วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สุขที่ผู้สูงอายุสัมผัสได้จาก "เพื่อนช่วยเพื่อน"

ความที่แปลกหน้าและไม่คุ้นชิน ทำให้ประเมินไม่ได้เลยว่าความร้อนของแดดในตอนสายวันนั้นจะมากกว่าวันอื่นๆที่ผ่านมาหรือไม่

ที่แน่ๆ แม้จะปริปากบ่นบ้างอยู่บ้าง หากแต่สองเท้าหลากคู่ของบรรดายาย ย่า กลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุยังคงก้าวต่อไปอย่างไม่แยแสกับบรรยากาศ และด้วยความไม่คุ้นเคยอีกเช่นกัน ที่ทำให้ยากจะเดาได้ว่าจุดหมายของการเดินทางในครั้งนี้สิ้นสุด ณ จุดใด



“เอ้า เลี้ยวขวาข้างหน้าก็ถึงแล้ว เอาบ้านยายคำก่อนล่ะกันมันใกล้ดี” ‘ยายหนูน้อย’ (หนูน้อย โคตรรวิทย์ ) ประธานชมรมผู้สูงอายุชุมชนเชียงหวาง-สร้างลาน ตะโกนพูดขึ้นลอยๆ ทว่าช่วยคลายสงสัยให้ผู้มาเยือนที่เดินรั้งท้ายได้พอสมควร

นอกจากการสร้างแกนนำอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ(อผส.) การให้ความรู้ด้านการออกกำลังกายและการดูแลรักษาสุขภาพให้สมกับวัยแล้ว ‘เดินเยี่ยมบ้าน’เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในโครงการ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ที่ชมรมผู้สูงอายุบ้างเชียงหวาง-สร้างลาน ต.เชียงหวาง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานีทำมาอย่างต่อเนื่อง

จริงอยู่ที่การเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างคนในชุมชนจะเป็นกิจวัตรที่ชาวบ้านในสังคมชนบทผูกพันและทำเป็นประจำอยู่แล้ว หากการสนับสนุนจากสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้ช่วยเติมเต็มกิจกรรมเคยชินดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งยังให้ความรู้และช่วยอบรมแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับสูงอายุ รวมไปถึงมอบทุนอื่นๆเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมดูแลสุขภาพในชุมชน



ยายหนูน้อย เล่าย้อนว่า ภายหลังจากตั้งชมรมผู้สูงอายุในชุมชนไม่นาน ได้ไปจดทะเบียนกับสมาคมผู้สูงอายุของจังหวัดซึ่งเชื่อมโยงกับสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยอีกทอดหนึ่งตามคำแนะนำของคนรู้จัก จากนั้นเมื่อมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุจึงได้ร่วมด้วยเรื่อยมา เช่นเดียวกับโครงการฯนี้ที่ต้องการให้ผู้สูงอายุในชุมชนเกิดกระบวนการร่วมดูแลสุขภาพซึ่งกันและเอง ในฐานะเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน สนิทสนมใกล้ชิด และเข้าใจกันมากที่สุด

ยายหนูน้อย เล่าต่อว่า “เวลาไปเป็นตัวแทนอบรมหรือมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในอำเภอและจังหวัดมาสอนเรื่องการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย พวกฉันจะเอาความรู้ที่ได้ไปบอกคนอื่นๆต่อตอนไปเยี่ยมบ้านนี่แหละ อย่างบางครั้งมีเจ้าหน้าที่อำเภอมาอบรมให้ที่อนามัย เพื่อนบางคนไม่ว่างไปฟังหรือเดินทางไปไม่ไหว พวกสมาชิกจะช่วยกันบอกต่อเรื่องเหล่านั้น หรือไม่ก็หาเวลาเจอกันที่ชมรมบ้าง”

“คนแก่ที่บ้านนี้มีเยอะ ที่สมัครเข้าชมรมมีประมาณ40-50 คน แต่ที่มาเป็นประจำนี่มีไม่มากหรอกสัก20คนเห็นจะได้ ใครว่างก็มาร่วม ไม่ว่างก็ไม่เป็นไร ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ตอนสายๆหลังทำบุญและ กินข้าวเช้าร่วมกันแล้ว จะแยกย้ายกันอาบน้ำที่บ้าน จากนั้นจะนัดกันที่ชมรม นั่งคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบว่าใครเป็นอย่างไรกันบ้าง อาการป่วยดีขึ้นไหม เวลานี้พอรู้ว่าคนไหนป่วยจะบอกกัน ถ้าสะดวกก็ออกไปเยี่ยมพร้อมกันเลย ถ้าไม่ก็อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้หรือมะรืนบ้าง อาจจะติดกับข้าวหรือผลไม้ไปฝาก อาทิตย์ละครั้งบ้าง 2อาทิตย์ครั้งบ้างตามแต่สะดวก”

“บางทีไปไม่มีธุระอะไร แต่รู้สึกว่าต้องมาเยี่ยมกันบ้าง พอเพื่อนต่างดีใจทั้งนั้น บางคนลูกหลานไปทำงานหมดไม่มีใครดูแล ชีวิตลำบาก พอไปหาเขาซึ้งมากน้ำตาไหลเลย ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ทิ้งกันหรอก”ยายหนูน้อยอธิบาย



ดวงตาที่คลอด้วยน้ำของยายคำ ขมิ้นเขียว คนชราที่อาศัยอยู่แต่เพียงผู้เดียวที่เพิงไม้ขนาดเล็กหลังเก่า เลขที่125 หมู่9 บ้างเชียงหวาง ยืนยันได้เป็นอย่างดี

“ใจหนึ่งดีใจที่ได้เจอเพื่อน ได้มาเยี่ยมเพื่อน ขณะที่อีกใจกลับรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก บางทีเราก็มีธุระต้องทำ จะมาทุกวันคงไม่ได้”สมาชิกชมรมฯคนหนึ่งตอบเบาๆเมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง"

ขณะที่ยายหนูน้อย ประธานชมรมฯ บอกอีกว่า ผู้สูงอายุมักมีอาการเจ็บป่วยและโรคบางอย่างที่คล้ายกัน เช่นที่ชุมชนนี้ที่ส่วนใหญ่มักเป็นเบาหวาน ปวดตามข้อ โรคกระเพาะ ซึ่งเวลาไปเยี่ยมบ้านนี่เองที่จะถือโอกาสบอกแนวทางปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนไปด้วย

“เวลาพวกฉันไปหาหมอได้ยาอะไรหรือหมอบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จะกลับมาบอกเพื่อนต่อ เช่นหน้านี้มันมีมะม่วงสุกเยอะแต่คนเป็นเบาหวานกินมากไม่ได้ ก็จะคอยเตือนกันว่าอย่ากินมาก เดี๋ยวน้ำตาลขึ้นหมอจะว่าเอา หรือฉันได้ยาสมุนไพรดีๆมาก็จะมาบอกเพื่อนที่ชมรมหรือตอนมาหาที่บ้าน อย่างน้ำต้มสุกที่ใส่ขวดมานี่ก็ต้มกับฟ้าทะลายโจร ฉันรู้มาว่ามันกินแล้วป้องกันโรคหวัดได้ก็บอกเพื่อนต่อ” ยายหนูน้อย ระบุ



ด้าน ‘หมอเพ็ญ’ (ลำเพ็ญ ศรีเชียงหวาน) หัวหน้าอนามัย ต.ศรีเชียงหวาน ที่แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกชมรมแต่ได้คลุกคลีกับผู้สูงอายุกลุ่มนี้มองว่า การที่ผู้สูงอายุได้มารวมตัวและร่วมแนะนำเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องดีมาก อย่างน้อยเมื่อมีข่าวเรื่องสาธารณสุขที่จำเป็นหรือมีหมอมาจากอำเภอมาตรวจเยี่ยม จะได้กระจายข่าวได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ยิ่งมีโครงการจากภายนอกร่วมสนับสนุนและให้เงินทุน กิจวัตรต่างๆที่เป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้วจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้สูงอายุจะได้รับประโยชน์

อย่างไรก็ตามในฐานะอนามัยเป็นห่วงว่า การให้ความรู้แบบผิดๆ ของผู้สูงอายุด้วยกันเองเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ยิ่งประเภทการใช้ยาลูกกลอนหรือยาสมุนไพรที่อีกคนหนึ่งใช้ดี แต่สำหรับอีกคนอาจใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นต้องเตือนชาวบ้านอยู่เสมอว่าไม่ควรใช้ยาใดๆนอกจากแพทย์สั่ง

“มีโครงการเพื่อนเยี่ยมเพื่อนก็ดีนะ เวลาอนามัยไปเยี่ยมก็ไม่ต้องไปคนเดียว เพราะมีสมาชิกชมรมไปด้วย หรือถ้าวันไหนอนามัยไม่ว่างพวกยายๆไปเยี่ยมจะมาบ้างเราเองเลย”หัวหน้าอนามัยพูดทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี

หลังจากเริ่มโครงการเมื่อปี 2550 ขณะนี้โครงการฯได้ดำเนินมาถึงปีสุดท้ายแล้วในปี 2552 ซึ่งนอกจากการประเมินประสิทธิภาพของโครงการฯที่ประสบความสำเร็จแล้ว การกำหนดแผนงานเพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินการต่อไปในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

อ.ธิดา ศรีไพพรรณ์ เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ องค์กรผู้ริเริ่มโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนที่ทำงานร่วมกับสสส. มองว่า หากต้องการให้แนวทางดังกล่าวถูกสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม เฉกเช่นปัจจุบัน ควรมีหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ในฐานะที่เป็นหน่วยราชการที่ใกล้ชิดชุมชนซึ่งมีงบประมาณเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้วเข้ามารับช่วงต่อแทนจึงเป็นที่มาของการระดมจัดประชุมโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ในทุกภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม ที่มีนายกอบต.ในฐานะผู้รับไม้ผลัดต่อเข้าร่วมเพื่อรับทราบและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง ‘ชุมชน’กับ’ส่วนท้องถิ่น’



“โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนได้สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้สูงอายุในชุมชนทั่วประเทศ เกิดการตั้งชมรมผู้สูงอายุและนำไปสู่แนวทางต่างๆที่ทำให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักว่ากลุ่มผู้สูงอายุคือกลุ่มที่มีค่ากับชุมชน ในขณะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ชุมชนต้องคิดว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่อย่างมีความสุข ไม่ถูกทอดทิ้ง”อ.ธิดา กล่าวและว่า

“ที่ผ่านมาเราได้ทำโครงการไปแล้วกว่า367ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมกับมองหาแนวทางขยายโครงการต่อไป รวมถึงการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งขณะนี้ได้มีหน่วยงานท้องถิ่นเต็มใจที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า195ชุมชน”เลขาธิการสภาผู้สูงอายุกล่าว

"เพื่อนช่วยเพื่อน" จึงเป็นโครงการที่มีคุณค่าและเป็นบทพิสูจน์องค์กรส่วนท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วยโจทย์ที่ว่าสามารถสานต่อแนวทางนี้ต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร

หากกระบวนการที่ว่ามาทั้งหมดประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนตามที่คาดหวังได้จริง ชีวิตผู้สูงอายุจะมีความสุขที่มั่นคงขึ้นอย่างแน่นอน

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิทยาศาสตร์สร้างสุขในโรงเรียน

“โครงงานวิทยาศาสตร์ทั่วไป มักเน้นไปที่การแข่งขัน เด็กที่เข้าร่วมจึงต้องเป็นเด็กเก่ง เรียนดี ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ทั้งที่ความเป็นจริงวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว หากพวกเขารู้จักสำรวจ วิเคราะห์และประเมินผลอย่างเป็นขั้นตอน นั่นละคือวิทยาศาสตร์แล้ว”คือทั้งปัญหาและข้อเท็จจริงที่ ชายกร สินธุสัย นักวิชาการด้านการบริการเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชนบท ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สะท้อนจากมุมมองในฐานะวิทยากรที่มีประสบการณ์ด้านอบรมวิทยาศาสตร์มายาวนาน


เมื่อรวมกับการหนุนเสริมจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จึงเป็นที่มาของ “โครงงาน(เชิง)วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า”
โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า คือโครงการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยแก่เด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่เน้นเนื้อหาไปในด้านการแก้ปัญหาสุขภาพ ทั้งพฤติกรรม อาหาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน โดยขั้นตอนเริ่มจากการรับสมัครครูแกนนำที่อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติการของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เข้าอบรม ก่อนนำแนวทางที่ได้ไปขยายผลต่อในแต่ละโรงเรียน ผ่านการสอนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรค่าย โครงงานวิทยาศาสตร์ หรือการเรียนการสอนในคาบเรียนปกติ ที่ชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหาใกล้ตัวจนอยากรู้สึกเปลี่ยนแปลง

ชายกร ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ อธิบายว่า โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า มีหัวใจสำคัญที่การปลูกฝังให้เด็กนักเรียนรู้จักการสำรวจสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมต่างๆในโรงเรียนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ เป็นการลดความทุกข์และสร้างความสุขในโรงเรียน ไม่ใช่การมุ่งแข่งขันหรือใส่ใจกับความเป็นเลิศทางวิชาการเหมือนโครงงานอื่นๆ ดังนั้นเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเรียนดี เพียงแค่สนใจและต้องการเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเป็นพอ



เนื้อหาโครงงานหลักในช่วงแรกที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องราวง่ายๆในรั้วโรงเรียนที่สะท้อนสภาพแวดล้อมหรือปัญหาสุขภาพที่นักเรียนประสบอยู่ อาทิ “โครงงานกำจัดขยะเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” “โครงงานฟ.ฟันยิ้มสวย ด้วยพี่ดูแลน้อง” “โครงงานสุขาน่าใช้” หรือโครงงานที่มีชื่อเก๋ๆว่า”การสำรวจดัชนีความสุขและความเครียดของนักเรียนป.6ในตำบลบ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน” ของนักเรียนโรงเรียนบ้านแพะพิทยา จ.แม่ฮ่องสอน
ด.ญ.สุพรรณษา ประเสริฐวิมล หนึ่งในทีมโครงงานวิทยาศาสตร์สำรวจดัชชีความสุขฯ เล่าถึงที่มาว่า ขณะที่ทำโครงงานครั้งนั้นอยู่ชั้นม.2 แต่นึกย้อนไปถึงสมัยที่เรียนอยู่ชั้นป.6กำลังจะเข้าเรียนม.1ที่โรงเรียนแห่งใหม่ จำได้ว่าช่วงนั้นรู้สึกเครียด กลัวว่าไปเรียนที่ใหม่จะไม่มีเพื่อน กังวลว่าการเรียนและการเดินทางยากขึ้น ช่วงเวลานั้นจึงรู้สึกไม่มีความสุขจนไม่ค่อยอยากจะทำอะไร ดังนั้นเมื่อครูที่โรงเรียนบอกว่าจะให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์จึงเลือกที่จะทำเรื่องนี้เพื่ออยากค้นหาคำตอบถึงความรู้สึกของคนอื่นๆบ้าง
“เริ่มสำรวจโดยการถามน้องๆป.6 ทั้งหมด7โรงเรียนในตำบลบ้านกาศ จ.แม่ฮ่องสอน พวกเขากำลังจะเตรียมย้ายโรงเรียนเพราะโรงเรียนที่เรียนอยู่ไม่ได้สอนชั้นม.1 จึงรู้ว่าส่วนใหญ่แล้ว ทุกคนมีความเครียดคล้ายๆกัน ต่างกังวลไม่รู้ว่าไปเรียนโรงเรียนใหม่แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง จะมีเพื่อนไหม คุณครูดุรึเปล่า เริ่มคิดถึงเพื่อน”
โครงงานสำรวจในครั้งนั้นจึงได้ผลสรุปที่เป็นสาเหตุของความเครียดของนักเรียนและยังเป็นจุดริเริ่มของโครงงานวิทยาศาสตร์อื่นต่อไปคือ”สุขภาพดีด้วยเสียงเพลง”และ”ก่อนบ่าย15นาทีมีความสุข” ซึ่งเป็นโครงงานที่สอดแทรกกิจกรรมลดความเครียดให้แก่นักเรียนชั้นป.6 เสมือนเป็นภาคต่อจากงานชิ้นแรก โดยโครงงานสุขภาพดีด้วยเสียงเพลงนั้นเป็นการขออนุญาตครูเปิดเพลงผ่านเสียงตามสายภายในโรงเรียนเพื่อเป็นวิธีช่วยลดความเครียด เช่นเดียวกับอีกโครงงานที่จัดให้มีกิจกรรมเต้นแอโรบิคออกกำลังกาย ที่นักเรียนทุกระดับต่างชอบและมีความสุขมากขึ้น


ด้านอรุณศรี วัลลภ ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนบ้านแพะพิทยา ที่ปรึกษาโครงงานฯ เล่าว่า โครงงานการสำรวจดัชนีวัดความสุขฯเกิดจากประเด็นใกล้ตัวของนักเรียนเอง การที่เด็กเหล่านั้นมีประสบการณ์มาก่อน ทำให้เข้าใจกลุ่มเด็กที่ไปสำรวจ เมื่อเข้าใจแล้วการซักถามเพื่อเก็บข้อมูลจึงทำได้ง่ายขึ้น ข้อมูลที่ได้จึงสะท้อนความรู้สึกได้ใชัดเจน
“นอกจากจะช่วยลดความเครียดและสร้างสุขให้แก่นักเรียนกลุ่มตัวอย่างแล้ว กิจกรรมที่ทำเช่นการออกกำลังกาย การร้องเพลงก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นแต่ทั้งหมดยังนำมาสอดแทรกกิจกรรมของโรงเรียนให้แก่นักเรียนชั้นอื่นๆด้วย จะว่าเป็นโครงงานฯที่ช่วยลดความเครียดให้กับทุกคนในโรงเรียนก็ว่าได้”ครูอรุณศรีกล่าวและว่าสิ่งนี้คือปัจจัยที่ทำให้โครงงานฯได้รับรางวัลดาวทองการประกวดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับวิถีชีวิตเมืองในหมอกครั้งที่8 ซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัด

สำหรับในช่วงระยะที่2นี้ ชายกร อธิบายว่า โครงการจะจัดลำดับสำคัญและมุ่งการพัฒนาด้านสุขลักษณะในโรงเรียน ทั้งในด้านอาหาร โรงครัว สิ่งแวดล้อม ห้องน้ำ หอพัก ที่ทิ้งขยะให้มากขึ้น เนื่องด้วยประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นประเด็นร่วมที่เกือบทุกโรงเรียนประสบอยู่มากน้อยต่างกัน มีการพยายามสร้างกิจกรรมเพื่อจัดการ สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมจนนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาจับต้องและคลี่คลายปัญหาให้เห็นผลชัดเจนได้ โดยการจัดอบรมครูแกนนำในครั้งนี้ที่จะเน้นที่ในโรงเรียนห่างไกลความเจริญ มีการคมนาคมและสาธารณูปโภคที่ไม่สะดวก
“ส่วนหัวข้อต่างจากนี้ก็ยังสามารถทำได้ เรายังเน้นความสำคัญที่เรื่องปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนในมิติต่างๆ นักเรียนและครูสามารถมีส่วนร่วมกับโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเก่ง เพราะไม่ได้เน้นที่ผลการแข่งขัน”ชายกรกล่าว