วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

"พระไพศาล"แนะคนไทยไม่ยึดติดวัตถุ-สุขได้แม้ศก.ทรุด



พระไพศาล แนะคนไทยอย่าตื่นตระหนกจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ลดลง ชี้หนทางมีความสุขแม้จะมีเงินน้อยลงก็สามารถดำรงชีวิตให้มีความสุขมากกว่าเดิมได้ด้วยการไม่ตั้งสติให้อยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่หวนอาลัยอดีตหรือมัวกังวลกับอนาคต ไม่ยึดติดว่าชีวิตที่มีสุขคือเพียบพร้อมด้วยวัตถุ
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ประธานเครือข่ายพุทธิกา ปาฐกถาธรรมพิเศษ เรื่อง "สุขสวนกระแส : ฉลาดใช้ชีวิตในยุคเศรษฐกิจถดถอย" ภายในงาน "รวมพลคนฉลาดสุข รวมพลังสุขแท้ด้วยปัญญา" จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ด้วยการสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วานนี้ (21 มี.ค.)
พระไพศาล กล่าวว่า แนวทางการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ไม่ได้หมายความว่าความสุขของคนไทยเราจะต้องถดถอยหรือมีชีวิตตกต่ำตามไปด้วย เพราะความสุขหรือความทุกข์ นั้น อยู่ที่ใจ ถึงแม้คนเราจะมีรายได้น้อยลง แต่เราสามารถดำรงชีวิตให้มีความสุขมากกว่าเดิมได้ โดยขึ้นอยู่กับว่าเราจะวางใจ หรือใช้ชีวิตอย่างไร และหากวางใจเป็น ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เราก็จะประสบกับความสุขแบบสวนกระแสเศรษฐกิจได้
"อะไรเกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีกับมันอย่างไร เหตุร้ายจะผ่อนเป็นเบา หรือกลายเป็นดีได้หากเราพร้อมยอมรับกับความเป็นจริงไม่ตีโพยตีพายหรือยอมจำนนกับมัน ตั้งสติให้อยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่หวนอาลัยอดีตหรือมัวกังวลกับอนาคต"
พระไพศาล กล่าวด้วยว่า ความสุขสามารถค้นหาได้จากที่นี่ และเดี๋ยวนี้ด้วยการชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ และเป็นอยู่ ไม่จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นมีกัน ขณะเดียวกันต้องฉลาดในการแสวงหาความสุขที่ไม่อิงวัตถุ และมองให้เห็นข้อดีจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมค้นหา และหยิบฉวยโอกาสใหม่ ๆ ที่แฝงอยู่ในวิกฤติ
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สุขที่แท้จริงมิได้เกิดจากวัตถุ แต่เกิดจากปัญญาในการมองโลก และใช้ชีวิตนั่นเอง
"ทำไมเราต้องรอให้เศรษฐกิจที่โน่นที่นี่ดีขึ้นถึงจะมีความสุข เราเรียกร้องสิ่งต่างๆ มากมาย ทำไมไม่ถามดูว่าทำอย่างไร เราจะมีความสุข คำถามนี้สำคัญเพราะจริงๆ แล้วสุข ทุกข์ อยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกเป็นอย่างไร เราสามารถทำให้ใจเรามีความสุขได้ เพราะสุข ทุกข์ อยู่ที่ตัวเรา"
พระไพศาล กล่าวอีกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยาพิษ เราจับต้องได้ถ้ามือไม่เป็นแผล ยาพิษจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อมือเรามีแปล อันตรายไม่ได้อยู่ที่ว่าเราไปแตะต้องยาพิษ แต่อันตรายเพราะมือเรานั้นเป็นแผล ทำให้เราหันมากระตุ้นให้เห็นความสำคัญที่ตัวของเรา เราทำให้ใจของเราเป็นสุขได้ แม้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า ภายนอกอาจจะผันผวน ปรวนแปรเป็นนิจ ทำให้คนไทยบางคนเอาใจผูกติดกับค่าเงินบาท หรืออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีความสุขที่ยั่งยืนเพราะของพวกนี้แปรปรวน เพราะคนส่วนใหญ่มักจะจดจ่อแต่สิ่งที่เราไม่มี สิ่งที่มีเราไม่สนใจ เห็นคนอื่นที่มีมากกว่าเรา ก็เป็นทุกข์ แทนที่เราจะคิดว่า มีเท่าไหร่ก็ตามที่เรามี แต่ไม่เป็นอย่างนั้น พอเห็นสินค้าใหม่ วางขายตามห้างสรรพสินค้าเราเป็นทุกข์เลย
"เรามีซีดีร้อยแผ่น หรือมีร้องเท้าร้อยคู่ ก็ยังเป็นทุกข์ เพราะรเรายังไม่มีซีดี 1 แผ่น หรือร้องเท้า 1 คุ่ ออกใหม่ แสดงว่าเราไม่รู้คุณค่าในสิ่งที่เรามี เห็นสิ่งที่ยังไม่มีสำคัญมากกว่าสิ่งที่มี นี่คือการมองโลกในเชิงลบ ทำให้คนมีความทุกข์มาก แต่ถ้าจะทำให้คนมีความสุขต้องให้คนหันมายอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจอย่างนี้แล้ว บ้านเมืองอย่างนี้แล้วเอามาใช้เปรียบเทียบกับเรื่องเจ็บป่วย ด้วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เราตีโพยตีพาย เช่นเดียวกันกับการที่เราตกงาน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ป่วยการที่จะตีโพยตีพาย แต่ต้องยอมรับ การยอมรับไม่ได้แปลวว่ายอมจำนน เราจะแก้อย่างไรถ้าใจคร่ำครวญ เราต้องยอมรับความจริง ต้องมองไปข้างหน้าเราจะจัดการแก้ไขใคร่ครวญ แทนการคร่ำครวญ เนื่องจากถ้าไม่หยุดคร่ำครวญ จะไม่มีเวลามาใคร่ครวญ"
ทั้งนี้ การปรับตัวในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะต้องทำอย่างไร อาตมาก็ขอแนะนำว่าคนที่เคยเที่ยวเล่น ต้องเที่ยวให้น้อยลง ทำงานให้ มาก เพราะการมีความเพียรเป็นสิ่งจำเป็นต้องปรับตัว ใช้จ่ายให้น้อยลง ทำงานมาก สำหรับบางคนบอกว่านี่คือความทุกข์ กลายเป็นความฝืนใจ ทำงานหนักเป็นความทุกข์ ถ้าเราไม่ปรับใจปรับความคิด การปรับใจสำคัญที่สุด
พระไพศาล กล่าวว่า ทุกวันนี้คนมีความทุข์เพราะมีสมบัติน้อย รายได้น้อย ถ้าเราปรับตัวพอใจสิ่งที่มีอยู่ จะทำให้เรามีความสุข เหมือนน้ำในแก้วที่มีครึ่งเดียว จะทำให้เต็มคือหาน้ำมาเติม หรือลดขนาดแก้วลง น้ำเต็มเแก้วได้ด้วยการลดขนาดแก้ว ขวด หรือถ้วย ให้เล็กลง ปรับใจปรับ ความต้องการของเราให้พอประมาณ แต่ปรับแล้วเราต้องเรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่เรามี การพอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ เพราะหากจดจ่อสิ่งที่เราไม่มี เราก็เลยไม่สามารถชื่นชมสิ่งที่เรามีได้
ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวด้วยว่า ให้คนไทยหัดมองในแง่บวกมากขึ้น ชื่นชมในสิ่งที่เรามี แม้ว่าเราจะพบความสูญเสียก็ตาม ตัวอย่างเช่นมีคนที่โดนปล้นเหลือแต่ตัว พอมีคนทีก เขาก็บอกว่า เขาไม่ได้เสียอะไร เพราะถือว่าเสมอตัว เพราะตอนเกิดมาก็ตัวเปล่า โดนปล้นไปไม่ได้ขาดทุน
"แม้เศรษฐกิจถดถอย เรามีสมบัติน้อยลง สิ่งที่เรามีก็ยังมากกว่าก่อน เราไม่มีโทรศัพท์มือถือ เราไม่มีเอ็มพี 3 เราจนน้อยลง แต่เราก็มีสิ่งนี้อยู่ เราสบายกว่าแต่ก่อน ถ้าเราคิดได้อย่างนี้เราไม่ทุกข์มาก การที่เราสนใจสิ่งที่เรามีอย่างน้อยกินอิ่มนอนอุ่น"
ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า การหาความสุขโดยไม่อิงวัตถุ จะพบว่ามีความสุขอื่นอีกเยอะ โดยเฉพาะความสุขจากสัมพันธภาพทั้งการมีครอบครัวอบอุ่น มีเพื่อนฝูงที่มีมิตรไมตรี ได้ทำงานอดิเรก ได้ชื่นชมธรรมชาติแม้จะอยู่ในเมืองหลวง หรือแม้แต่การช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะพบความสุขความอิ่มเอม สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขที่สัมผัสได้
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ได้จัดงานรวมพลสุขแท้ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นการนำเด็กๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน มีเด็กอายุ 13 ปี บอกว่าดีใจที่ได้ไปเข้าค่ายละคร แต่พอไปถึงค่ายรู้สึกผิดหวังมาก เพราะค่ายอยู่กลางทุ่งนา ไม่สบาย ไม่สัญญาณโทรศัพท์ แต่รู้สึกผิดหวังได้ 2 วัน หลังจากนั้นก็พบกับความสุขที่ได้ทำละคร ได้คิดละคร มีเพื่อนที่รู้ใจกัน กระทั่งวันสุดท้ายมีความสุขมาก มาฉุดคิดว่าการไม่มีอะไรเลยทำไมมีความสุข จะเห็นว่าความสุขของคนเราไม่ได้มีความสุขอย่างเดียว การได้แสดงความคิดสร้างสรรก็มีความสุข การไม่มีวัตถุก็มีความสุขได้ ถ้าเรารู้ทันเราก็สุขได้ในทุกที่ แสดงให้เห็นว่า ความสุขของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุ

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

"บ้านเล็กในป่าใหญ่"

"บ้านเล็กในป่าใหญ่" เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่มีเป้าหมายให้แก่ราษฎรอยู่ร่วมกับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน และเกื้อกูลกัน โดยราษฎรมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความรักถิ่นฐาน และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

"ลิขิต จริตรัมย์" ประธานชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสอง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารราชกระบัง กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การออกค่าย โครงการ “ค่ายลาดกระบังรวมพลังหารสอง ปีที่ 5” โดยได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิโกมล คีมทอง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันทำโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในครั้งนี้ มีแกนนำ และลูกค่าย ประมาณ 60 คน



ทั้งนี้ ได้เลือกพื้นที่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร การดำรงชีวิตส่วนใหญ่ของชุมชนเกี่ยวข้องกับการพึ่งพาอาศัยป่าเป็นหลัก หากแต่การคืนสู่ป่าของชุมชนนั้นจะทำให้พื้นที่ป่ากลับมาไม่ใกล้เคียงกับอดีต ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศป่าไม้ดั้งเดิม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ เป็นต้น ชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสองเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้น ซึ่งกำหนดออกค่ายระหว่างวันที่ 13 – 27 มีนาคมที่ผ่านมา

"จากการลงพื้นที่พบว่า ห้องเรียนสาขาเกาะสะเดิ่ง ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลไล่โว่ เป็นห้องเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านกองม่องทะ โดยมีระยะทางห่างจากโรงเรียนบ้านกองม่องทะ 11 กิโลเมตร ต้องเดินทางด้วยเท้าใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งลำบากมากในช่วงหน้าฝน ทางผ่านจะเป็นป่าทึบ สลับร่องเขาและแม่น้ำ จะมีทากมาก ไม่มีไฟฟ้าใช้"

โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนที่อาศัยในหมู่บ้านเข้ารับการศึกษา ซึ่งจะจัดการศึกษาในระดับอนุบาล และช่วงชั้นปีที่1 สำหรับนักเรียนในพื้นที่จำนวน 1 ห้อง และยังจัดให้เป็นศูนย์เด็กเล็กรวมอยู่ด้วย เนื่องจากบางครอบครัวพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ต้องออกไปทำไร่ ทำนา จึงต้องมาฝากไว้ รวมแล้วมีจำนวนนักเรียนกว่า 50 คน โดยอยู่ในการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยงและผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า มีอาชีพทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และบางครอบครัวก็ปลูกผัก ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน



"ชุมชนแห่งนี้ล้อมรอบด้วยป่าไม้ ภูเขา และมีพื้นที่ราบน้อย สภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลงสูง มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บริเวณป่าทึบ แม่น้ำ และภูเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณไม้ต่างๆ ในฤดูหนาวก็จะหนาวมาก และในฤดูฝนก็จะมีฝนตกชุก"

ลิขิต เล่าอีกว่า สภาพของชุมชนยังไม่เข้าถึงหน่วยงานราชการเท่าที่ควร ประกอบกับชาวบ้านเองยังไม่เปิดใจรับหน่วยงานราชการ 100% เพราะยังมีความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐที่มาจากนอกพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าจะเข้ามาขับไล่ให้ออกจากป่า ยังคงเป็นชุมชนครอบครัว เป็นเครือญาติกัน และส่วนใหญ่แต่งงานกันเองในหมู่บ้าน มีการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสิ่งที่สำคัญคือ ความมีน้ำใจต่อกันและกันยังมีอยู่มาก ยังคงมีขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเดิมไว้ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ

"โดยภาพรวมยังคงมีการดำรงชีวิตแบบวิถีดั้งเดิม และยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่มากนัก อยู่แบบพอมีพอกิน และอย่างพอเพียง การดำรงชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยป่า อาทิ ปลูกข้าวไร่ ปลูกผักไว้กินเอง ไม่ได้ทำการเกษตรในรูปแบบที่ต้องไปกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ เหมือนเช่นคนทำไร่ในปัจจุบันที่มุ่งเรื่องของผลกำไรจึงต้องลงทุนมากในเรื่องของ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องมือ เครื่องจักร แรงงาน รวมทั้งต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่สูงมาก"

"เมื่อได้พูดคุยกับชุมชน พบว่า ทางชุมชนต้องการโรงอาหารให้กับห้องเรียนสาขาเกาะสะเดิ่ง 1 หลัง เพราะชาวบ้านไม่มีเงินเหลือพอที่จะมาบริจาคสร้างโรงอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด จึงได้ร่วมกับชุมชนสร้างโรงอาหารให้ ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่"




"ที่ผ่านมาเราได้ขอความช่วยไปยังสำนักงานเกษตรที่สูงอำเภอสังขละบุรี โดยการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ซึ่งชุมชนมีกลุ่มแม่บ้าน และผู้ชายที่ว่างจากการทำไร่ ประมาณ 30 คน มาเข้ารับการอบรม รวมทั้งนักศึกษาอีกประมาณ 20 คน โดยได้เรียนรู้การแปรรูปเมล็ดกาแฟไปพร้อมๆ กัน ซึ่งชาวบ้านปลูกกาแฟไว้ในไร่ของตัวเอง ถึงแม้จะปลูกคนละไม่มากนักก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ โดยชาวบ้านเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟสดมาตากแห้งได้ปี๊บละ 80 บาท แต่ถ้ามาแปรรูปเป็นกาแฟบดหรือคั่ว จะได้ราคาขีดละถึง 50 บาท เลยทีเดียว เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเลย"

จากสภาพภูมิอากาศของที่นี่ที่ตอนกลางวันเหมือนภาคใต้ และตอนกลางคืนเหมือนภาคเหนือ จึงทำให้เหมาะต่อการเพาะปลูกกาแฟ ซึ่งชาวบ้านเองไม่ได้คิดจะทำเป็นธุรกิจ แต่ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่างไว้ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

สำหรับผลผลิตกาแฟที่แปรรูปแล้ว หากชาวบ้านไม่นำไปขายในตัวอำเภอสังขละบุรีด้วยตัวเอง ก็จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไป ซึ่งก็จะถูกกดราคามาก ชุมชนจึงหาวิธีการแก้ไขด้วยการรวมตัวกันนำสินค้าแปรรูปส่งไปยังบ้านสะเน่พ่อง ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านมากที่สุด และวานให้ไปส่งขายยังตัวเมืองให้อีกทอดหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ได้ราคาเต็ม 50 บาท แต่ก็จะได้ราคาประมาณ 45 – 47 บาท/ขีด ซึ่งก็จะไม่ถูกกดราคาเหมือนเช่นพ่อค้าคนกลางที่จะให้ราคาเพียง 25 – 30 บาท เท่านั้น



ลิขิต กล่าวว่า ลูกค่ายยังมีกิจกรรมการอยู่ร่วมกับชุมชน เพื่อเรียนรู้การดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การทำการเกษตรในที่สูง เช่น การปลูกข้าวไร่ ปลูกพริกกระเหรี่ยง เป็นต้น เพื่อศึกษาว่าพวกเขาสามารถทำการเกษตรในที่สูงได้อย่างไร และยังศึกษาด้วยว่า พวกเขาบุกรุกพื้นที่ป่า หรือทำไร่เลื่อนลอยตามข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐรายงานหรือไม่ เพราะไม่อยากฟังข้อมูลจากทางราชการเพียงทางเดียว

"แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราจดจำได้ดีคือ เรื่องของการขออนุญาตที่จะเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ โดยเราได้ประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งนี้ แต่ปรากฏว่า ทางกรมอุทยานฯ ไม่อนุญาตที่จะให้พวกเราเข้ามาศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ ทั้งๆ ที่พวกเราต้องการที่จะเข้ามาทำประโยชน์ให้กับพื้นที่ เราจึงได้ประสานมายังหน่วยงานในพื้นที่ จนกระทั่งสามารถมาออกค่ายได้ในที่สุด...

...เมื่อเข้ามาถึงเราก็ได้พบกับ คาราวานออฟโรด ประมาณ 4 – 5 กลุ่มๆ ละประมาณ 4 – 5 คัน กำลังขับรถตะกุยถนนหนทางในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไป-มา จนถนนเละเทะ เสียหาย พังพินาศ หรือแม้กระทั่งไร่นาของชาวบางจุดที่อยู่ริมสองข้างทางที่ถูกรถตะกุยเข้าไป โดยมีเจ้าหน้าที่นายหนึ่งบอกกับผมว่า กลุ่มคาราวานออฟโรด ได้จ่ายค่าผ่านทางให้กับทางอุทยานฯ และกลุ่มคนพวกนี้ที่เข้ามาสร้างขยะทิ้งไว้ในป่า และยังได้รับการยกเว้นจากการถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิ่งของก่อนออกจากป่าอีกด้วย จึงทำให้พวกเรามองเห็นภาพอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส และไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น"

“การเข้าค่ายในครั้งนี้ทำให้เราเห็นความจริงของสังคมที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก คนในสังคมเมืองกับคนในสังคมชนบทที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และหากไม่มีโซล่าเซลล์พวกเราก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่สามารถทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ได้ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมสันทนาการก็ทำไม่ได้ แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ยังได้เรียนรู้ถึงความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อที่ชาวบ้านมีให้ ซึ่งหาได้ยากในสังคมเมือง” ลิขิต กล่าว

การเดินทางเข้าค่าย ของชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสอง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารราชกระบัง ที่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้บรรดานักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้ชีวิตของเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ห่างไกล ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และน่าจะเป็นบทเรียนหนึ่งที่สามารถให้เยาวชนกลุ่มนี้ ได้เข้าใจ เพื่อนร่วมชาติกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้มากขึ้น





วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

พระไพศาลแนะคนไทยใช้ปัญญาจะพบความสุขสวนกระแสเศรษฐกิจ

พระไพศาล วิสาโล แนะแนวทางการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ระบุแม้จะมีเงินน้อยแต่คนไทยสามารถดำรงชีวิตด้วยความสุข หรือทำให้มีความสุขมากกว่าเดิมได้ และพบกับความสุขแบบสวนกระแสเศรษฐกิจ โดยชื่นชมสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นมี
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ประธานเครือข่ายพุทธิกา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ว่า เศรษฐกิจถดถอยไม่ได้หมายความว่าความสุขของคนไทยเราจะต้องถดถอยหรือชีวิตจะต้องตกต่ำตามไปด้วย เพราะสุขหรือทุกข์นั้นอยู่ที่ใจ ถึงแม้จะมีเงินน้อยลงแต่เราสามารถดำรงชีวิตด้วยความสุขหรือทำให้มีความสุขมากกว่าเดิมได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะวางใจหรือใช้ชีวิตอย่างไร ดังนั้น หากวางใจเป็น ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เราจะประสบกับความสุขแบบสวนกระแสเศรษฐกิจได้
"อะไรเกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีกับมันอย่างไร เหตุร้ายจะผ่อนเป็นเบา หรือกลายเป็นดีได้หากเราพร้อมยอมรับกับความเป็นจริง ไม่ตีโพยตีพายหรือยอมจำนนกับมัน ตั้งสติให้อยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่หวนอาลัยอดีตหรือมัวกังวลกับอนาคต"
พระไพศาล กล่าวด้วยว่า ความสุขสามารถค้นหาได้จากที่นี่ และเดี๋ยวนี้ด้วยการชื่นชมสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นมี ขณะเดียวกันต้องฉลาดในการแสวงหาความสุขที่ไม่อิงวัตถุ และมองให้เห็นข้อดีจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมค้นหา และหยิบฉวยโอกาสใหม่ๆ ที่แฝงอยู่ในวิกฤติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าสุขที่แท้จริงมิได้เกิดจากวัตถุแต่เกิดจากปัญญาในการมองโลก และชีวิตนั่นเอง
ขณะที่นายสมศักดิ์ กานต์ภัทรพงศ์ ผู้จัดการโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า ทุกคนรู้ว่าสุขภาวะทางปัญญาและทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยนำทางชีวิตไปสู่ความสุข แต่ในขณะเดียวกันการรู้และเข้าใจอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมได้ เครือข่ายพุทธิกา จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมปฏิบัติพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาควบคู่กับการพัฒนาสังคม อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่จะก้าวไปสู่การเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ
โดยในวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม นี้ ระหว่างเวลา 10.00-17.15 น. ได้จัดงาน ”รวมพลคนฉลาดสุข” ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และต่อยอดการทำความดีร่วมกัน โดยภายในงานผู้สนใจจะได้รับฟังปาฐกถาธรรมจากพระไพศาล วิสาโล ถึงแนวทางการดำรงชีวิตในวิกฤติเศรษฐกิจและการเสวนาในหัวข้อ "สุขอยู่ไม่ไกล ถ้าวางใจเป็น" โดยมีวิทยากรรับเชิญได้แก่ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นาวาเอกนพ.ปิโยรส ปรียานนท์ นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นายแทนคุณ จิตต์อิสระ