วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สุขที่ผู้สูงอายุสัมผัสได้จาก "เพื่อนช่วยเพื่อน"

ความที่แปลกหน้าและไม่คุ้นชิน ทำให้ประเมินไม่ได้เลยว่าความร้อนของแดดในตอนสายวันนั้นจะมากกว่าวันอื่นๆที่ผ่านมาหรือไม่

ที่แน่ๆ แม้จะปริปากบ่นบ้างอยู่บ้าง หากแต่สองเท้าหลากคู่ของบรรดายาย ย่า กลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุยังคงก้าวต่อไปอย่างไม่แยแสกับบรรยากาศ และด้วยความไม่คุ้นเคยอีกเช่นกัน ที่ทำให้ยากจะเดาได้ว่าจุดหมายของการเดินทางในครั้งนี้สิ้นสุด ณ จุดใด



“เอ้า เลี้ยวขวาข้างหน้าก็ถึงแล้ว เอาบ้านยายคำก่อนล่ะกันมันใกล้ดี” ‘ยายหนูน้อย’ (หนูน้อย โคตรรวิทย์ ) ประธานชมรมผู้สูงอายุชุมชนเชียงหวาง-สร้างลาน ตะโกนพูดขึ้นลอยๆ ทว่าช่วยคลายสงสัยให้ผู้มาเยือนที่เดินรั้งท้ายได้พอสมควร

นอกจากการสร้างแกนนำอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ(อผส.) การให้ความรู้ด้านการออกกำลังกายและการดูแลรักษาสุขภาพให้สมกับวัยแล้ว ‘เดินเยี่ยมบ้าน’เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในโครงการ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ที่ชมรมผู้สูงอายุบ้างเชียงหวาง-สร้างลาน ต.เชียงหวาง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานีทำมาอย่างต่อเนื่อง

จริงอยู่ที่การเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างคนในชุมชนจะเป็นกิจวัตรที่ชาวบ้านในสังคมชนบทผูกพันและทำเป็นประจำอยู่แล้ว หากการสนับสนุนจากสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้ช่วยเติมเต็มกิจกรรมเคยชินดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งยังให้ความรู้และช่วยอบรมแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับสูงอายุ รวมไปถึงมอบทุนอื่นๆเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมดูแลสุขภาพในชุมชน



ยายหนูน้อย เล่าย้อนว่า ภายหลังจากตั้งชมรมผู้สูงอายุในชุมชนไม่นาน ได้ไปจดทะเบียนกับสมาคมผู้สูงอายุของจังหวัดซึ่งเชื่อมโยงกับสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยอีกทอดหนึ่งตามคำแนะนำของคนรู้จัก จากนั้นเมื่อมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุจึงได้ร่วมด้วยเรื่อยมา เช่นเดียวกับโครงการฯนี้ที่ต้องการให้ผู้สูงอายุในชุมชนเกิดกระบวนการร่วมดูแลสุขภาพซึ่งกันและเอง ในฐานะเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน สนิทสนมใกล้ชิด และเข้าใจกันมากที่สุด

ยายหนูน้อย เล่าต่อว่า “เวลาไปเป็นตัวแทนอบรมหรือมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในอำเภอและจังหวัดมาสอนเรื่องการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย พวกฉันจะเอาความรู้ที่ได้ไปบอกคนอื่นๆต่อตอนไปเยี่ยมบ้านนี่แหละ อย่างบางครั้งมีเจ้าหน้าที่อำเภอมาอบรมให้ที่อนามัย เพื่อนบางคนไม่ว่างไปฟังหรือเดินทางไปไม่ไหว พวกสมาชิกจะช่วยกันบอกต่อเรื่องเหล่านั้น หรือไม่ก็หาเวลาเจอกันที่ชมรมบ้าง”

“คนแก่ที่บ้านนี้มีเยอะ ที่สมัครเข้าชมรมมีประมาณ40-50 คน แต่ที่มาเป็นประจำนี่มีไม่มากหรอกสัก20คนเห็นจะได้ ใครว่างก็มาร่วม ไม่ว่างก็ไม่เป็นไร ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ตอนสายๆหลังทำบุญและ กินข้าวเช้าร่วมกันแล้ว จะแยกย้ายกันอาบน้ำที่บ้าน จากนั้นจะนัดกันที่ชมรม นั่งคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบว่าใครเป็นอย่างไรกันบ้าง อาการป่วยดีขึ้นไหม เวลานี้พอรู้ว่าคนไหนป่วยจะบอกกัน ถ้าสะดวกก็ออกไปเยี่ยมพร้อมกันเลย ถ้าไม่ก็อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้หรือมะรืนบ้าง อาจจะติดกับข้าวหรือผลไม้ไปฝาก อาทิตย์ละครั้งบ้าง 2อาทิตย์ครั้งบ้างตามแต่สะดวก”

“บางทีไปไม่มีธุระอะไร แต่รู้สึกว่าต้องมาเยี่ยมกันบ้าง พอเพื่อนต่างดีใจทั้งนั้น บางคนลูกหลานไปทำงานหมดไม่มีใครดูแล ชีวิตลำบาก พอไปหาเขาซึ้งมากน้ำตาไหลเลย ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ทิ้งกันหรอก”ยายหนูน้อยอธิบาย



ดวงตาที่คลอด้วยน้ำของยายคำ ขมิ้นเขียว คนชราที่อาศัยอยู่แต่เพียงผู้เดียวที่เพิงไม้ขนาดเล็กหลังเก่า เลขที่125 หมู่9 บ้างเชียงหวาง ยืนยันได้เป็นอย่างดี

“ใจหนึ่งดีใจที่ได้เจอเพื่อน ได้มาเยี่ยมเพื่อน ขณะที่อีกใจกลับรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก บางทีเราก็มีธุระต้องทำ จะมาทุกวันคงไม่ได้”สมาชิกชมรมฯคนหนึ่งตอบเบาๆเมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง"

ขณะที่ยายหนูน้อย ประธานชมรมฯ บอกอีกว่า ผู้สูงอายุมักมีอาการเจ็บป่วยและโรคบางอย่างที่คล้ายกัน เช่นที่ชุมชนนี้ที่ส่วนใหญ่มักเป็นเบาหวาน ปวดตามข้อ โรคกระเพาะ ซึ่งเวลาไปเยี่ยมบ้านนี่เองที่จะถือโอกาสบอกแนวทางปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนไปด้วย

“เวลาพวกฉันไปหาหมอได้ยาอะไรหรือหมอบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จะกลับมาบอกเพื่อนต่อ เช่นหน้านี้มันมีมะม่วงสุกเยอะแต่คนเป็นเบาหวานกินมากไม่ได้ ก็จะคอยเตือนกันว่าอย่ากินมาก เดี๋ยวน้ำตาลขึ้นหมอจะว่าเอา หรือฉันได้ยาสมุนไพรดีๆมาก็จะมาบอกเพื่อนที่ชมรมหรือตอนมาหาที่บ้าน อย่างน้ำต้มสุกที่ใส่ขวดมานี่ก็ต้มกับฟ้าทะลายโจร ฉันรู้มาว่ามันกินแล้วป้องกันโรคหวัดได้ก็บอกเพื่อนต่อ” ยายหนูน้อย ระบุ



ด้าน ‘หมอเพ็ญ’ (ลำเพ็ญ ศรีเชียงหวาน) หัวหน้าอนามัย ต.ศรีเชียงหวาน ที่แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกชมรมแต่ได้คลุกคลีกับผู้สูงอายุกลุ่มนี้มองว่า การที่ผู้สูงอายุได้มารวมตัวและร่วมแนะนำเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องดีมาก อย่างน้อยเมื่อมีข่าวเรื่องสาธารณสุขที่จำเป็นหรือมีหมอมาจากอำเภอมาตรวจเยี่ยม จะได้กระจายข่าวได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ยิ่งมีโครงการจากภายนอกร่วมสนับสนุนและให้เงินทุน กิจวัตรต่างๆที่เป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้วจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้สูงอายุจะได้รับประโยชน์

อย่างไรก็ตามในฐานะอนามัยเป็นห่วงว่า การให้ความรู้แบบผิดๆ ของผู้สูงอายุด้วยกันเองเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ยิ่งประเภทการใช้ยาลูกกลอนหรือยาสมุนไพรที่อีกคนหนึ่งใช้ดี แต่สำหรับอีกคนอาจใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นต้องเตือนชาวบ้านอยู่เสมอว่าไม่ควรใช้ยาใดๆนอกจากแพทย์สั่ง

“มีโครงการเพื่อนเยี่ยมเพื่อนก็ดีนะ เวลาอนามัยไปเยี่ยมก็ไม่ต้องไปคนเดียว เพราะมีสมาชิกชมรมไปด้วย หรือถ้าวันไหนอนามัยไม่ว่างพวกยายๆไปเยี่ยมจะมาบ้างเราเองเลย”หัวหน้าอนามัยพูดทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี

หลังจากเริ่มโครงการเมื่อปี 2550 ขณะนี้โครงการฯได้ดำเนินมาถึงปีสุดท้ายแล้วในปี 2552 ซึ่งนอกจากการประเมินประสิทธิภาพของโครงการฯที่ประสบความสำเร็จแล้ว การกำหนดแผนงานเพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินการต่อไปในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

อ.ธิดา ศรีไพพรรณ์ เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ องค์กรผู้ริเริ่มโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนที่ทำงานร่วมกับสสส. มองว่า หากต้องการให้แนวทางดังกล่าวถูกสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม เฉกเช่นปัจจุบัน ควรมีหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ในฐานะที่เป็นหน่วยราชการที่ใกล้ชิดชุมชนซึ่งมีงบประมาณเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้วเข้ามารับช่วงต่อแทนจึงเป็นที่มาของการระดมจัดประชุมโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ในทุกภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม ที่มีนายกอบต.ในฐานะผู้รับไม้ผลัดต่อเข้าร่วมเพื่อรับทราบและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง ‘ชุมชน’กับ’ส่วนท้องถิ่น’



“โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนได้สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้สูงอายุในชุมชนทั่วประเทศ เกิดการตั้งชมรมผู้สูงอายุและนำไปสู่แนวทางต่างๆที่ทำให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักว่ากลุ่มผู้สูงอายุคือกลุ่มที่มีค่ากับชุมชน ในขณะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ชุมชนต้องคิดว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่อย่างมีความสุข ไม่ถูกทอดทิ้ง”อ.ธิดา กล่าวและว่า

“ที่ผ่านมาเราได้ทำโครงการไปแล้วกว่า367ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมกับมองหาแนวทางขยายโครงการต่อไป รวมถึงการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งขณะนี้ได้มีหน่วยงานท้องถิ่นเต็มใจที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า195ชุมชน”เลขาธิการสภาผู้สูงอายุกล่าว

"เพื่อนช่วยเพื่อน" จึงเป็นโครงการที่มีคุณค่าและเป็นบทพิสูจน์องค์กรส่วนท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วยโจทย์ที่ว่าสามารถสานต่อแนวทางนี้ต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร

หากกระบวนการที่ว่ามาทั้งหมดประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนตามที่คาดหวังได้จริง ชีวิตผู้สูงอายุจะมีความสุขที่มั่นคงขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น