วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

"บ้านเล็กในป่าใหญ่"

"บ้านเล็กในป่าใหญ่" เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่มีเป้าหมายให้แก่ราษฎรอยู่ร่วมกับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน และเกื้อกูลกัน โดยราษฎรมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความรักถิ่นฐาน และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

"ลิขิต จริตรัมย์" ประธานชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสอง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารราชกระบัง กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การออกค่าย โครงการ “ค่ายลาดกระบังรวมพลังหารสอง ปีที่ 5” โดยได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิโกมล คีมทอง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันทำโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในครั้งนี้ มีแกนนำ และลูกค่าย ประมาณ 60 คน



ทั้งนี้ ได้เลือกพื้นที่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร การดำรงชีวิตส่วนใหญ่ของชุมชนเกี่ยวข้องกับการพึ่งพาอาศัยป่าเป็นหลัก หากแต่การคืนสู่ป่าของชุมชนนั้นจะทำให้พื้นที่ป่ากลับมาไม่ใกล้เคียงกับอดีต ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศป่าไม้ดั้งเดิม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ เป็นต้น ชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสองเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้น ซึ่งกำหนดออกค่ายระหว่างวันที่ 13 – 27 มีนาคมที่ผ่านมา

"จากการลงพื้นที่พบว่า ห้องเรียนสาขาเกาะสะเดิ่ง ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลไล่โว่ เป็นห้องเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านกองม่องทะ โดยมีระยะทางห่างจากโรงเรียนบ้านกองม่องทะ 11 กิโลเมตร ต้องเดินทางด้วยเท้าใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งลำบากมากในช่วงหน้าฝน ทางผ่านจะเป็นป่าทึบ สลับร่องเขาและแม่น้ำ จะมีทากมาก ไม่มีไฟฟ้าใช้"

โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนที่อาศัยในหมู่บ้านเข้ารับการศึกษา ซึ่งจะจัดการศึกษาในระดับอนุบาล และช่วงชั้นปีที่1 สำหรับนักเรียนในพื้นที่จำนวน 1 ห้อง และยังจัดให้เป็นศูนย์เด็กเล็กรวมอยู่ด้วย เนื่องจากบางครอบครัวพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ต้องออกไปทำไร่ ทำนา จึงต้องมาฝากไว้ รวมแล้วมีจำนวนนักเรียนกว่า 50 คน โดยอยู่ในการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยงและผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า มีอาชีพทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และบางครอบครัวก็ปลูกผัก ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน



"ชุมชนแห่งนี้ล้อมรอบด้วยป่าไม้ ภูเขา และมีพื้นที่ราบน้อย สภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลงสูง มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บริเวณป่าทึบ แม่น้ำ และภูเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณไม้ต่างๆ ในฤดูหนาวก็จะหนาวมาก และในฤดูฝนก็จะมีฝนตกชุก"

ลิขิต เล่าอีกว่า สภาพของชุมชนยังไม่เข้าถึงหน่วยงานราชการเท่าที่ควร ประกอบกับชาวบ้านเองยังไม่เปิดใจรับหน่วยงานราชการ 100% เพราะยังมีความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐที่มาจากนอกพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าจะเข้ามาขับไล่ให้ออกจากป่า ยังคงเป็นชุมชนครอบครัว เป็นเครือญาติกัน และส่วนใหญ่แต่งงานกันเองในหมู่บ้าน มีการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสิ่งที่สำคัญคือ ความมีน้ำใจต่อกันและกันยังมีอยู่มาก ยังคงมีขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเดิมไว้ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ

"โดยภาพรวมยังคงมีการดำรงชีวิตแบบวิถีดั้งเดิม และยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่มากนัก อยู่แบบพอมีพอกิน และอย่างพอเพียง การดำรงชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยป่า อาทิ ปลูกข้าวไร่ ปลูกผักไว้กินเอง ไม่ได้ทำการเกษตรในรูปแบบที่ต้องไปกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ เหมือนเช่นคนทำไร่ในปัจจุบันที่มุ่งเรื่องของผลกำไรจึงต้องลงทุนมากในเรื่องของ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องมือ เครื่องจักร แรงงาน รวมทั้งต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่สูงมาก"

"เมื่อได้พูดคุยกับชุมชน พบว่า ทางชุมชนต้องการโรงอาหารให้กับห้องเรียนสาขาเกาะสะเดิ่ง 1 หลัง เพราะชาวบ้านไม่มีเงินเหลือพอที่จะมาบริจาคสร้างโรงอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด จึงได้ร่วมกับชุมชนสร้างโรงอาหารให้ ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่"




"ที่ผ่านมาเราได้ขอความช่วยไปยังสำนักงานเกษตรที่สูงอำเภอสังขละบุรี โดยการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ซึ่งชุมชนมีกลุ่มแม่บ้าน และผู้ชายที่ว่างจากการทำไร่ ประมาณ 30 คน มาเข้ารับการอบรม รวมทั้งนักศึกษาอีกประมาณ 20 คน โดยได้เรียนรู้การแปรรูปเมล็ดกาแฟไปพร้อมๆ กัน ซึ่งชาวบ้านปลูกกาแฟไว้ในไร่ของตัวเอง ถึงแม้จะปลูกคนละไม่มากนักก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ โดยชาวบ้านเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟสดมาตากแห้งได้ปี๊บละ 80 บาท แต่ถ้ามาแปรรูปเป็นกาแฟบดหรือคั่ว จะได้ราคาขีดละถึง 50 บาท เลยทีเดียว เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเลย"

จากสภาพภูมิอากาศของที่นี่ที่ตอนกลางวันเหมือนภาคใต้ และตอนกลางคืนเหมือนภาคเหนือ จึงทำให้เหมาะต่อการเพาะปลูกกาแฟ ซึ่งชาวบ้านเองไม่ได้คิดจะทำเป็นธุรกิจ แต่ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่างไว้ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

สำหรับผลผลิตกาแฟที่แปรรูปแล้ว หากชาวบ้านไม่นำไปขายในตัวอำเภอสังขละบุรีด้วยตัวเอง ก็จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไป ซึ่งก็จะถูกกดราคามาก ชุมชนจึงหาวิธีการแก้ไขด้วยการรวมตัวกันนำสินค้าแปรรูปส่งไปยังบ้านสะเน่พ่อง ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านมากที่สุด และวานให้ไปส่งขายยังตัวเมืองให้อีกทอดหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ได้ราคาเต็ม 50 บาท แต่ก็จะได้ราคาประมาณ 45 – 47 บาท/ขีด ซึ่งก็จะไม่ถูกกดราคาเหมือนเช่นพ่อค้าคนกลางที่จะให้ราคาเพียง 25 – 30 บาท เท่านั้น



ลิขิต กล่าวว่า ลูกค่ายยังมีกิจกรรมการอยู่ร่วมกับชุมชน เพื่อเรียนรู้การดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การทำการเกษตรในที่สูง เช่น การปลูกข้าวไร่ ปลูกพริกกระเหรี่ยง เป็นต้น เพื่อศึกษาว่าพวกเขาสามารถทำการเกษตรในที่สูงได้อย่างไร และยังศึกษาด้วยว่า พวกเขาบุกรุกพื้นที่ป่า หรือทำไร่เลื่อนลอยตามข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐรายงานหรือไม่ เพราะไม่อยากฟังข้อมูลจากทางราชการเพียงทางเดียว

"แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราจดจำได้ดีคือ เรื่องของการขออนุญาตที่จะเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ โดยเราได้ประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งนี้ แต่ปรากฏว่า ทางกรมอุทยานฯ ไม่อนุญาตที่จะให้พวกเราเข้ามาศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ ทั้งๆ ที่พวกเราต้องการที่จะเข้ามาทำประโยชน์ให้กับพื้นที่ เราจึงได้ประสานมายังหน่วยงานในพื้นที่ จนกระทั่งสามารถมาออกค่ายได้ในที่สุด...

...เมื่อเข้ามาถึงเราก็ได้พบกับ คาราวานออฟโรด ประมาณ 4 – 5 กลุ่มๆ ละประมาณ 4 – 5 คัน กำลังขับรถตะกุยถนนหนทางในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไป-มา จนถนนเละเทะ เสียหาย พังพินาศ หรือแม้กระทั่งไร่นาของชาวบางจุดที่อยู่ริมสองข้างทางที่ถูกรถตะกุยเข้าไป โดยมีเจ้าหน้าที่นายหนึ่งบอกกับผมว่า กลุ่มคาราวานออฟโรด ได้จ่ายค่าผ่านทางให้กับทางอุทยานฯ และกลุ่มคนพวกนี้ที่เข้ามาสร้างขยะทิ้งไว้ในป่า และยังได้รับการยกเว้นจากการถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิ่งของก่อนออกจากป่าอีกด้วย จึงทำให้พวกเรามองเห็นภาพอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส และไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น"

“การเข้าค่ายในครั้งนี้ทำให้เราเห็นความจริงของสังคมที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก คนในสังคมเมืองกับคนในสังคมชนบทที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และหากไม่มีโซล่าเซลล์พวกเราก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่สามารถทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ได้ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมสันทนาการก็ทำไม่ได้ แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ยังได้เรียนรู้ถึงความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อที่ชาวบ้านมีให้ ซึ่งหาได้ยากในสังคมเมือง” ลิขิต กล่าว

การเดินทางเข้าค่าย ของชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสอง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารราชกระบัง ที่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้บรรดานักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้ชีวิตของเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ห่างไกล ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และน่าจะเป็นบทเรียนหนึ่งที่สามารถให้เยาวชนกลุ่มนี้ ได้เข้าใจ เพื่อนร่วมชาติกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้มากขึ้น





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น