วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

โรงพยาบาลวิถีอิสลาม




การประชุมทางวิชาการที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือสรพ. จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา หัวข้อ “โรงพยาบาลวิถีอิสลาม : แนวทางและรูปแบบ” โดยเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ตรงของนายแพทย์มาหะมะ เมาะมูลา จากโรงพยาบาลรือเสาะ จ.นราธิวาส

"เนื่องจากในโลกของเราเป็นโลกที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในหลายๆ ความเชื่อ หลายแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป กลุ่มคนมุสลิมก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างจะมีรูปแบบเฉพาะ และพวกเขาต้องการการบริการที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต ความเชื่อของพวกเขาได้ ดังนั้น เราควรที่จะมีแนวทางในการรักษาที่สามารถตอบสนองต่อวิถีความเชื่อของเขา” นายแพทย์มาหะมะ เกริ่นนำเข้าสู่เนื้อหา

อิสลาม เป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนเขาไม่สามารถที่จะแยกศาสนาออกจากการดำรงชีวิตได้และแยกออกจากการรักษาพยาบาลก็ไม่ได้ เพราะเขาต้องใช้เวลาตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นั่นคือการละหมาด เพื่อให้อยู่ในครรลองของศาสนา ซึ่งมุสลิม ทุกคนจะต้องยึดตามแนวทางของอัลกุรอาน เพื่อการดำรงชีวิตขิงพวกเรา

สำหรับรูปแบบในการให้บริการในโรงพยาบาลทั่วๆไปนั้นเราจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยมุสลิมบางคน เมื่อเขาได้รับบริการอย่างที่เคยเป็นอยู่ทั่วๆไปถึงแม้เขาจะป่วยหนัก แต่เขาก็จะไม่ยอมเข้ารับการรักษาโดยเฉพาะผู้ที่เคร่งในศาสนา เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้เตรียมหรือตอบสนองต่อความต้องการในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาในการให้รักษาคนไข้

เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้เอื้อ หรือตอบสนองต่อความต้องการของบุคลากรเหล่านี้ได้ ดังนั้น เราจึงได้ตั้งกลุ่มหรือรวมรวบบุคลากรทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า “จิตอาสา” ในการเข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรของเรา หรือแม้แต่การขอคำแนะนำจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือการส่งบุคลากรของเราออกไปศึกษาดูงานที่ประเทศ จอร์แดน และทุกครั้งที่ได้ข้อมูลมาเราจะมีการเสนอขอความคิดเห็นหรือคำรับรองจากองค์กรกลาง อาทิเช่น คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกครั้ง เพื่อลดข้อสงสัยหรือข้อซักถามจากผู้รับบริการถึงประเด็นอันละเอียดอ่อนทางหลักปฏิบัติของศาสนา

นายแพทย์มาหะมะ กล่าวว่า โรงพยาบาลรือเสาะบูรณาการวิถีอิสลามสู่การให้บริการทางสุขภาพ โดยรูปแบบการดำเนินการเชิงนโยบายของโรงพยาบาล พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์โรงพยาบาลอย่างสอดคล้อง และมีทิศทาง ว่า

“โรงพยาบาลรือเสาะ โรงพยาบาลวิถีชุมชน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม” ซึ่ง ความเป็นวิถีชุมชนมิได้จำกัดเพียงการนำวิถีอิสลาม มาบูรณาการเท่านั้น แต่ศาสนาอื่น ๆ และผู้รับบริการต่างสัญชาติด้วย

ปัญหาประการหนึ่งที่พบคือบุคลากรทางการแพทย์กับบุคลากรทางด้านศาสนาแยกความเชี่ยวชาญตามปัจเจก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผสานองค์ความรู้เพื่อบูรณาการวิถีอิสลาม สู่การบริการ ทางสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะในมิติของอิสลาม ถือว่าอิสลาม คือ วิถีชีวิต ดังนั้น จึงไม่สามารถแยกแยะมุสลิมออกจากวิถีอิสลามได้ในทุกกรณี แม้แต่ในยามเจ็บป่วย

ข้อดีของที่โรงพยาบาลรือเสาะ คือ ตัวผู้อำนวยการเองที่เป็นผู้ที่มีความรู้ทางวิชาการด้านศาสนา มีความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจกับองค์ความรู้หลากหลายภาษา อาทิเช่น อาหรับ มาลายู ไทย และอังกฤษ



โรงพยาบาลรือเสาะ เริ่มต้นกิจกรรมจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ก่อน ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มจากสิ่งที่เป็นข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม (วาญิบ : หลักปฏิบัติภาคบังคับที่มุ
กัลลัฟ (มุสลิมผู้อยู่ในศาสนนิติภาวะ) ทุกคน ต้องปฏิบัติตาม) ในการนำองค์ความรู้อิสลามมาบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางสุขภาพ โรงพยาบาลรือเสาะ ต้องอาศัยกระบวนการสืบค้นความรู้จากแหล่งข้อมูลมากมาย หลายภาษา การบริการสุขภาพสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และหลังกลับจากพิธีฮัจย์ ซึ่งเป็นการเปิดบริการที่เพิ่มเติมกว่าการตรวจรับยา และฉีดวัคซีนปกติ

การปรับยาในเดือนรอมฎอน สอดคล้องกับวิถีชีวิต การงดเว้นนัดผู้ป่วย OPD ในเดือนรอมฎอน การใช้ปฏิทินอิสลามในการดูกำหนดนัดที่เหมาะสม จุด ER เน้น การสอนให้ผู้ป่วยกล่าวคำปฏิญาณตนต่ออัลลอฮ์ และศาสดามูฮัมหมัด ก่อนกระทำหัตถการใดๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว อาทิเช่น ก่อนฉีดยาสงบประสาทเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ไม่ว่าจำเป็นต้องช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR หรือไม่ก็ตามก็สอนทุกครั้ง เพราะอิสลามถือว่า การตายและการเป็น เป็นหน้าที่ของพระผู้เป็นเจ้า

IPD ที่เป็นจุดเด่นคือ การมีสถานที่ละหมาดสำหรับผู้ป่วยที่สามารถลุกขึ้นเดินได้ หรือคนที่ on HL การจัดทำซิงค์น้ำสำหรับอาบน้ำละหมาดแก่ผู้ป่วยแบบเคลื่อนที่ การจัดทำสื่อสารสุขภาพที่เกี่ยวกับการรับบริการในโรงพยาบาลด้วยภาษามลายู และไทย

การจัดทำสื่อสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีอิสลาม มีการดูแลผู้ป่วย AIDS ด้วยการให้ผู้ป่วยได้เตาบัต (ขอประทานอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้า) สำหรับความผิดบาปที่ผ่านมาทั้งปวงก่อนการเริ่มต้นให้ยา

โรงพยาบาลรือเสาะเริ่มต้นบูรณาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยเรียนรู้และปรับปรุงแก้ไข เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยต่อยอดทั้งองค์กร

โรงพยาบาลรือเสาะดำเนินกิจกรรมบูรณาการวิถีอิสลามสู่การให้บริการทางสุขภาพ โดยไม่ได้มุ่งเน้นในด้านคุณภาพว่าต้องเป็น HA หรืออะไรก็ตามหรือไม่แต่อย่างใด การทำคุณภาพให้สอดคล้องกับมิติทางจิตวิญญาณตามบริบทประชากรอาจเป็นคำตอบที่ดีกว่า สัมผัสได้ดีกว่า ประณีตและยั่งยืน...บนพื้นฐานงานคุณภาพ โดยหลักคิดของ สรพ.

สำหรับ Theme ปีหน้าคือ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่ระบบบริการสุขภาพที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความรักความเมตตาและความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น