ้านที่ทำจากดินสองหลัง สร้างห้องน้ำให้กับชุมชน โดยในการสร้างบ้านดิน นั้น ได้รับคำแนะนำช่วยเหลือจากนายจรูญ เสลำ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านช่วยกัน ซึ่ง "ผู้ใหญ่จรูญ" ได้ไปเรียนรู้วิธีการทำบ้านดิน แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับชุมชนและนักศึกษาที่มาออกค่าย ทำให้นักศึกษาบอกว่าจะนำประสบการณ์นครั้งนี้ไปปรับใช้กับชีวิตในวันข้างหน้า

ส่วนที่เวลามาออกค่ายเช่นนี้มีปัญหาหรือไม่ เพราะมาจากความหลายหลาย ก็ได้รับคำตอบจาก นายวรวุฒิ ว่า นักศึกษาที่มาออกค่ายเราจะมีกฎระเบียบที่ต้องปฎิบัติเหมือนกันทุกคนอย่างเคร่งครัด อาทิเช่น สมาชิกที่เข้าร่วมต้องอยู่ร่วมกันจนจบค่าย ไม่นำของมีค่าติตตัวไป ไม่เล่นการพนันและเสพยาเสพติด ห้ามออกนอนบริเวณค่าย ห้ามชายหญิงแสดงพฤติกรรมใดๆ อันแสดงออกในทางเสียหายต่อสายตาผู้อื่น ไม่ทำผิดประเพณีท้องถิ่น ไม่ลักทรัพย์และทะเลาะวิวาทกันนั้นคือกฎของชาวค่ายยังมีวัฒนธรรมชาวค่ายอีกซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่นักศึกษาที่ออกค่ายจะได้รับ และจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่าเมื่อออกไปประกอบอาชีพและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป นักศึกษาที่ไปขอค่ายทุกคนต่างขอขอบคุณ โครงการดีๆ ของ สสส. ที่ให้โอกาสได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยนช์ต่อสังคม



ด้านผู้ใหญ่จรูญ กล่าวถึงการมาออกค่ายของนักศึกษา ว่า เมื่อทราบว่านักศึกษา จะมาออกค่าย ก็ได้ประชุมลูกบ้าน ว่าจะแบ่งเวรมาช่วยแนะนำ รวมถึงการไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ให้ได้ทราบถึงภูมิประเทศ กระทำเช่นนั้นที่จะแบ่งหน้าที่กันมาเป็นกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มอื่นได้ไปทำภารกิจของตนเอง กระทั่งวันสุดท้ายจะมาจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ และที่ประทับใจคงเป้นเรื่อง อาหารการกิน ที่เด็กๆ จะทำกินกันเอง แต่ชาวบ้านที่นี่ปลูกผักปลอดสารพิษ ผู้ชายมาช่วยสร้างดิน ส่วนผู้หญิงก็จะนำเอาผักที่หาได้ในชุมชนมาช่วยให้เด็กๆ ปรุงอาหารกินกัน



ผู้ใหญ่จรูญ บอกว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนของการเรียนรู้ เพราะแต่ละปี จะมีนักศึกษาชาวต่างชาติเดินทางมาศึกษาวิถีชุมชนของพวกเรา ซึ่งเราหวังว่าการอาศัยอยู่กับป่าของราษฎรบางครั้งมิได้ทำไห้ป่าเสียหายเสมอไป เราอยากให้รัฐเข้าใจเรื่องคนอยู่กับป่า เพื่อการยอมรับสิทธิในการถือที่ทำกินสืบชั่วลูกหลานต่อไป

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

"พระไพศาล"แนะคนไทยไม่ยึดติดวัตถุ-สุขได้แม้ศก.ทรุด



พระไพศาล แนะคนไทยอย่าตื่นตระหนกจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ลดลง ชี้หนทางมีความสุขแม้จะมีเงินน้อยลงก็สามารถดำรงชีวิตให้มีความสุขมากกว่าเดิมได้ด้วยการไม่ตั้งสติให้อยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่หวนอาลัยอดีตหรือมัวกังวลกับอนาคต ไม่ยึดติดว่าชีวิตที่มีสุขคือเพียบพร้อมด้วยวัตถุ
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ประธานเครือข่ายพุทธิกา ปาฐกถาธรรมพิเศษ เรื่อง "สุขสวนกระแส : ฉลาดใช้ชีวิตในยุคเศรษฐกิจถดถอย" ภายในงาน "รวมพลคนฉลาดสุข รวมพลังสุขแท้ด้วยปัญญา" จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ด้วยการสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วานนี้ (21 มี.ค.)
พระไพศาล กล่าวว่า แนวทางการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ไม่ได้หมายความว่าความสุขของคนไทยเราจะต้องถดถอยหรือมีชีวิตตกต่ำตามไปด้วย เพราะความสุขหรือความทุกข์ นั้น อยู่ที่ใจ ถึงแม้คนเราจะมีรายได้น้อยลง แต่เราสามารถดำรงชีวิตให้มีความสุขมากกว่าเดิมได้ โดยขึ้นอยู่กับว่าเราจะวางใจ หรือใช้ชีวิตอย่างไร และหากวางใจเป็น ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เราก็จะประสบกับความสุขแบบสวนกระแสเศรษฐกิจได้
"อะไรเกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีกับมันอย่างไร เหตุร้ายจะผ่อนเป็นเบา หรือกลายเป็นดีได้หากเราพร้อมยอมรับกับความเป็นจริงไม่ตีโพยตีพายหรือยอมจำนนกับมัน ตั้งสติให้อยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่หวนอาลัยอดีตหรือมัวกังวลกับอนาคต"
พระไพศาล กล่าวด้วยว่า ความสุขสามารถค้นหาได้จากที่นี่ และเดี๋ยวนี้ด้วยการชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ และเป็นอยู่ ไม่จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นมีกัน ขณะเดียวกันต้องฉลาดในการแสวงหาความสุขที่ไม่อิงวัตถุ และมองให้เห็นข้อดีจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมค้นหา และหยิบฉวยโอกาสใหม่ ๆ ที่แฝงอยู่ในวิกฤติ
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สุขที่แท้จริงมิได้เกิดจากวัตถุ แต่เกิดจากปัญญาในการมองโลก และใช้ชีวิตนั่นเอง
"ทำไมเราต้องรอให้เศรษฐกิจที่โน่นที่นี่ดีขึ้นถึงจะมีความสุข เราเรียกร้องสิ่งต่างๆ มากมาย ทำไมไม่ถามดูว่าทำอย่างไร เราจะมีความสุข คำถามนี้สำคัญเพราะจริงๆ แล้วสุข ทุกข์ อยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกเป็นอย่างไร เราสามารถทำให้ใจเรามีความสุขได้ เพราะสุข ทุกข์ อยู่ที่ตัวเรา"
พระไพศาล กล่าวอีกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยาพิษ เราจับต้องได้ถ้ามือไม่เป็นแผล ยาพิษจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อมือเรามีแปล อันตรายไม่ได้อยู่ที่ว่าเราไปแตะต้องยาพิษ แต่อันตรายเพราะมือเรานั้นเป็นแผล ทำให้เราหันมากระตุ้นให้เห็นความสำคัญที่ตัวของเรา เราทำให้ใจของเราเป็นสุขได้ แม้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า ภายนอกอาจจะผันผวน ปรวนแปรเป็นนิจ ทำให้คนไทยบางคนเอาใจผูกติดกับค่าเงินบาท หรืออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีความสุขที่ยั่งยืนเพราะของพวกนี้แปรปรวน เพราะคนส่วนใหญ่มักจะจดจ่อแต่สิ่งที่เราไม่มี สิ่งที่มีเราไม่สนใจ เห็นคนอื่นที่มีมากกว่าเรา ก็เป็นทุกข์ แทนที่เราจะคิดว่า มีเท่าไหร่ก็ตามที่เรามี แต่ไม่เป็นอย่างนั้น พอเห็นสินค้าใหม่ วางขายตามห้างสรรพสินค้าเราเป็นทุกข์เลย
"เรามีซีดีร้อยแผ่น หรือมีร้องเท้าร้อยคู่ ก็ยังเป็นทุกข์ เพราะรเรายังไม่มีซีดี 1 แผ่น หรือร้องเท้า 1 คุ่ ออกใหม่ แสดงว่าเราไม่รู้คุณค่าในสิ่งที่เรามี เห็นสิ่งที่ยังไม่มีสำคัญมากกว่าสิ่งที่มี นี่คือการมองโลกในเชิงลบ ทำให้คนมีความทุกข์มาก แต่ถ้าจะทำให้คนมีความสุขต้องให้คนหันมายอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจอย่างนี้แล้ว บ้านเมืองอย่างนี้แล้วเอามาใช้เปรียบเทียบกับเรื่องเจ็บป่วย ด้วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เราตีโพยตีพาย เช่นเดียวกันกับการที่เราตกงาน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ป่วยการที่จะตีโพยตีพาย แต่ต้องยอมรับ การยอมรับไม่ได้แปลวว่ายอมจำนน เราจะแก้อย่างไรถ้าใจคร่ำครวญ เราต้องยอมรับความจริง ต้องมองไปข้างหน้าเราจะจัดการแก้ไขใคร่ครวญ แทนการคร่ำครวญ เนื่องจากถ้าไม่หยุดคร่ำครวญ จะไม่มีเวลามาใคร่ครวญ"
ทั้งนี้ การปรับตัวในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะต้องทำอย่างไร อาตมาก็ขอแนะนำว่าคนที่เคยเที่ยวเล่น ต้องเที่ยวให้น้อยลง ทำงานให้ มาก เพราะการมีความเพียรเป็นสิ่งจำเป็นต้องปรับตัว ใช้จ่ายให้น้อยลง ทำงานมาก สำหรับบางคนบอกว่านี่คือความทุกข์ กลายเป็นความฝืนใจ ทำงานหนักเป็นความทุกข์ ถ้าเราไม่ปรับใจปรับความคิด การปรับใจสำคัญที่สุด
พระไพศาล กล่าวว่า ทุกวันนี้คนมีความทุข์เพราะมีสมบัติน้อย รายได้น้อย ถ้าเราปรับตัวพอใจสิ่งที่มีอยู่ จะทำให้เรามีความสุข เหมือนน้ำในแก้วที่มีครึ่งเดียว จะทำให้เต็มคือหาน้ำมาเติม หรือลดขนาดแก้วลง น้ำเต็มเแก้วได้ด้วยการลดขนาดแก้ว ขวด หรือถ้วย ให้เล็กลง ปรับใจปรับ ความต้องการของเราให้พอประมาณ แต่ปรับแล้วเราต้องเรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่เรามี การพอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ เพราะหากจดจ่อสิ่งที่เราไม่มี เราก็เลยไม่สามารถชื่นชมสิ่งที่เรามีได้
ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวด้วยว่า ให้คนไทยหัดมองในแง่บวกมากขึ้น ชื่นชมในสิ่งที่เรามี แม้ว่าเราจะพบความสูญเสียก็ตาม ตัวอย่างเช่นมีคนที่โดนปล้นเหลือแต่ตัว พอมีคนทีก เขาก็บอกว่า เขาไม่ได้เสียอะไร เพราะถือว่าเสมอตัว เพราะตอนเกิดมาก็ตัวเปล่า โดนปล้นไปไม่ได้ขาดทุน
"แม้เศรษฐกิจถดถอย เรามีสมบัติน้อยลง สิ่งที่เรามีก็ยังมากกว่าก่อน เราไม่มีโทรศัพท์มือถือ เราไม่มีเอ็มพี 3 เราจนน้อยลง แต่เราก็มีสิ่งนี้อยู่ เราสบายกว่าแต่ก่อน ถ้าเราคิดได้อย่างนี้เราไม่ทุกข์มาก การที่เราสนใจสิ่งที่เรามีอย่างน้อยกินอิ่มนอนอุ่น"
ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า การหาความสุขโดยไม่อิงวัตถุ จะพบว่ามีความสุขอื่นอีกเยอะ โดยเฉพาะความสุขจากสัมพันธภาพทั้งการมีครอบครัวอบอุ่น มีเพื่อนฝูงที่มีมิตรไมตรี ได้ทำงานอดิเรก ได้ชื่นชมธรรมชาติแม้จะอยู่ในเมืองหลวง หรือแม้แต่การช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะพบความสุขความอิ่มเอม สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขที่สัมผัสได้
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ได้จัดงานรวมพลสุขแท้ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นการนำเด็กๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน มีเด็กอายุ 13 ปี บอกว่าดีใจที่ได้ไปเข้าค่ายละคร แต่พอไปถึงค่ายรู้สึกผิดหวังมาก เพราะค่ายอยู่กลางทุ่งนา ไม่สบาย ไม่สัญญาณโทรศัพท์ แต่รู้สึกผิดหวังได้ 2 วัน หลังจากนั้นก็พบกับความสุขที่ได้ทำละคร ได้คิดละคร มีเพื่อนที่รู้ใจกัน กระทั่งวันสุดท้ายมีความสุขมาก มาฉุดคิดว่าการไม่มีอะไรเลยทำไมมีความสุข จะเห็นว่าความสุขของคนเราไม่ได้มีความสุขอย่างเดียว การได้แสดงความคิดสร้างสรรก็มีความสุข การไม่มีวัตถุก็มีความสุขได้ ถ้าเรารู้ทันเราก็สุขได้ในทุกที่ แสดงให้เห็นว่า ความสุขของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุ

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

"บ้านเล็กในป่าใหญ่"

"บ้านเล็กในป่าใหญ่" เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่มีเป้าหมายให้แก่ราษฎรอยู่ร่วมกับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน และเกื้อกูลกัน โดยราษฎรมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความรักถิ่นฐาน และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

"ลิขิต จริตรัมย์" ประธานชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสอง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารราชกระบัง กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การออกค่าย โครงการ “ค่ายลาดกระบังรวมพลังหารสอง ปีที่ 5” โดยได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิโกมล คีมทอง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันทำโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในครั้งนี้ มีแกนนำ และลูกค่าย ประมาณ 60 คน



ทั้งนี้ ได้เลือกพื้นที่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร การดำรงชีวิตส่วนใหญ่ของชุมชนเกี่ยวข้องกับการพึ่งพาอาศัยป่าเป็นหลัก หากแต่การคืนสู่ป่าของชุมชนนั้นจะทำให้พื้นที่ป่ากลับมาไม่ใกล้เคียงกับอดีต ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศป่าไม้ดั้งเดิม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ เป็นต้น ชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสองเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้น ซึ่งกำหนดออกค่ายระหว่างวันที่ 13 – 27 มีนาคมที่ผ่านมา

"จากการลงพื้นที่พบว่า ห้องเรียนสาขาเกาะสะเดิ่ง ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลไล่โว่ เป็นห้องเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านกองม่องทะ โดยมีระยะทางห่างจากโรงเรียนบ้านกองม่องทะ 11 กิโลเมตร ต้องเดินทางด้วยเท้าใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งลำบากมากในช่วงหน้าฝน ทางผ่านจะเป็นป่าทึบ สลับร่องเขาและแม่น้ำ จะมีทากมาก ไม่มีไฟฟ้าใช้"

โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนที่อาศัยในหมู่บ้านเข้ารับการศึกษา ซึ่งจะจัดการศึกษาในระดับอนุบาล และช่วงชั้นปีที่1 สำหรับนักเรียนในพื้นที่จำนวน 1 ห้อง และยังจัดให้เป็นศูนย์เด็กเล็กรวมอยู่ด้วย เนื่องจากบางครอบครัวพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ต้องออกไปทำไร่ ทำนา จึงต้องมาฝากไว้ รวมแล้วมีจำนวนนักเรียนกว่า 50 คน โดยอยู่ในการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยงและผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า มีอาชีพทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และบางครอบครัวก็ปลูกผัก ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน



"ชุมชนแห่งนี้ล้อมรอบด้วยป่าไม้ ภูเขา และมีพื้นที่ราบน้อย สภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลงสูง มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บริเวณป่าทึบ แม่น้ำ และภูเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณไม้ต่างๆ ในฤดูหนาวก็จะหนาวมาก และในฤดูฝนก็จะมีฝนตกชุก"

ลิขิต เล่าอีกว่า สภาพของชุมชนยังไม่เข้าถึงหน่วยงานราชการเท่าที่ควร ประกอบกับชาวบ้านเองยังไม่เปิดใจรับหน่วยงานราชการ 100% เพราะยังมีความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐที่มาจากนอกพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าจะเข้ามาขับไล่ให้ออกจากป่า ยังคงเป็นชุมชนครอบครัว เป็นเครือญาติกัน และส่วนใหญ่แต่งงานกันเองในหมู่บ้าน มีการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสิ่งที่สำคัญคือ ความมีน้ำใจต่อกันและกันยังมีอยู่มาก ยังคงมีขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเดิมไว้ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ

"โดยภาพรวมยังคงมีการดำรงชีวิตแบบวิถีดั้งเดิม และยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่มากนัก อยู่แบบพอมีพอกิน และอย่างพอเพียง การดำรงชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยป่า อาทิ ปลูกข้าวไร่ ปลูกผักไว้กินเอง ไม่ได้ทำการเกษตรในรูปแบบที่ต้องไปกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ เหมือนเช่นคนทำไร่ในปัจจุบันที่มุ่งเรื่องของผลกำไรจึงต้องลงทุนมากในเรื่องของ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องมือ เครื่องจักร แรงงาน รวมทั้งต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่สูงมาก"

"เมื่อได้พูดคุยกับชุมชน พบว่า ทางชุมชนต้องการโรงอาหารให้กับห้องเรียนสาขาเกาะสะเดิ่ง 1 หลัง เพราะชาวบ้านไม่มีเงินเหลือพอที่จะมาบริจาคสร้างโรงอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด จึงได้ร่วมกับชุมชนสร้างโรงอาหารให้ ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่"




"ที่ผ่านมาเราได้ขอความช่วยไปยังสำนักงานเกษตรที่สูงอำเภอสังขละบุรี โดยการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ซึ่งชุมชนมีกลุ่มแม่บ้าน และผู้ชายที่ว่างจากการทำไร่ ประมาณ 30 คน มาเข้ารับการอบรม รวมทั้งนักศึกษาอีกประมาณ 20 คน โดยได้เรียนรู้การแปรรูปเมล็ดกาแฟไปพร้อมๆ กัน ซึ่งชาวบ้านปลูกกาแฟไว้ในไร่ของตัวเอง ถึงแม้จะปลูกคนละไม่มากนักก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ โดยชาวบ้านเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟสดมาตากแห้งได้ปี๊บละ 80 บาท แต่ถ้ามาแปรรูปเป็นกาแฟบดหรือคั่ว จะได้ราคาขีดละถึง 50 บาท เลยทีเดียว เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเลย"

จากสภาพภูมิอากาศของที่นี่ที่ตอนกลางวันเหมือนภาคใต้ และตอนกลางคืนเหมือนภาคเหนือ จึงทำให้เหมาะต่อการเพาะปลูกกาแฟ ซึ่งชาวบ้านเองไม่ได้คิดจะทำเป็นธุรกิจ แต่ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่างไว้ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

สำหรับผลผลิตกาแฟที่แปรรูปแล้ว หากชาวบ้านไม่นำไปขายในตัวอำเภอสังขละบุรีด้วยตัวเอง ก็จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไป ซึ่งก็จะถูกกดราคามาก ชุมชนจึงหาวิธีการแก้ไขด้วยการรวมตัวกันนำสินค้าแปรรูปส่งไปยังบ้านสะเน่พ่อง ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านมากที่สุด และวานให้ไปส่งขายยังตัวเมืองให้อีกทอดหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ได้ราคาเต็ม 50 บาท แต่ก็จะได้ราคาประมาณ 45 – 47 บาท/ขีด ซึ่งก็จะไม่ถูกกดราคาเหมือนเช่นพ่อค้าคนกลางที่จะให้ราคาเพียง 25 – 30 บาท เท่านั้น



ลิขิต กล่าวว่า ลูกค่ายยังมีกิจกรรมการอยู่ร่วมกับชุมชน เพื่อเรียนรู้การดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การทำการเกษตรในที่สูง เช่น การปลูกข้าวไร่ ปลูกพริกกระเหรี่ยง เป็นต้น เพื่อศึกษาว่าพวกเขาสามารถทำการเกษตรในที่สูงได้อย่างไร และยังศึกษาด้วยว่า พวกเขาบุกรุกพื้นที่ป่า หรือทำไร่เลื่อนลอยตามข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐรายงานหรือไม่ เพราะไม่อยากฟังข้อมูลจากทางราชการเพียงทางเดียว

"แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราจดจำได้ดีคือ เรื่องของการขออนุญาตที่จะเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ โดยเราได้ประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งนี้ แต่ปรากฏว่า ทางกรมอุทยานฯ ไม่อนุญาตที่จะให้พวกเราเข้ามาศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ ทั้งๆ ที่พวกเราต้องการที่จะเข้ามาทำประโยชน์ให้กับพื้นที่ เราจึงได้ประสานมายังหน่วยงานในพื้นที่ จนกระทั่งสามารถมาออกค่ายได้ในที่สุด...

...เมื่อเข้ามาถึงเราก็ได้พบกับ คาราวานออฟโรด ประมาณ 4 – 5 กลุ่มๆ ละประมาณ 4 – 5 คัน กำลังขับรถตะกุยถนนหนทางในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไป-มา จนถนนเละเทะ เสียหาย พังพินาศ หรือแม้กระทั่งไร่นาของชาวบางจุดที่อยู่ริมสองข้างทางที่ถูกรถตะกุยเข้าไป โดยมีเจ้าหน้าที่นายหนึ่งบอกกับผมว่า กลุ่มคาราวานออฟโรด ได้จ่ายค่าผ่านทางให้กับทางอุทยานฯ และกลุ่มคนพวกนี้ที่เข้ามาสร้างขยะทิ้งไว้ในป่า และยังได้รับการยกเว้นจากการถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิ่งของก่อนออกจากป่าอีกด้วย จึงทำให้พวกเรามองเห็นภาพอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส และไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น"

“การเข้าค่ายในครั้งนี้ทำให้เราเห็นความจริงของสังคมที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก คนในสังคมเมืองกับคนในสังคมชนบทที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และหากไม่มีโซล่าเซลล์พวกเราก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่สามารถทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ได้ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมสันทนาการก็ทำไม่ได้ แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ยังได้เรียนรู้ถึงความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อที่ชาวบ้านมีให้ ซึ่งหาได้ยากในสังคมเมือง” ลิขิต กล่าว

การเดินทางเข้าค่าย ของชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสอง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารราชกระบัง ที่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้บรรดานักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้ชีวิตของเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ห่างไกล ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และน่าจะเป็นบทเรียนหนึ่งที่สามารถให้เยาวชนกลุ่มนี้ ได้เข้าใจ เพื่อนร่วมชาติกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้มากขึ้น





วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

พระไพศาลแนะคนไทยใช้ปัญญาจะพบความสุขสวนกระแสเศรษฐกิจ

พระไพศาล วิสาโล แนะแนวทางการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ระบุแม้จะมีเงินน้อยแต่คนไทยสามารถดำรงชีวิตด้วยความสุข หรือทำให้มีความสุขมากกว่าเดิมได้ และพบกับความสุขแบบสวนกระแสเศรษฐกิจ โดยชื่นชมสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นมี
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ประธานเครือข่ายพุทธิกา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ว่า เศรษฐกิจถดถอยไม่ได้หมายความว่าความสุขของคนไทยเราจะต้องถดถอยหรือชีวิตจะต้องตกต่ำตามไปด้วย เพราะสุขหรือทุกข์นั้นอยู่ที่ใจ ถึงแม้จะมีเงินน้อยลงแต่เราสามารถดำรงชีวิตด้วยความสุขหรือทำให้มีความสุขมากกว่าเดิมได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะวางใจหรือใช้ชีวิตอย่างไร ดังนั้น หากวางใจเป็น ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เราจะประสบกับความสุขแบบสวนกระแสเศรษฐกิจได้
"อะไรเกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีกับมันอย่างไร เหตุร้ายจะผ่อนเป็นเบา หรือกลายเป็นดีได้หากเราพร้อมยอมรับกับความเป็นจริง ไม่ตีโพยตีพายหรือยอมจำนนกับมัน ตั้งสติให้อยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่หวนอาลัยอดีตหรือมัวกังวลกับอนาคต"
พระไพศาล กล่าวด้วยว่า ความสุขสามารถค้นหาได้จากที่นี่ และเดี๋ยวนี้ด้วยการชื่นชมสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นมี ขณะเดียวกันต้องฉลาดในการแสวงหาความสุขที่ไม่อิงวัตถุ และมองให้เห็นข้อดีจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมค้นหา และหยิบฉวยโอกาสใหม่ๆ ที่แฝงอยู่ในวิกฤติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าสุขที่แท้จริงมิได้เกิดจากวัตถุแต่เกิดจากปัญญาในการมองโลก และชีวิตนั่นเอง
ขณะที่นายสมศักดิ์ กานต์ภัทรพงศ์ ผู้จัดการโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า ทุกคนรู้ว่าสุขภาวะทางปัญญาและทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยนำทางชีวิตไปสู่ความสุข แต่ในขณะเดียวกันการรู้และเข้าใจอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมได้ เครือข่ายพุทธิกา จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมปฏิบัติพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาควบคู่กับการพัฒนาสังคม อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่จะก้าวไปสู่การเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ
โดยในวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม นี้ ระหว่างเวลา 10.00-17.15 น. ได้จัดงาน ”รวมพลคนฉลาดสุข” ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และต่อยอดการทำความดีร่วมกัน โดยภายในงานผู้สนใจจะได้รับฟังปาฐกถาธรรมจากพระไพศาล วิสาโล ถึงแนวทางการดำรงชีวิตในวิกฤติเศรษฐกิจและการเสวนาในหัวข้อ "สุขอยู่ไม่ไกล ถ้าวางใจเป็น" โดยมีวิทยากรรับเชิญได้แก่ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นาวาเอกนพ.ปิโยรส ปรียานนท์ นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นายแทนคุณ จิตต์อิสระ