วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เพาะเมล็ดพันธุ์ปัญญา ผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง



“ท่านพุทธทาส ดำริตั้งโรงละครหรือโรงหนังเป็น Spiritual Theatre บอกว่าชีวิตมนุษย์ต้องมีส่วนหล่อเลี้ยง ร่างกายเวลาอ่อนล้าก็ต้องการนวดคลำโอ้โลม จิตใจก็ต้องมีสิ่งประเล้าประโลมให้ผ่อนคลายและพร้อมจะสู้ใหม่ ถ้าเป็นสิ่งดีงามทำให้เข้มแข็งแกร่งกล้าไปในทางที่ถูก อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย ท่านเรียกว่า Spiritual Entertainment”

น.พ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดเวทีเสวนา "ละครบนหนทางการเปลี่ยนแปลงทางปัญญาของเยาวชน" พร้อมการเปิดตัว "โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ของ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน โดยการหนุนเสริมของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปเมื่อเร็วๆนี้ที่อุทยานการเรียนรู้(TK park) เซ็นทรัลเวิร์ลดิ

เล่าเรื่องละครสะท้อนปัญญาปี 2

ทุกขภาวะของเด็กไทยในสังคมปัจจุบัน แสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ อาทิเช่น ติดเกมส์ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เสพสื่อลามกอนาจาร และฟุ้งเฟ้อไปกับกระแสสังคมบริโภคนิยม เป็นปัญหาที่มีสาเหตุปัจจัยหหลายประการ ตั้งแต่ ขาดการเอาใจใส่ดูแลที่ถูกต้องจากครอบครัว สถาบันการศึกษาที่เน้นสาระวิชาการแต่ละเลยการพัฒนาตัวตนของเยาวชน รวมทั้งขาดพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกและเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ทำให้วัยรุ่นไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เท่าทันกระแสสังคม และอ่อนแอเชิงจริยธรรม

เป็นที่มาของ “โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง : การพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนด้วยศิลปะการละคร”

การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในการแสดงออก-แสวงหาตัวตน-พัฒนาศักยภาพของเด็กไทย สร้างนักการละครรุ่นใหม่ที่สามารถผลิตสื่อบันเทิงทางปัญญาอย่างสอดคล้องกับประเด็นปัญหาสังคมชุมชน และเป็นพื้นฐานไปสู่การมีสุขภาวะที่ยั่งยืนของเยาวชนอนาคตชาติ

พฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องมาจากโครงการละครสะท้อนปัญญาปี 2552 ซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ทั้งจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผลความรับผิดชอบและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใจกว้างเปิดรับความคิดเห็นคนอื่น รวมทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม การแสดงออก การสื่อสารที่เหมาะสม ที่สำคัญคือเด็กสามารถปรับเปลี่ยนทัศนะคติในการเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น แบ่งปันให้สังคม

พฤหัส

ละครบนหนทางการเปลี่ยนแปลงทางปัญญา

น.พ.บัญชา กล่าวถึง ความสุขทางปัญญาผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงว่า เริ่มตั้งแต่สุขตามประสาเด็กที่ได้คิดได้เล่นได้แสดงออก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่การค้นพบตัวเอง และที่ดียิ่งกว่าคือเป็นประโยชน์กับตัวเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และแบ่งปันสังคม

"ละครกินพื้นที่สื่อในสังคมเยอะมาก ถ้าสามารถผสมผสานความบันเทิงกับสติปัญญาด้วยกันได้ ก็จะมีประโยชน์มาก.. โครงการนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่ร่วมโครงการ ผู้ชม สังคม ได้เปิดใจซึมซับเนื้อหา เรียนรู้เปลี่ยนทัศนะคติ เป็นปัญญาใหม่ที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนตัวเองและสังคม..."

น.พ.บัญญชา

ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือที่รู้จักในนาม “กลุ่มละครมมะขามป้อม” บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีทั้งความรู้สึกนึกคิดทัศนะคติเชิงบวก, ทางร่างกายคือความสามารถจัดการตัวเองในการแสดงออกหน้าเวที ด้านสติปัญญาคือรู้จักแก้ปัญหาฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ หลังฉาก และทางสังคมคือปัญญาที่สื่อออกไปกับเนื้อหา และสังคมยอมรับในสิ่งที่วัยรุ่นแสดงออก

"ตอนเริ่มโครงการก็ท้อๆ เพราะน้องๆ เขามีตัวอย่างภาพยนตร์ ทีวี โฆษณา ตลก และเข้าใจว่านั่นคือละครที่ควรจะเป็น คือถ้าเป็นนางร้ายก็ต้องกรี๊ดกร๊าดโวยวาย ถ้าเป็นเพศที่สามก็ต้องริษยาอาฆาตบิดตูดเป็นเลขแปด แต่พอเราทำๆ ไปแล้วคือมันได้เรียนรู้เกิดชุดความรู้ใหม่ๆ..."

ในมุมมองของนักแสดงและผู้กำกับ ศศิธร พานิชนก จากกลุ่มละคร LIFE Theatre บอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักแสดงได้ เช่น บางคนอาจชอบอยู่หลังฉากหรือเป็นโปรดิวเซอร์ แต่สิ่งหนึ่งที่กิจกรรมโครงการนี้สร้างให้เยาวชนคือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และได้ค้นพบตัวตน

"จุดง่ายๆมันอยู่ที่มีใจรักและจริงใจที่จะทำ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง พอออกมาเป็นการแสดงก็จะส่งผลไปถึงผู้ชมที่เขาสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาได้ดูอะไรที่จริงใจให้แง่คิด เป็นการสร้างทางเลือกในการชมละคร..."

"เขาและเธอที่เปลี่ยนไป" : ผลผลิตจากโครงการ

“เวทีแรกของหนูคือเสื่อ 2 ผืน กางที่ถนนคนเดิน แรกๆ เขาก็ไม่มาดูกันหรอก วันต่อๆ มาก็เริ่มมีคนถามว่าทำไมไม่ทำเวทีเลยล่ะ เริ่มมีแฟนคลับ มีรายได้จากการเปิดหมวก... จากแรกๆ อาจารย์ไม่รู้ว่าเราทำอะไรกัน ต่อมาก็ถามว่าสนใจจะเปิดชมรมละครในมหาวิทยาลัยไหม”

กาญจนา พรมกสิกร นักศึกษาจากเทคโนโลยีเชียงราย เป็นผลผลิตหนึ่งของโครงการเพื่อสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เธอบอกว่า "ดากานดาผู้ไม่เคยพอ" ที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ต้องการสะท้อนค่านิยมผิดๆ ในการบริโภควัตถุนิยมของเด็กไทย

"ในมหาวิทยาลัยมีมือถือ โน๊ตบุ๊คส์ กระเป๋าแบรนด์เนมแพงๆ ใหม่ๆ มาอวดกันตลอด พวกหนูก็มาคิดว่าทำไมวัยรุ่นสมัยนี้อยากได้อยากมีทั้งๆ ที่ตัวเองยังหาเงินไม่ได้ บางคนโกหกพ่อแม่เพื่อได้ของโชว์เพื่อน พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาไม่รู้ว่าที่ลูกอยากได้มันจำเป็นรึเปล่า จะยากจนก็ต้องหามาให้ลูก พวกหนูอยากให้วัยรุ่นที่ดูละครของเรามีความคิดเปลี่ยนไป ไม่ยึดติดวัตถุ..."

เป็นเรื่องราวเล็กๆ ของวัยรุ่นที่สะท้อนภาพใหญ่ในสังคม การยึดติดวัตถุมักนำไปสู่ความอยากได้ไม่รู้พอ และหาทางเพื่อให้ได้มา ซึ่งอาจเป็นหนทางที่ไม่ถูกต้อง จากเรื่องเล็กๆ ไปสู่ความผิดที่ร้ายแรง

นอกจากส่งผ่านปัญญาไปสู่สังคมหน้าฉากเวที กาญจนา บอกว่า ในตัวตนของเธอเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการที่หล่อหลอมในค่ายละครสะท้อนปัญญา

"แรกๆ คิดว่าเหมือนละครทีวี อยากเป็นดารา แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด… ได้เรียนรู้ว่าแสดงบนถนนคนเดิน มีคนมามุงดู ก็เป็นดาราได้ ไม่ได้กรี๊ดกร๊าดแย่งผู้ชายเหมือนในทีวี แต่เป็นการแสดงออกที่มีประโยชน์ สื่อสารให้พ่อแม่ให้สังคมเข้าใจวัยรุ่น และทำให้ตัวเองให้วัยรุ่นเข้าใจคนอื่น เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น"

3 ปีของ โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งสร้างนักการละครรุ่นเยาว์เพิ่มอีก 40 กลุ่ม ขับเคลื่อนเชิงสังคมผ่านเทศกาลละครสะท้อนปัญญาและเวทีสื่อสร้างสุขภาวะ ขับเคลื่อนนโยบายสร้างพื้นที่สาธารณะทางปัญญาของเยาวชน และขยับไปสู่หลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย



ถ้าเด็กรุ่นใหม่มีพื้นที่แสดงออกซึ่งสามารถเรียน-รู้-เล่น ผสมผสานจินตนาการ ความคิด ความบันเทิงเข้าด้วยกัน เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่นำไปสู่การค้นพบตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง แบ่งปันสังคม อนาคตสดใสก็ไม่ไกลเกินเอื้อม นี่คือความสุขผ่านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้เริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ปัญญา

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คุยกับ “ไดเร็คเตอร์จูเนียร์”

"เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์" เด็กผู้ชายวัย 16 ปี ที่ทำหนังได้ เขียนหนังสือเป็น และความคิดไม่ธรรมดามาตั้งแต่ 11 ขวบ วันนี้เขาอยู่ชั้นมัธยม 4 สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เป็นผู้กำกับหนังสั้นกว่า 60 เรื่อง

เด็กผู้ชายวัย 16 ปี บัดนี้เป็นคอลัมนิสต์นิตยสารวิจารณ์ภาพยนตร์ ล่าสุดเป็นเจ้าของ “โครงการพลังภาพยนตร์ชวนคนค้นดี” ชักชวนเพื่อนร่วมวัยมาสร้างสรรค์ความดีผ่านการทำหนังสั้น มารู้จักความกล้าคิด-กล้าสานฝัน ในวันที่เป็นจริงในสไตล์เท่ๆของเขากัน, “ฟิล์ม” -เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์…



กว่าจะเป็นไดเร็คเตอร์จูเนียร์

พื้นความชอบเรื่องหนัง เป็นมาอย่างไร?...

.ที่บ้านชอบดูหนังมาก คุณพ่อ(ประจวบ) เป็นนักเขียนวิจารณ์หนัง คุณน้า(ธิดา)เป็น บก.นิตยสารหนัง เลยได้ดูหนังมาตั้งแต่เด็ก หนังแปลกๆ เช่น ของอากิระ คุโรซาว่า และทั้งหนังกระแสหลัก หนังอาร์ต..

หนังและผู้กำกับในดวงใจ มีเรื่องอะไร และใครบ้าง?..

..ทุกเรื่องที่ดูแล้วชอบมันมีอิทธิพล แต่ถ้าให้พูดตอนนี้ชอบทุกเรื่องของ ทาเคชิ คิตาโน่ เขาทำหนังในประเทศแล้วเจ๊งแต่ได้รางวัลนอกประเทศ เป็นหนังสะท้อนความรุนแรงในญี่ปุ่น ชอบที่สุดเรื่อง Hanabu

.ชอบทุกเรื่องของหว่อง กาไว ไบโอสโคปให้นิยามว่า “เดียวดายอย่างโรแมนติก” และเขาทำงานร่วมกับผู้กำกับภาพ เรื่องที่ชอบมากที่สุดคือ In The Mood for Love

..Casablancaเป็นหนังบทดีที่สุดในโลก ชอบทั้งบท อารมณ์หนัง เพลง นักแสดง คือจะเป็นพระเอกในยุคแอนตี้ฮีโร่(ไม่ต้องหล่อ) ซึ่งมันใกล้กับชีวิตจริงของคน

.. ชอบสไตล์หนังเนิบๆของพี่เจ้ย(อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) อย่างถ้าพูดว่าทุกคนมีความเป็นสัตว์ประหลาดอยู่ในตัวมันก็ธรรมดา แต่เขามีภาษาภาพและการเล่าเรื่องที่ทำให้เราฝังในใจได้

..แฟนฉัน ชอบความใสและจบธรรมดาแต่สวย เป็นเรื่องแรกที่ผู้กำกับไทย 6 คนทำงานร่วมกัน

หนังให้อะไรกับตัวเอง และให้อะไรกับคนดูบ้าง?...

..ผมคิดว่าหนังสอนให้คนเข้าใจโลกความจริงมากขึ้น และไม่เห็นด้วยกับคนที่พูดว่าอ่านหนังสือดีกว่าเพราะมีจินตนาการ แต่หนังตกผลึกให้แล้ว มีหนังหลายประเภทให้เราตกผลึกเอง แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับคนดูหนังนอกกระแสแล้วมาต่อต้านหนังกระแสหลัก การที่เรารับศิลปะมากขึ้นมันทำให้เราใจกว้างขึ้น

..ผมชอบหนังที่ดูแล้วเกิดจินตนาการ อย่างเรื่องท้ายๆของคุโรซาว่า Dream ฉากเด็กไปดูระบำหมาป่า แล้วแม่ไม่ให้เข้าบ้าน เขาใช้ภาษาภาพเล่นกับความรู้สึกคนดู คือประตูสีเทาและบานที่เด็กยืนอยู่เล็กกว่าบานของแม่ หรือ อวตาร ของเจมส์ คาเมร่อน ทำให้เราอยากติดตามชีวิตของไอ้ตัวสีฟ้าๆ น่าเกลียดๆนั่นได้

กิจกรรมเกี่ยวกับหนังเรียกว่าเป็นงานอดิเรกได้ไหม เริ่มจากตรงไหน อย่างไร?..

..ก็น่าจะได้ ผมดูหนังและอ่านหนังสือเยอะ แต่แรกๆไม่คิดว่าตัวเองจะทำหนัง 6 ปีที่แล้ว มันยากมากที่เด็กคนหนึ่งจะมาจับกล้อง..คุณหมออดิศักดิ์(คุณอา) ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาฯ อยากจะเอาหนังสั้นมาเป็นสื่อ ผมเลยบังเอิญได้ไปอบรมทำหนังกับ Thai Shot Film แล้วรู้สึกว่าตัวเองชอบ

..ได้ลองทำเรื่องแรกคือ “แค่” จากนั้นก็เรียนรู้ประวัติศาสตร์หนังบ้าง ไปเทศกาลหนังบ้าง ใครถามอะไรเกี่ยวกับหนังตอบได้หมด รู้สึกว่าตัวเองแปลกๆ แล้วก็รู้สึกว่าเออหนังมันใช่ ก็เริ่มสะสมมาเรื่อยๆ

.งานเขียนเริ่มจากนิตยสาร Cream(ปิดไปแล้ว)ชวนเด็กรุ่นใหม่มาเขียน ทำคอลัมน์ชวนวัยรุ่นเข้าโรง วิจารณ์เรื่องแรก SinCity เขาบอกว่าหนังรุนแรงเลยเปลี่ยนเป็นพิงค์แพนเตอร์.. ต่อมาฟิ้ว(ในเครือไบโอสโคป)ก็ชวนไปทำงาน เขียนคอลัมน์จับตา สัมภาษณ์เด็กๆที่ทำหนัง ซึ่งทำให้เรามีสังคมเด็กทำหนัง

ครอบครัวมีส่วนต่อความคิดและมุมมองในวันนี้แค่ไหน?..

.มีส่วนมากครับ ผมคุยกับคุณพ่อทุกเรื่องแม้แต่เรื่องแฟน อาจไม่เข้าใจทุกเรื่องเพราะมีช่องว่างระหว่างวัย แต่มันปลอดภัย ครอบครัวค่อนข้างให้อิสระ เช่น ไปไหนมาไหนก็ได้ กลับดึกได้ถ้าจำเป็น และคุณพ่อคุณแม่ก็มีอิทธิพลต่อความคิดคือให้มองโลกหลายๆด้าน อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าตรงนี้ถูกโน้นผิด




ความคิดเท่ๆผ่านหนังสั้น

ก้าวแรกบนเส้นทางหนังสั้นของฟิล์ม คือ “แค่” สะท้อนพฤติกรรมการเล่นที่ไม่ถูกต้องในวันสงกรานต์ เรื่องนี้เขาทำหน้าที่เป็น Art Director จัดองค์ประกอบศิลป์ ตามมาด้วย “ที่แท้” หนังกำกับเองเรื่องแรก ได้รางวัล “จูเนียร์ยอดแย่” ที่เขาภาคภูมิใจ และ6 เดือนต่อมาก็เป็นทั้งนักแสดงและฝ่ายศิลป์ในเรื่อง “สิ่งสุดท้าย” สะท้อนความรุนแรงในครอบครัว

“..ปิดเทอมเปิดอินเตอร์เน็ตเจอประกวดหนังยอดแย่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คอนเซ็ปต์คือหนังบ้านๆไม่ต้องมีเทคนิคมากมาย แค่อยากทำก็ถือกล้องทำได้ ผมก็เลยได้กำกับเรื่องแรก ไม่กล้าเรียกมันว่าหนัง คิดอะไรออกก็ใส่ไปรวมๆกัน เรื่องคนที่ทำกระเป๋าตังค์หาย กระต่ายกับเต่า คุณพ่อสอนกินถั่วปากอ้า”

เรื่องที่สอง “ก้อเหมือนเดิม” ทำหน้าที่ทั้งกำกับ เขียนบท ถ่ายภาพ ตัดต่อ มีดาราเป็นคุณพ่อ-น้องชาย-น้องสาว ผู้กำกับฟิล์มต้องการนำเสนอถึงความห่างเหินในครอบครัวซึ่งเป็นความน่ากลัวของสังคมสมัยใหม่ และได้ติด 1 ใน 9 จาก 300 เรื่องในโครงการประกวดของมูลนิธิหนังไทยปี 2549 แต่ต่อมาได้รางวัล Special Jury Prize จากโครงการ Movie Mania จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เรื่องนี้เป็นหนังแจ้งเกิด คือได้ไปออกหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทีวีไทย ทีวีออสเตรเลีย เป็นหนังเนิบๆ เกี่ยวกับน้องชายที่อยากไปทะเล แต่คุณแม่ไม่มีเวลา ในหนังจะไม่เห็นแม่เลย แต่รู้ว่าแม่มีตัวตน..”

“เบื้องหลังคนดี 13 ปีที่ผ่านมา” ด้วยคำถามสั้นๆว่า “ตั้งแต่เกิดมาเคยตื่นก่อนพ่อมั้ย?” ทำให้ฟิล์มยกกล้องขึ้นมาถ่ายกิจวัตรประจำวันคุณพ่อประจวบ หนังสั้นที่ถ่ายทำ ตัดต่อ และสื่อง่ายๆถ่ายทอดเรื่องราวคนดีใกล้ตัวของเด็กวัย 13 ไม่มีฉากเศร้าแต่เรียกน้ำตาและคว้าเงินแสนจาก wellcom mobile

“มีโครงการแผนที่ความดีที่ สสส.ทำร่วมกับนิตยสารไบโอสโคป ตอนนั้นเราเด็กๆอยากได้รางวัล แต่ถูกตัดสิทธิ์ตั้งแต่นามสกุลเดียวกับเจ้าของนิตยสาร(คุณน้าธิดา) แต่ก็ยังทำ มันเป็นฉากธรรมดามาก คุณพ่อตื่นมาเข้าห้องน้ำ เอาถาดรองจานเทน้ำทิ้ง ทำแซนด์วิชเละๆ ผมใช้เพลงประกอบ Bridge Over Trouble Water (สะพานข้ามแม่น้ำที่ยากลำบาก) สุดท้ายก็จบที่ภาพคุณพ่อพาเด็กๆไปส่งโรงเรียน ผมแพนกล้องขึ้นไปเป็นท้องฟ้า เปิดเพลง Top of the World แล้วก็มีนกบินมาสองตัวพอดี.. เป็นหนังทำเองที่ผมภูมิใจที่สุด”

“เพียงสัญญา” อุปสรรคย่อมเกิดขึ้นเสมอสำหรับทุกคนที่มีความรัก แต่จะเลือกหนทางใดก็ขอให้แน่วแน่ที่จะรัก เป็นผลงานรักแฟนตาซี ฉายรอบปฐมทัศน์ที่ทีเคพาร์ค เซ็นทรัลเวิลด์ ไปเมื่อ 23 มิ.ย. 2552

และ“ดอกไม้และผีเสื้อ” ผลงานล่าสุดที่ร่วมฉายในโครงการพลังภาพยนตร์ชวนคนค้นดี สะท้อนสิทธิสตรีมีคอนเซ็ปต์ว่า “การทำผู้หญิงปวดใจ คือยิ่งกว่าการทำทารุณ” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการตีความพระอภัยมณี ในห้องเรียนวิชาวรรณคดีไทย คุณพ่อช่วยเกลาบทให้เป็นหนังเชิงรณรงค์มากขึ้น

"พระอภัยมณีมีนางผีเสื้อสมุทรอยู่แล้ว แต่ก็หนีไปอยู่กับนางเงือก ซึ่งถ้าตัดความเป็นยักษ์ไป ผีเสื้อสมุทรก็เป็นแม่เป็นภรรยาที่ดี แต่หนังเรื่องนี้ดูยังไงก็ไม่เกี่ยวกับพระอภัยมณีเลย มันเป็นโครงเรื่องว่าถ้าคุณมีแฟนอยู่แล้ว มีพันธนาการบางอย่างกับเขา ก็ไม่ควรไปมีคนใหม่ นำเสนอเป็นแนวรักของวัยรุ่น 3-4 คน..”



“กล้าคิด-กล้าสานฝัน” คือคำตอบของความสำเร็จ

นอกจากยังคงเป็นผู้กำกับหนังสั้นอย่างไม่หยุดหย่อน หาประสบการณ์ในงานที่ตนรักอย่างไม่รู้จักเบื่อ ปัจจุบันเปรมปพัทธ เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารหนังฟิ้ว และเว็บไซต์ www.25-frame.com , ทำรายการทีวีออนแอร์ทาง Youtube, มีชมรม “มาทำหนังกันเถอะ”ในโรงเรียน และล่าสุดทำโครงการ “พลังภาพยนตร์ชวนคนค้นดี” ของเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ชักชวนเพื่อนๆสรรหาเรื่องราวคนดีใกล้ตัวมาถ่ายทอดผ่านหนังสั้น…

“สื่อนั้นเป็นที่นิยมมาก และหากพูดถึงสื่อในโลกวันนี้ หนังสั้นเป็นน้องใหม่มาแรงที่เข้าถึงคนทั่วไป

ทางอินเตอร์เน็ต ทีวี ไอพอด มือถือ และหลากหลายวัฒนธรรม.. จึงเขียนโครงการเข้าไปได้ทุนมาจัดอบรมหนังสั้นฟรี พร้อมแจกทุนผลิตสื่อหนังสั้น ด้วยแก่นสารที่ว่า “ความดีเล็กๆนั้น เมื่อหลอมรวมกับสื่อหนังสั้นอันทรงอิทธิพล ก็ย่อมได้ประโยชน์ที่มีค่ามหาศาลตามมา”

เขายังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไดเร็คเตอร์จูเนียร์…

“6 ปีที่แล้วมีเรายืนอยู่คนเดียว มันเหงา แต่ทุกวันนี้มีเด็กทำหนังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผมดีใจที่เกิดสังคมคนทำหนังเด็ก..อย่างกลุ่มไดเร็คเตอร์จูเนียร์ที่ตั้งโดยเจมส์(ปรัชญา เพชรวิสิทธิ์) ตอนนี้เราก็คุยกันว่าจะทำให้เป็นชมรมเด็กสร้างหนัง เพราะคนทำหนังไม่ใช่แค่ผู้กำกับ ยังมีนักแสดง คนเขียนดอลลี่ ช่างไฟ ฯลฯ..”

ไม่แปลกที่เด็กผู้ชาย “ชื่อฟิล์ม” หรือ “เปรมปพัทธ จูเนียร์” ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวคนรักหนังและหนังสือ จะได้สายพันธุ์ความชอบไปในทิศทางเดียวกัน แต่หากเขาไม่ “กล้าคิด-กล้าสานฝัน” และก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ใจรัก ก็คงไม่ใช่ผู้กำกับหนังสั้นที่อายุน้อยที่สุดในวัย 12 และจนวันนี้ในวัย 16 กำกับหนังสั้นมาแล้ว 60 กว่าเรื่อง ความคิดเท่ๆที่ “เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์” ถ่ายทอดคือคำตอบ!...

“ผมคิดว่าคนเราควรจะลองอะไรหลายๆอย่าง อยากทำอะไรก็กล้าๆทำ ถ้าไม่ไปกระทบกระเทือนจิตใจใคร แต่ก่อนลองควรศึกษามันให้รอบคอบก่อน ถ้าลองแล้วไม่ใช่ตัวเราก็ปล่อยไป ไปหาสิ่งที่เป็นตัวเราดีกว่า..สำหรับผม หนังให้ความสุข คือถ้าไม่มีความสุขก็คงไม่ทำ” .