วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า



ค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ที่ดำเนินการโดยกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์โรงเรียนท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองคาย เขต 1 โดยการนำของ นายณรงค์ ปริญญาพรหม หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พิสูจน์ข้อสงสัยและสร้างข้อค้นพบ ด้วยตนเองด้วยการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ อย่างสนุกสนาน แตกต่างจากการเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนอย่างสิ้นเชิง

เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จากกิจกรรมที่จัดขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว และอยากจะให้มีการเข้าค่ายเป็นระยะเวลาที่นานขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มา 3 ปีแล้ว ซึ่งใน 2 ปีแรกนั้นได้รับการสนับสนุนให้จัดปีละ 1 ครั้ง แต่ในปีการศึกษา 2551 ได้รับการสนับสนุนให้จัดปีละ 2 ครั้ง โดยแบ่งจัดภาคเรียนละ1 ครั้ง

นายณรงค์ เล่าถึงความเป็นมาของการจัดค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ว่าในปัจจุบันกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ อย่างมากมายแม้แต่กระบวนดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของตนเองรวมทั้งคนรอบข้าง ยังเป็นการเรียนรู้กระบวนการโครงงานทางวิทยาศาสตร์ไปในตัวอีกด้วย

ซึ่งมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดไว้ว่า การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นการพัฒนาผู้เรียนให้รับทั้งความรู้ กระบวนการและเจตคติ ดังนั้นผู้เรียนควรได้รับการกระตุ้นส่งเสริมให้สนใจและกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีความสงสัย เกิดคำถามในสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโลกธรรมชาติรอบตัว มีความมุ่งมั่นและมีความสุขที่จะศึกษาค้นคว้า สืบเสาะหาความรู้ เพื่อรอบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล นำไปสู่คำตอบ และยังกระตุ้นให้ผู้เรียนท้าทายกับการเผชิญสถานการณ์หรือปัญหา มีการร่วมกันคิด ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้สามารถอธิบายทำนายสิ่งต่างๆได้อย่างมีเหตุผล

การประสบผลสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความ สนใจ มุ่งมั่นที่จะสังเกต สำรวจ ตรวจสอบ สืบค้นความรู้ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นเกิดนิสัยการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง

การเรียนรู้เนื้อหาสาระที่เกี่ยวกั การสร้างเสริมสุขภาพอนามัยในด้านอาหารและโภชนาการ โรคและการป้องกันโรค และด้านสุขลักษณะและสิ่งแวดล้อมที่ดี ร่วมกับการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ พิสูจน์ข้อสงสัยและสร้างข้อค้นพบด้วยตนเองด้วยการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ช่วยส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นความสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพ อนามัยที่ดีตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เห็นปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของตนเองและบุคคลรอบข้าง และหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งหาวิธีสร้างเสริมสุขภาพของตนเองและบุคคลรอบข้างให้ดีขึ้น โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

การจัดค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ถือเป็นกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ที่สำคัญวิธีหนึ่ง ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพทุก ๆ ด้าน ที่ต้องการให้เกิดในตัวผู้เรียน ช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้จักปรับพฤติกรรมของตนเองให้เข้ากับหมู่คณะ รู้จักการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตต่อไป อีกทั้งยังสามารถเสริมสร้างกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ได้เป็นอย่างดี



สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าก็เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ด้านวิทยา ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล รักษา และเสริมสร้างสุขภาพ เพื่อให้นักเรียนที่เข้าค่ายสามารถทำโครงงานและมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า รู้จักคิดวิเคราะห์ ค้นหาคำตอบ ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและรับผิดชอบต่อ ส่วนรวม รู้จักนำความรู้ทีได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้เห็นความสำคัญของการดูแล รักษาสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง นำความรู้ที่ได้ไปเสริมสุขภาพจนเป็นนิสัย

เด็กที่เข้าค่าย นั้นจะเป็นเด็กระดับชั้น ม.ต้น รุ่นละ 120 คน ซึ่งค่าย จะจัดทั้งในโรงเรียน และนอกสถานที่ โดยจะมีครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา 20 คน เป็นผู้ดูแลนักเรียนที่เข้าค่าย อย่างใกล้ชิด ตลอดทั้ง 2 วัน 3 คืน ซึ่งก่อนการเข้าค่าย ก็จะประเมินผลโดยใช้แบบทดสอบ และหลังจากนักเรียนเข้าค่ายเสร็จก็จะมีการประเมินผล แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์

จากการเข้าค่าย ที่ผ่านมาพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนของการทำแบบทดสอบก่อนการเข้าค่าย และค่าเฉลี่ยคะแนนของการทำแบบทดสอบหลังการเข้าค่ายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

กิจกรรมที่จัดขึ้นในค่าย นั้นมีหลากหลาย ครบถ้วน เริ่มจากทำความรู้จักกับโครงการค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าและ เรียนรู้ประเภทและขั้นตอนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ กิจกรรมปฏิบัติการตามฐานความรู้ เช่น การทำโยเกิร์ต การทำไวน์ การทำแหนม การตรวจสอบโปรตีน กิจกรรมดาราศาสตร์ การปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะ การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร และกิจกรรมสำรวจสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่มีการระดมสมองด้วย



น.ส.ศิริกัญญา ศรีชมภู นักเรียนชั้น ม.3 ที่เข้าค่าย บอกว่า สนุกกับการเข้าค่าย และได้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์จากการเข้าค่ายมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่า การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์โดยการเข้าค่าย จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้มีการพิสูจน์ข้อสงสัย ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ตลอดระยะเวลา 2 วัน 3 คืน ที่มีการเข้าค่ายดูน้อยไป อยากให้มีระยะเวลาในการเข้าค่ายที่มากกว่านี้
นายวสุภาค สีลาคำ นักเรียนชั้น ม.3 ก็บอกเช่นเดียวกันว่า สนุกและได้รความรู้กับการเข้าค่ายมาก โดยเฉพาะกิจกรรมดาราศาสตร์ ที่มีการส่องกล้องดูดาวต่าง ๆ สนุกเพลิดเพลินจนเพื่อน ๆ ไม่อยากจะเข้านอนกัน จนอาจารย์ต้องมาไล่ให้เข้านอน

จากความสำเร็จของการเข้าค่ายโครงการ วิทยาศาสตร์ มีการต่อยอดส่งผลทำให้โครงงานสำรวจภาวะการเจริญเติบโตของนักเรียนโรงเรียน ท่าบ่อ ได้รับรางวัลขวัญใจนักวิจัย ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ของ สวทช. ปีการศึกษา 2551 ที่ผ่านมา และขณะนี้ได้เสนอให้ทางโรงเรียนมีการจัดเข้าค่าย ให้กับโรงเรียนข้างเคียงด้วย

ซึ่งหากมีการดำเนินการต่อไป ก็จะทำให้เด็กหนองคาย ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ อย่างสนุกสนาน และได้ความรู้ครบกระบวนการ เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนของโรงเรียนท่าบ่อ ที่ได้สัมผัสกับโอกาสดังกล่าวแล้ว

เดินตามฝันสู่ “ สุขแท้ด้วยปัญญา”



ช่วงกลางเดือนกันยายน 2552 เครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเตรียมความพร้อมโครงการ สุขแท้ด้วยปัญญา ปี 2 ณ โรงแรม เดอะ รอยัล เจมส์ ลอดจ์ 2000 จ.นครปฐม โดยนายสมศักดิ์ กานต์ภัทรพงศ์ ผู้จัดการโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เล่าว่าปีนี้มีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 56 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการก็มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป

มาดูกันว่าในบรรดาผู้ที่ได้รับคัดเลือกมาร่วมเส้นทางการสร้างสรรค์ความสุขแบบของจริง-ของแท้ ที่ไม่ต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลัก ใครมีไอเดีย มีความฝันที่จะไปสร้างสุขแท้ด้วยปัญญากันอย่างไรบ้าง



นายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และ หัวหน้าโครงการ พลังภาพยนตร์ชวนค้นคนดี กล่าวว่า จะเริ่มดำเนินการในเดือน ตุลาคม ซึ่งพร้อมกับหลายโครงการที่ได้ส่งเข้ามา กลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ,3 ,4 ของโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่

ด้วยหวังว่าการผลิตภาพยนต์สั้น ซึ่งข้อกำหนด คือ ต้องถ่ายทำจากเรื่องจริง และต้องถ่ายจากบุคคลใกล้ตัวที่เด็กๆ รู้จัก นั่นก็เพื่อถ่ายทอดให้เห็นว่าเขาผู้นั้นทำความดีอย่างไร โดยอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือชุมชนก็ได้ หัวหน้าโครงการนี้ยังหวังว่าความดีที่เด็ก ๆ ได้พบเห็นจะเป็นตัวช่วยให้เยาวชนหันมาทำความดีกันมากขึ้น ทั้งนี้การใช้ภาคทฤษฏีและปฏิบัติควบคู่กันจะทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เข้าใจได้ง่ายขึ้น ว่าการทำความดีไม่ใช่เรื่องทำยาก ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ทำแล้วมีความสุข

“ผมคิดว่าคนประพฤติดี ทั้งแบบเปิดเผย และแบบปิดทองหลังพระ ซึ่งควรได้รับคำชมเชย และกำลังใจ เพื่อให้ผลของการทำดี ขยายวงกว้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทุกคน รู้ว่าคนทำดีช่วยเหลือสังคม มีจิตอาสา จะได้รับคำชม เพราะท้ายที่สุดแล้วผมเชื่อว่าคนที่ทำความดีผลดีจะต้องตอบแทน” นาย เปรมปพัทธ กล่าว



นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ (ครูไข่) ผู้อำนวยการสำนักข่าวเด็กและเยาวชน ขบวนการตาสัปปะรด และที่ปรึกษาโครงการ ธนาคารเพื่อการแบ่งปัน (Sharing Bank) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากประสบการณ์ คือ มีเด็กยากลำบากที่อยู่ตามสถานดูแลต่างๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่อุปถัมภ์ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่พ่อแม่อุปถัมภ์มาเยี่ยม เด็กเหล่านั้นจะพยายามทำให้ตัวเองมอมแมมให้รู้สึกน่าสงสาร เพื่อจะได้สิ่งของพิเศษจากพ่อแม่อุปการะ

หลังจากนั้น ได้ทำการสำรวจว่าความต้องการที่แท้จริงของเด็กเหล่านั้นคืออะไร โดยให้เล่นเกมส์ แยกแยะระหว่าง “ความจำเป็น” กับ ”ความต้องการ” ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่มีของเหลือใช้เป็นจำนวนมาก เลยเกิดความคิดให้เด็กเหล่านั้น เรียนรู้การแบ่งปันโดยการนำสิ่งที่เหลือใช้ไปบริจาค นอกจากจะได้รู้จักการแบ่งปันแล้วยังทำให้เค้ารู้สึกมีคุณค่าด้วย

นอกจากนี้การที่เคยช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ เช่น สึนามิ นายฉัตรชัย พบว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติ ก็จะมีการส่งสิ่งของเครื่องใช้ ไปแต่กลับพบว่ามีของเหลือ เนื่องจากเกินความต้องการ กองทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนของจำเป็นกลับไม่ค่อยถูกส่งไปช่วย

“การบริจาคช่วยเหลือ ก็มีในช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่ความต้องการยังคงอยู่ ดังนั้นธนาคารเพื่อการแบ่งปัน (Sharing Bank) จะเป็นตัวจุดประกายให้คนนำของเหลือมาแลกของที่ขาด แต่การแลกเปลี่ยนต้องให้ชุมชนจัดการกันเอง ตอนนี้ธนาคารเพื่อการแบ่งปัน มีทั้งหมด 4 แห่ง โดยใช้กรุงเทพ เป็นศูนย์กลางเพื่อประสานงาน จาก 3 จังหวัดคือ จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.เชียงราย โครงการนี้จะเป็นการสร้างรากฐานสังคมให้ไม่ทอดทิ้งกัน ไว้รองรับกับวิกฤติ ที่จะเข้ามาในอนาคต” นายฉัตรชัย กล่าวในที่สุด



นายณฐกร นิยมเดชา หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษากิจกรรมเพื่อสังคม และหัวหน้าโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ สื่อสร้างสุขเพื่อน้อง ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวว่ากิจกรรมที่จะเกิดขึ้น จะจัดร่วมกับ กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสตูล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น ซึ่งเน้นการพัฒนาสถานที่รอบๆชุมชน เช่น ลานวัด/มัสยิด เป็นต้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้นใน จังหวัดสตูล ขณะนี้คือ มีประชากรช่วงแรกเกิด – 25 ปี จำนวนกว่าครึ่ง ของประชากร 200,000 คน และเยาวชนจำนวนมาก ยังตกเป็นเหยื่อสิ่งเสพติด สื่อลามกอนาจาร ที่มีวางจำหน่าย ทางด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย สามารถหาซื้อได้อย่างโจ่งแจ้ง ส่งผลให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ด้านผู้ปกครองเองก็ยังขาดความรู้ที่จะดูแลบุตรหลาน ว่าการเลือกรับสื่อที่ดีควรเป็นเช่นไร เช่นการดูทีวีที่บ้าน หากมีภาพหรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ได้มีการนั่งพูดคุยกันว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่สมควรเลียนแบบ ด้วยเหตุนี้การสร้างสื่อสำหรับเยาวชนจะทำ ให้เค้าได้สร้างสรรคกันเอง ว่าสื่อที่ดีควรเป็นอย่างไร และต้องการแบบไหน ก็ให้เค้าทำออกมา” นายณฐกร อธิบาย

นายกนก กาคำ หัวหน้าโครงการวัฒนธรรมสร้างปัญญา สร้างสุขให้ชุมชน ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เย้า (อิ้วเมี่ยน) จึงใช้ประเพณีปีใหม่เย้า(ตรุษจีน) ที่จัดเป็นประจำทุกปี มาเป็นกิจกรรมเพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะวันขึ้นปีใหม่นี้มีข้อคิดสอดแทรกอยู่ เช่น ไม่ใช้เงินในวันปีใหม่ เพราะเชื่อว่าจะไม่สามารถเก็บเงินอยู่ เป็นต้น



ส่วนเด็กๆ ต้องเดินทางไปตามบ้านของผู้สูงอายุ เพื่อทำการยกน้ำชา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเคารพ และขอขมาลาโทษที่ได้ล่วงเกิน

“เหตุที่ใช้งานปีใหม่เย้าเพราะมีความเชื่อที่ว่า หากทำความดีแล้ว จะช่วยให้ได้รับแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคลกับชีวิต และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อสังคมซึ่งเกิดจากการอยู่ร่วมกัน ทั้งในครอบครัวและชุมชน มีความรักใคร่ กลมเกลียว พร้อมทั้งส่งผลให้เยาวชนเห็นคุณค่าภูมิปัญญาตนเอง สำหรับโครงการนี้หากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ผู้นำชุมชน ครู ปราชญ์ชาวบ้าน อบต. เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายกนก กล่าว

โครงการโฆษณาสีขาว โดยพระประสงค์ วชิรญาโณ วัดป่าทับทิมนิมิต ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ อธิบายว่า พื้นที่อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ อยู่ติดกับแหล่งอบายมุขในฝั่งประเทศกัมพูชา และ ชาวบ้านในพื้นที่ มักจะข้ามชายแดนไปเสี่ยงโชค การเสพสุราและเที่ยวผู้หญิง ก่อให้เกิดปัญหาหนักในชุมชน ซึ่งจะใช้สถานีวิทยุชุมชน ที่ชาวบ้านนิยมฟัง เป็นสื่อเผยแพร่รณรงค์ ให้หลีกเลี่ยงอบายมุข โดยให้กลุ่มลูกหลาน เป็นผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์หรือ โฆษณาสีขาว เพื่อเชิญชวนพ่อแม่ญาติพี่น้องให้หันมาสร้างความสุขด้วยการทำความดีช่วยเหลือชุมชน

“อาตมาเชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้มีพลังที่จะสร้างสรรค์ จนสามารถสื่อเข้าถึงหัวใจของผู้ใหญ่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการคล้อยตาม นอกเหนือจากนี้การที่เราดึงกลุ่มเยาวชนเข้ามาร่วมโครงการ ยังเป็นอุบายที่จะทำให้พวกเขาพิจารณาเห็นโทษของอบายมุขและประโยชน์ของการทำความดีอย่างลึกซึ้งในกระบวนการผลิตโฆษณานั้นเอง” ประสงค์ กล่าว

นางพัชรินทร์ ชัยอิ่นคำ ผู้รับผิดชอบโครงการ “ไม่รวยก็สุขได้” อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันระบบทุนนิยมเข้ามาทำให้ คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น การค้าก็เน้นแต่ยอดจำหน่าย คนทั่วไปที่อยู่ในสังคมแบบนี้ก็เลยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักคุณธรรมจริยธรรม
“เราจะส่งเสริมให้เขาทำอาหารเพื่อสุขภาพทานเอง โดยใช้ผักผลไม้ที่มีในท้องถิ่น และส่งเสริมให้ดูแล

สุขภาพด้วยยาสมุนไพรไทยในชุมชน พร้อมทั้งสอนให้ทำของใช้เองภายในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เราเชื่อว่าหากเขาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว ผู้เข้าร่วมจะมีความสุขโดยที่ไม่คิดว่าต้องรวยเท่านั้นถึงจะมีความสุขได้” นางพัชรินทร์ อธิบาย

นายจิรัฏฐ์ วัชรญานิณธ์ หัวหน้ากลุ่มเม็ดดิน ฝ่ายประสานงานกิจกรรมชุมชน ผู้รับผิดชอบโครงการ ต้นกล้าปัญญา ต. ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า การสอนให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ นอกจากจะส่งผลให้เยาวชนรู้ประโยชน์ของธรรมชาติแล้ว ยังช่วยหล่อหลอมจิตใจให้อนุรักษ์ธรรมชาติได้อีกด้วย



“วิธีดำเนินเราจะ ให้ปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ทั้งส่วนที่เป็นหลักธรรมคำสอน วัฒนธรรม ประเพณี และการผลิตฝีมือหัตถกรรม เช่นการผลิตของใช้สอยในชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากจะส่งผลให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วยังทำให้รู้ว่า การพึ่งพาตัวเองจะทำให้ต้นกล้าซึ่งหมายถึงเยาวชน เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และชุมชนจะมีความเข้มแข็งได้ในที่สุด” นายจิรัฏฐ์ อธิบาย

ไม่นานนับจากนี้ ความฝัน-ความตั้งใจเหล่านี้จะถูกแปรสภาพให้เกิดผลในทางรูปธรรมได้ในที่สุด