วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หลากโครงงานวิทย์ สร้างสุขในโรงเรียน

“โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” เป็นโครงการที่มุ้งเน้นเสริมสร้างสุขภาพอนามัยแก่เด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งดำเนินการมาตลอดปี 2552 โดยศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา บรรดานักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในบางส่วนมีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงานที่คิดค้นขึ้น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยลงกรณ์ จ.ปทุมธานี ผลงานจากการร่วมคิดร่วมทำกันของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์หลายรายการ มีความน่าสนใจมากมาย



นายปฏิคม ใจแสน และ นางสาวพรประภา ตู้สุพรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนปางศิลาทองศึกษา จ.กำแพงเพชร ผู้คิดค้นโครงงานการสำรวจปริมาณขยะในโรงเรียนปางศิลาทองศึกษา เพื่อหาทางนำขยะเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ช่วยกันเล่าว่า เหตุเกิดเพียงเพราะโครงงานถ่านใบไม้ จากใบยูคา ของรุ่นพี่ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากหลายเวที ทำให้ทั้งสองเกิดความคิดว่า หากสามารถนำขยะภายในโรงเรียนไปทำให้เกิดประโยชน์ได้คงดีไม่น้อย ทั้งสองจึงทำการสำรวจปริมาณขยะที่เกิดขึ้น และมีแนวคิด นำใบไม้ชนิดอื่น ไปทำเป็นถ่านเช่นกัน



“เราจะต่อยอดการทดลอง โดยใช้ใบไม้ที่มีอยู่ภายในโรงเรียน เช่นใบขนุน หรือต้นไม้ชนิดอื่น ๆ มาทดลองทำเป็นถ่าน เพราะนอกจากจะลดปริมาณขยะแล้ว จะทำให้เรามีถ่านไว้ใช้ในโรงเรียนหรือ นำไปจำหน่ายในชุมชนเพื่อหารายได้ ก็ได้” นายปฏิคมกล่าว

ด้านโรงเรียนขาณุวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร ให้ความสำคัญกับห้องสุขาเป็นพิเศษ ส่งผลให้เกิดโครงงานน้ำหอมดับกลิ่นจากสมุนไพร ซึ่งมีนายมรรคณา คาระวะ นักเรียนชั้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ นางสาววงศ์ศิริ ทรงสถาพรเจริญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ร่วมกันคิดค้นขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อม ทั้งตัวอาคารและวัสดุที่ใช้ก่อสร้างห้องน้ำ มีความสวยงามน่าใช้ แต่กลิ่นเหม็นในห้องน้ำ ทำให้นักเรียนไม่อยากเข้า บางคนกลั้นไว้ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ อีกทั้งราคาน้ำหอมที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปมีราคาแพง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยการใช้สมุนไพร 2 ชนิดมาทดสองคือ ใบเตย และมะกรูด



“เราเอาผิวมะกรูดและใบเตยไปหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปต้ม หลังจากได้ที่แล้วก็ใส่ดินวิทยาศาสตร์ ในน้ำสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด เรานำไปทดลองในห้องน้ำหญิงภายในโรงเรียน ผลปรากฏว่า น้ำใบเตย มีกลิ่นได้นาน 4 วัน แต่มะกรูด สามารถใช้ได้นานถึง 7 วัน แต่น้ำหอมดับกลิ่นจากใบเตย ได้รับการยอมรับมากกว่า” นางสาววงศ์ศิริ อธิบาย

ขณะที่ เด็กหญิง อร ณรัตน์ อยู่ยืน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยลงกรณ์ฯ เจ้าของโครงงานเครื่องปั่นผ้าต้านไข้หวัด 2009 จากแนวคิดที่ว่า ผ้าถูพื้นเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกาย หากใช้มือสัมผัส แล้วจะทำอย่างไร ให้ผ้าถูพื้น แห้งหรือหมาด โดยไม่ต้องบิด



“เรื่องนี้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ เนื่องจากที่บ้านมีถังซักผ้าแบบถังคู่ ที่ด้านซักเสีย ใช้ได้แต่ด้านปั่นหมาด จึงคิดหาวิธี เอาของเหลือใช้มาประดิษฐ์ ให้เกิดประโยชน์ สูงสุด เมื่อมี เครื่องปั่นผ้าต้านไข้หวัด 2009 แล้วเวลาทำความสะอาดห้องเรียนก็ไม่ต้องกลัวว่าเชื้อโรคต่างๆ จะเข้าสู่ร่างกาย” เด็กหญิง อร ณรัตน์ กล่าว

นางสุดา จ๋าก๋าง ครูที่ปรึกษา โครงงานเรื่อง ลดความกระด้างของน้ำด้วยเครื่องกรองน้ำแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ของนางสาวศุภลักษณ์ สาธร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ นางสาว บัวผัน ขุดลู นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนให้ฟังว่า เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ ทำให้ต้องใส่ใจสุขภาพของเด็กเป็นพิเศษ

“โรงเรียนต้องให้ความดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งด้านความเป็นอยู่ อาหารการกิน ต้องทำให้เด็กมีความสุข พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยเหตุนี้จึงมองว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของนักเรียน ซึ่งพบว่าน้ำใช้ในโรงเรียนมีหินปูนละลายอยู่มากจึงมีความกระด้างสูง หากดื่มเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียน และอาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้” นางสุดา อธิบาย

นางสาวศุภลักษณ์ สาธร เจ้าของโครงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ใช้หลักการง่ายๆ ของเครื่องกรองน้ำแบบชาวบ้าน คือใช้ หิน ทราย ถ่าน จัดใส่อุปกรณ์เป็นชั้นๆ 7 ชั้น เหมือนในห้องเรียน เพื่อทดสอบว่าสามารถลดความกระด้างของน้ำได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง

ด้าน โรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร ต.กุดน้ำใส อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ให้ความสำคัญกับอาหารทะเล เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางภาคอีสาน ซึ่งถือว่าอยู่ห่างจากทะเล แต่ตามตลาดนัด ก็สามารถหาซื้อ อาหารทะเลรับประทานได้ อยู่มาวันหนึ่ง เด็กหญิงวิไลวรรณ ทองคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รับประทานอาหารทะเลจนเกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย จึงทำให้เกิดการสงสัยและทดลองหาฟอร์มาลีนในอาหารทะเล จึงเกิดโครงงานดังกล่าวขึ้น โดยมี เด็กหญิง ชลิตา สุวรรณกลาง และเด็กหญิงมัลลิกา มีวิชา ร่วมทดสอบด้วย

“โครงการที่เกิดขึ้น เรื่อง การตรวจหาสารฟอร์มาลีนในอาหารทะเล เราใช้วัสดุจากธรรมชาติ คือใบมะยม โดยการนำมะยมมาบดแล้วคั้นเอาน้ำมาเป็นสารทดลอง หลังจากนั้นนำอาหารที่สงสัยไปแช่น้ำเปล่า บริมาณ 3 ml ทิ้งไว้ซักพัก นำน้ำที่ได้เทใส่ หลอดทดลองที่มีน้ำใบมะยม เขย่าให้เข้ากันสังเกตว่า ถ้าน้ำมะยมตกตะกอนแสดงว่าอาหารนั้นมีสารฟอร์มาลีนผสมอยู่”เด็กหญิงวิไลวรรณ อธิบาย

นอกจากนี้ เด็กๆ โรงเรียนจตุรัสวิทยาคารยังนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้าน สามารถนำวิธีทดลองดังกล่าว ไปใช้ทดสอบอาหารทะเลที่ซื้อมาบริโภค อีกด้วย



หลากหลายโครงงานวิทยาศาตร์ที่ส่งผลให้เด็กเยาวชนหันมาสนใจใส่ใจสุขภาพรอบตัวเหล่านี้ เกิดจากการสนับสนุนทุนดำเนินงานโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง