วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2552

ค่ายชมรมคนสร้างฝัน มมส. เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

"ชมรมคนสร้างฝัน คิดฝันเพื่อสรรค์สร้าง ต่างที่ได้ทำ" เป็น สโรแกนที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้เป็นชื่อโครงการ และได้ผ่านการคัดเลือกจากมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเป็นการออกค่าย ระหว่างวันที่ 15 -21 มีนาคม 2552 ที่บ้านหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น



บ้านหนองจาน จากข้อมูลของคนพื้นที่ นั้น ชาวบ้านหนองจาน เริ่มเข้าบุกเบิกพื้นที่ทำกินเมื่อปี พ.ศ.2508 ต่อจากชาวบ้านนายาง อ.หนองเรือ ที่เป็นกลุ่มแรกที่เข้าตั้งถิ่นฐาน และในปี พ.ศ.2518 ก็มีชาวบ้านจากจังหวัดขอนแก่น และหนองบัวลำภู เข้ามาบุกเบิกทำกินเพิ่มขึ้น

ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพกสิกรรม จนชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้นมีชาวบ้านประมาณ 280 ครัวเรือน แต่ปัญหาที่ตามมาคือทางราชการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ และรัฐสัญญาจะหาที่ทำกินให้ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้ย้ายออกไป แต่ที่สุดแล้วชาวบ้านก็ไม่ได้ที่ดินทำกินอย่างที่ทางการได้สัญญาไว้



ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเดินทางกลับมายังที่ดินเดิม ในขณะเดียวกันพื้นที่ตรงที่ชาวบ้านหนองจาน ตั้งอยู่ ทางการได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนพื้นที่เดิมอีกนี่คือปัญหาของชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ปัจจุบันชุมชนบ้านหนองจาน มีประมาณ 43 ครัวเรือนและมีบ้านเลขที่เป็นของตนเองแต่ใช้หมู่เดียวกับบ้านซำผักหนามซึ่งทั้งสองชุมชนตั้งอยู่ห่างกัน 8 กิโลเมตร ชาวบ้านหนองจานประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาผลผลิตที่ได้จึงต่ำ อีกประการหนึ่งชาวชุมชนบ้านหนองจาน ยังขาดอยู่คือ เรื่องไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึง



จากการที่ได้ติตตามการออกค่าย และสอบถามนักศึกษา นายวรวุฒิ เทือกชัยภูมิ ผู้รับผิดชอบโครงการ ให้เหตุผลที่เลือกมาออกค่ายที่ชุมชนแห่งนี้ ว่า ได้ออกสำรวจพื้นที่และพบว่าชุมชนแห่งนี้มีสิ่งที่น่าศึกษาหลายอย่างอีกทั้งได้รับทราบว่าที่ชุมชนหนองจาน นี้มีคณะนักศึกษาจากต่างประเทศ ได้เข้ามาเรียนรู้ประเพณีวัฒธรรมความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ด้วยจึงคิดว่าน่าสนใจที่จะต้องไปออกค่าย

นายวรวุฒิ บอกถึงการได้อะไรจากกค่าย ว่า ได้เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ทำงานร่วมกันทั้งนักศึกษาที่ออกค่าย กับชาวบ้านได้ในเรื่องของการบริหารการจัดการ การเป็นผู้นำหมู่คณะได้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นให้กับชุมชนได้รู้ถึงปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน



สำหรับการออกค่ายครั้งนี้ "ชมรมคนสร้างฝัน คิดฝันเพื่อสรรค์สร้าง ต่างที่ได้ทำ" ได้ช่วยกันสร้างบ้านที่ทำจากดินสองหลัง สร้างห้องน้ำให้กับชุมชน โดยในการสร้างบ้านดิน นั้น ได้รับคำแนะนำช่วยเหลือจากนายจรูญ เสลำ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านช่วยกัน ซึ่ง "ผู้ใหญ่จรูญ" ได้ไปเรียนรู้วิธีการทำบ้านดิน แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับชุมชนและนักศึกษาที่มาออกค่าย ทำให้นักศึกษาบอกว่าจะนำประสบการณ์นครั้งนี้ไปปรับใช้กับชีวิตในวันข้างหน้า

ส่วนที่เวลามาออกค่ายเช่นนี้มีปัญหาหรือไม่ เพราะมาจากความหลายหลาย ก็ได้รับคำตอบจาก นายวรวุฒิ ว่า นักศึกษาที่มาออกค่ายเราจะมีกฎระเบียบที่ต้องปฎิบัติเหมือนกันทุกคนอย่างเคร่งครัด อาทิเช่น สมาชิกที่เข้าร่วมต้องอยู่ร่วมกันจนจบค่าย ไม่นำของมีค่าติตตัวไป ไม่เล่นการพนันและเสพยาเสพติด ห้ามออกนอนบริเวณค่าย ห้ามชายหญิงแสดงพฤติกรรมใดๆ อันแสดงออกในทางเสียหายต่อสายตาผู้อื่น ไม่ทำผิดประเพณีท้องถิ่น ไม่ลักทรัพย์และทะเลาะวิวาทกันนั้นคือกฎของชาวค่ายยังมีวัฒนธรรมชาวค่ายอีกซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่นักศึกษาที่ออกค่ายจะได้รับ และจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่าเมื่อออกไปประกอบอาชีพและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป นักศึกษาที่ไปขอค่ายทุกคนต่างขอขอบคุณ โครงการดีๆ ของ สสส. ที่ให้โอกาสได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยนช์ต่อสังคม



ด้านผู้ใหญ่จรูญ กล่าวถึงการมาออกค่ายของนักศึกษา ว่า เมื่อทราบว่านักศึกษา จะมาออกค่าย ก็ได้ประชุมลูกบ้าน ว่าจะแบ่งเวรมาช่วยแนะนำ รวมถึงการไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ให้ได้ทราบถึงภูมิประเทศ กระทำเช่นนั้นที่จะแบ่งหน้าที่กันมาเป็นกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มอื่นได้ไปทำภารกิจของตนเอง กระทั่งวันสุดท้ายจะมาจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ และที่ประทับใจคงเป้นเรื่อง อาหารการกิน ที่เด็กๆ จะทำกินกันเอง แต่ชาวบ้านที่นี่ปลูกผักปลอดสารพิษ ผู้ชายมาช่วยสร้างดิน ส่วนผู้หญิงก็จะนำเอาผักที่หาได้ในชุมชนมาช่วยให้เด็กๆ ปรุงอาหารกินกัน



ผู้ใหญ่จรูญ บอกว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนของการเรียนรู้ เพราะแต่ละปี จะมีนักศึกษาชาวต่างชาติเดินทางมาศึกษาวิถีชุมชนของพวกเรา ซึ่งเราหวังว่าการอาศัยอยู่กับป่าของราษฎรบางครั้งมิได้ทำไห้ป่าเสียหายเสมอไป เราอยากให้รัฐเข้าใจเรื่องคนอยู่กับป่า เพื่อการยอมรับสิทธิในการถือที่ทำกินสืบชั่วลูกหลานต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น